PM2.5 ณ เชียงใหม่ มาจากไหน? เบื้องหลังฝุ่นควันจาก ‘เติ้ง ลี่จวิน’ ถึง ‘สิ้นแสงฉาน’

1 มีนาคม 2566 - 07:52

PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution -SPACEBAR-Thumbnail
  • ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในเชียงใหม่เกี่ยวโยงกับเรื่องดิน น้ำ อากาศ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

  • ถ้าจะแก้ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่เกษตร ต้องรู้ว่าฝุ่นไม่ได้มีแค่การเผา

  • ชาวบ้านอาจชี้นิ้วต้นตอไปที่เกษตรกรว่าเป็นผู้ก่อมลพิษ แต่ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็น ‘ผู้อยู่เบื้องหลัง’ ผลประโยชน์จากการสูญเสียพื้นที่ป่าและมลพิษที่เกิดขึ้น

ระหว่างโดยสารเที่ยวบินกลางคืน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่นั่งริมหน้าต่างมอบโอกาสให้ผมมองเห็นไฟเมืองเรียงตัวเป็นแถวตามแนวถนน ไฟจากอาคารบ้านเรือนแตกแขนงเป็นเครือข่ายไปตามผังเมืองเหมือนรากต้นไม้เรืองแสงในความมืด เที่ยวบินกลางคืนเดือนกุมภาพันธ์ยังเผยให้เห็นไฟป่าด้วยเช่นกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5K3MqjDzfQmsCS5x00xWfN/c772f86182d25c18e91686fb580cd976/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo20_copy_2
Photo: ฝุ่น PM2.5 ปกคลุมทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ยามค่ำคืน
กัปตันรายงานสภาพภูมิอากาศของเมืองเชียงใหม่และให้ความมั่นใจลูกเรือว่า “อีก 30 นาทีเราจะเดินทางถึงสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ครับ” ผมมองเห็นเส้นสายของไฟที่กำลังลามไหม้ป่าบนภูเขา ไฟป่ากลางคืนดูคล้ายภาพถ่ายที่เผยให้เห็นเส้นแสงสีส้มขีดลากไปบนฉากหลังสีดำซึ่งตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ชัตเตอร์ B 

ยิ่งเข้าใกล้เมืองเชียงใหม่ เราจะเห็นพื้นที่ไฟป่าสลับกับไฟเมืองเป็นระยะ ระหว่างก้มมองพื้นเบื้องล่าง ดวงจันทร์กลมโตปรากฎตัวในเงาสะท้อนของผิวน้ำและพื้นถนน ไฟป่าและดวงจันทร์ในเดือนกุมภาพันธ์ทำให้ผมนึกถึงเพลง The Moon Represents My Heart ของเติ้ง ลี่จวิน นึกย้อนไปถึงช่วงเวลาแสนสั้นที่เธอมาพำนักในเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2538 ก่อนที่จะเสียชีวิตในห้องพักหมายเลข 1502 โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/66juyrgASUlKpiWBjnUENW/8e14c47543661bb32d9805c7359662b6/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo01
Photo: เติ้ง ลี่จวิน เสียชีวิตที่ห้องหมายเลข 1502 โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง

เงาของ PM2.5 ในวันที่เติ้ง ลี่จวินมาเชียงใหม่

เติ้ง ลี่จวิน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2538 แพทย์ประจำโรงพยาบาลเชียงใหม่รามวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิตว่ามีที่มาจากโรคหอบหืดกำเริบ ก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือน เธอเดินทางมาพำนักที่เชียงใหม่เพื่อรักษาอาการหอบหืดเมื่อวันที่ 2 เมษายน เธอเลือกเดือนเมษายนของเมืองเชียงใหม่เป็นช่วงเวลาพักผ่อนและพำนักรักษาโรคประจำตัว! 

เราไม่มีข้อมูลคุณภาพอากาศในเดือนเมษายน-พฤษภาคม เมื่อ 28 ปีก่อน ในตอนนั้นเรายังไม่รู้จัก PM10 หรือ PM2.5 ด้วยซ้ำไป แต่การไม่รู้ ก็ใช่ว่าไม่มีอยู่จริง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1Y5uFZkR3Xa6U6u4izdxPS/278bfb4a5c9dfcde084b836d7bee84fc/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo02
Photo: PM2.5 ปกคลุมท่าอากาศยานเชียงใหม่
“ฝุ่นควันน่าจะมีมาตั้งแต่ตอนที่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้ไฟครับ” ชนกนันทน์ นันตะวัน นักวิจัยอิสระแห่งกลุ่มสมดุลเชียงใหม่ พูดถึงความจริงพื้นฐานนี้ให้ผมฟังระหว่างที่เรานั่งอยู่ในสวนรุกขชาติห้วยแก้ว ใบไม้ปลิดร่วงกราวลงพื้นตลอดเวลาตามการนัดหมายของฤดูแล้ง 

“แต่ผมเชื่อว่าเมื่อ 28 ปีที่แล้วที่คุณเติ้ง ลี่จวินมาเชียงใหม่ ผืนป่าน่าจะสมบูรณ์กว่านี้ พื้นที่ปลูกข้าวโพดก็ยังไม่มากขนาดนี้ การจราจรยังไม่หนาแน่นเหมือนวันนี้ เราต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงครับ” ชนกนันทน์ จินตนาการถึงเชียงใหม่เมื่อ 28 ปีก่อนร่วมไปกับผมหลังจากได้ฟังเรื่องราวการมาเยือนเมืองเชียงใหม่ในเดือนเมษายนของราชินีเพลงรักหวานโศกชาวไต้หวันผู้ล่วงลับ แต่สว่างค้างอยู่บนฟ้ากลายเป็นดวงดาว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5XWznYmcRVUGRRsgifnI9q/766a7bac85205f7f13c61a3ff418d91a/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo03
Photo: ชนกนันทน์ นันตะวัน
ชนกนันทน์ ไม่ได้เกิดที่เมืองแห่งนี้ แต่มาเรียนหนังสือที่เชียงใหม่ในปี 2553 สามปีหลังฝุ่นควันถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติในปี 2550 แต่ในตอนนั้นเรายังไม่มีเทคโนโลยีรายงานคุณภาพอากาศ เรายังไม่มี Dustboy หรือ Low Cost Sensor ที่รายงานคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์เหมือนทุกวันนี้ ดังนั้นอาการแสบจมูกและแสบตาจึงเป็นเหมือนแอปลิเคชันรายงานคุณภาพอากาศในวันที่อากาศแย่ 

“ถ้าวันไหนมองขึ้นไปบนดอยสุเทพแล้วเห็นเส้นไฟที่กำลังไหม้ดอย สิ่งที่เราทำคือก่นด่าคนบนดอยครับ มันเป็นมุมมองของเด็กที่ยังไม่เข้าใจปัญหาที่สลับซับซ้อนอย่างไฟป่าและฝุ่นควัน เราเลยโยนบาปไปให้ผู้อื่น” แต่หลังจากได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลปัญหาฝุ่นควันในปี 2562 ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดภาคเหนือที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา สีเหลืองทองเรืองรองของข้าวโพดทำให้เขาตาสว่าง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3bZnVAxI8cCeZb4lwW0DZQ/4bc01b40c10cb2c6204302c8c45626e0/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo04
Photo: กลุ่มควันลอยคลุ้ง ขณะที่ชาวบ้านเผาไร่
“เราเห็นมิติของปัญหาที่มีหลายสาเหตุ เราเริ่มเข้าใจกลุ่มคนที่ตกเป็นจำเลยของสังคมว่ามีทั้งข้อเท็จและข้อจริง” ชนกนันทน์ ระบุอย่างคนมองปัญหาบนข้อเท็จจริง 

ระหว่างปี 2545-2565 ภาคเหนือตอนบนของไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยายตัวแบบก้าวกระโดดในปี 2550 เมื่อเทียบกับปี 2545 

“ทำไมเขาจึงเลือกวิธีการเผา เพราะการเผาใช้ต้นทุนแค่ไม้ขีดก้านเดียวครับ” ชนกนันทน์ ย้อนกลับไปถึงคำถามแรกที่เขาใช้มัดกับปลายหอก พุ่งตรงไปที่ใจกลางปัญหาที่เคยเข้าใจว่าคือเกษตรกร  

“ตอนนั้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มได้รับความนิยมมาก กลุ่มบริษัทเอกชนที่รับซื้อผลผลิตเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยยา รัฐบาลก็ให้การสนับสนุน มันทำให้การขยายพื้นที่พืชเชิงเดี่ยวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ผืนป่าถูกแทนที่ด้วยพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4iOqYXC7KKmz5RbRA9KMnI/4fb2a1bcfe5c53f29ed498af1602d930/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo05
Photo: พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม
“พอป่าถูกทำลาย หน้าดินเปิดออก ฝนตกลงมาก็ทำให้ตะกอนดินบนภูเขาไหลลงมาตามน้ำ ทำให้แหล่งน้ำบนพื้นที่ราบตื้นเขินไปด้วยตะกอนทราย แหล่งต้นน้ำหายไป ยังไม่นับว่าในกระบวนการผลิตเกษตรกรก็รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายด้วย” ชนกนันทน์ เล่าถึงวังวนของเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว 

ปัญหาฝุ่นควันเกี่ยวโยงกับเรื่องดิน น้ำ อากาศ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง “เชื่อมโยงกันเป็นวงจรที่ฉายภาพให้เราเห็นปัญหาทั้งหมดครับ ถ้าเราจะแก้ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่เกษตรได้ มันมีเรื่องอื่นที่เราจะต้องแก้ด้วย ไม่ได้มีแค่ฝุ่นกับการเผาครับ” ชนกนันท์ บอก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/SzuoOOSFZMDIIgb3WRQDk/689b9820023962e7da522c6b28bb5122/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo06
Photo: มองจากช่องหน้าต่างเครื่องบิน ฝุ่นปกคลุมเมืองเชียงใหม่

ไฟจำเป็นและไฟไม่จำเป็น

อย่างน้อยก็ 2 ทศวรรษมาแล้วที่เมืองเชียงใหม่อยู่ในสถานการณ์ด้านมลพิษที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ หากนับจากการที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยกให้ปัญหามลพิษเป็นวาระแห่งชาติในปี 2550 เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละอองจากหมอกควันและไฟป่ารุนแรงอย่างหนักในปีนั้น ค่าฝุ่น PM 10 สูงเกินมาตรฐานเป็นเวลาหลายวัน ข้อมูลในปีนั้นระบุว่า เฉพาะค่าเฉลี่ย 24 ชม. ที่เชียงใหม่ มีค่าสูงสุด 383 มคก./ลบ.ม. 

หลังจากนั้นรัฐบาลจัดตั้งหน่วยบัญชาการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือแบบ Single Command ในช่วงเวลาที่เข้าสู่วิกฤติฝุ่นควัน นั่นคือช่วงฤดูหนาวหรือ ‘ฤดูแล้ง’ ในภาษาของชาวบ้านในภาคเหนือ แต่ที่กลายเป็นตลกร้ายก็คือ “ตั้งแต่นั้นมาปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ น่าแปลกไหมครับ” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ สรุปบทเรียนการทำงานแบบ Single Command ในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7le08n4HxMfPrtpFVHpZFL/82d4ec38c56c4e99035de4682b481df4/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo07
Photo: ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
“ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา รัฐมองปัญหาไฟป่าฝุ่นควันว่าเป็นการที่ชาวบ้านเผาป่า ชาวบ้านเผาพื้นที่เกษตร ฉะนั้นพอตั้งคณะกรรมการมาดับไฟก็คิดว่าปัญหาจะจบ แต่ปัญหาฝุ่นควันไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิคครับ มันจึงไม่ใช่แค่การดับไฟ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน มีความเชื่อมโยงหลายกระทรวง ทบวง กรม” ชัชวาลย์ กล่าว

ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา เชียงใหม่ประกาศมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดหรือ Zero Burning หากใครทำให้เกิดการเผาไหม้ในที่กลางแจ้ง ไร่ นา สวน และป่า ก็จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย นี่คือช่วงเวลาไม่ต่างจากการประกาศเคอร์ฟิวในภาคการเกษตรที่จำเป็นต้องใช้ไฟ 

ข้อเสนอหนึ่งของภาคีสภาลมหายใจ คือการเปลี่ยนวิธีคิดแบบ Zero Burning มาใช้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ และจำแนกแยกแยะไฟที่จำเป็นและไม่จำเป็น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/15YKridQ5WLaghuwCcSH1S/1eeb0efe13d5505b90285ff137b61a4d/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo08
Photo: ฝุ่นควันจากการเผาป่า
“ไฟที่ไม่จำเป็นคือไฟที่เกิดขึ้นและลุกลามโดยไม่มีเหตุจำเป็นต้องลุกลาม เช่น การจุดไฟล่าสัตว์ แต่ไฟจำเป็นคือไฟที่มีความจำเป็นต้องใช้ในระบบเกษตรที่ต้องพึ่งพาอาศัยไฟ ซึ่งชาวบ้านมีภูมิปัญญาในการจัดการไฟ มีการทำแนวกันไฟ รอให้ใบไม้แห้งสนิท เพื่อให้การเผาไหม้สมบูรณ์ ควันจะน้อยมาก และเลือกจังหวะเวลาที่ลมถ่ายเท ไม่เกินชั่วโมงก็จบแล้ว นี่คือระบบที่มีภูมิปัญญาและวิชาการ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงอย่างในป่าที่มีเชื้อเพลิงอย่างใบไม้แห้งสะสม พื้นที่แบบนี้ต้องมีระบบบริหารจัดการ” 

เชียงใหม่มีพื้นที่ป่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีชุมชนอาศัยไม่น้อยกว่า 1,500 ชุมชน ดังนั้นมาตรการหลักที่รัฐประกาศใช้อย่างการห้ามเผาเด็ดขาด ในมุมมองของประธานสภาลมหายใจ จึงไม่สอดล้องกับความเป็นจริงของผู้คนในพื้นที่ เพราะเกษตรกรบนพื้นที่สูงจำเป็นต้องพึ่งพาไฟในการจัดการกับพื้นที่หลังเก็บเกี่ยว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2PEER98TENpoTGnHt14Y8F/e98e88cb60fe575521be336f6363be30/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo09
Photo: ชาวไร่และฝุ่นควัน
“ปัญหาของ Zero Burning มันไม่สอดคล้องกับความจริงของชีวิตผู้คน การประกาศพื้นที่ป่าสงวนฯ และป่าอนุรักษ์ฯ ทับลงไปในพื้นที่ชุมชน ก็ทำให้เขากลายเป็นผู้ผิดกฎหมายทันที มีชุมชนไม่น้อยกว่า 1,500 แห่งอาศัยในพื้นที่ป่า ชุมชนเพียง 700 แห่งเท่านั้นเองที่อยู่นอกพื้นที่ป่า 

“เพราะภูมิประเทศของภาคเหนือมันเป็นแบบนี้ เมื่อรัฐห้ามเผาเด็ดขาดก็กลายเป็นว่าทุกการเผาที่เกิดขึ้นคุณคือผู้ผิดกฎหมาย พอกลายเป็นผู้ผิดกฎหมาย แต่จำเป็นต้องเผา พวกเขาทำยังไงครับ ก็ต้องเผาแล้วหนี วิธีนี้มันทำให้ทุกคนไปอยู่ใต้ดินหมด Zero Burning เลยไม่ตอบโจทย์ มันยิ่งทำให้ชาวบ้านเป็นจำเลย ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไหนจะสู้กับชีวิตของตัวเองที่ต้องอยู่รอด” 

นอกจากนี้ การใช้จุดความร้อนหรือฮอตสปอต (Hotspot) เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมตามมา รวมถึงไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นบนพื้นดิน เพราะทำให้เกิดการเผาหนีดาวเทียม เพราะรู้รอบเวลาที่ดาวเทียมนับจุดความร้อนในแต่ละวัน การเผานอกเวลาที่ดาวเทียมมาตรวจจับ ก็ทำให้ดาวเทียมจับจุดความร้อนไม่ได้ ข้อมูลจุดความร้อนลดลง แต่ฝุ่นยังคงมีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1YZGEyM23d1JIY0EiQLwhm/79a264b6fa5fbc4197fdbf802a8c3de2/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo10
Photo: แผนที่ Fire Hotspots แสดงจุดที่มีไฟไหม้ภาคเหนือ ปี 2563
“ระบบดาวเทียมที่ตรวจจับฮอตสปอตเป็นเทคโนโลยีที่ดีมาก แต่ปัญหาของข้อมูลจากดาวเทียมที่ตรวจหาจุดความร้อนคือมันลำเอียง เพราะมันจับได้เฉพาะพื้นที่บนดอย จับได้เฉพาะพื้นที่การเผาในภาคเกษตรและในป่า แต่รถยนต์ที่ขับในเมืองก็คือไฟ 1 กองเช่นกัน โรงงานอุตสาหกรรมก็คือไฟ 1 กองเช่นกัน รวมถึงแหล่งกำเนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นไฟที่ถูกจุดตลอดทั้งปีนะครับ แต่ไฟบนดอยไฟการเกษตรที่เป็นไฟจำเป็นมันคือช่วงเวลาเพียง 3-4 เดือนเท่านั้นเอง แต่รถยนต์วิ่งทุกวันและทั้งปี อุตสาหกรรมก็ทำงานทั้งปี แต่ฮอตสปอตจับไม่ได้เลย เรามีความรู้เรื่อง PM2.5 ที่สัมพันธ์กับแหล่งกำเนิดประเภทนี้น้อยมาก” 

การเผาเตรียมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรในไร่หมุนเวียนจึงถูกบดบังด้วยมายาคติว่าเป็นต้นเหตุในการก่อมลพิษ ทั้งๆ ที่การเผาในพื้นที่ไร่หมุนเวียนใช้ความรู้ในการจัดการและมีการควบคุมการไหม้ลามอย่างเป็นระบบ 

“ไร่หมุนเวียนที่ทำกันมา 300-400 ปี เป็นการรักษาป่าและแหล่งความมั่นคงทางอาหาร แต่ข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้ระบบการผลิตซ้ำบนพื้นที่เดิม ก็ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เวลาข้าวโพดขึ้นดอย มันทำให้ภูเขาหัวโล้น ประเทศไทยเริ่มรณรงค์มาหลายปีครับ ว่าควรลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดลง กระบวนการมันจึงขยายไปประเทศเพื่อนบ้าน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7pjUp0eZAy8UmiOFanlCOA/d5fee2f8806b2826a0b2ac1d58947e18/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo11
Photo: ชาวเขา ‘ดาระอั้ง’ หรือ ‘ปะหล่อง’ เก็บเกี่ยวข้าวโพด
“ถ้าเราไปดูฮอตสปอตในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน เราจะเห็นว่ามันแดงเถือก เราจะพบจุดความร้อนมากกว่าเรา 3-4 เท่า ดังนั้นฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นปัญหาใหญ่ ถึงแม้เราจะแก้ปัญหาในประเทศได้ เราก็จะเจอฝุ่นควันข้ามแดนอยู่ดี” ชัชวาลย์ ระบุ  

หมอกควันในสิ้นแสงฉาน 

อิงเง่ ซาร์เจนท์ ได้บันทึกให้เห็นการใช้ไฟในภาคการเกษตรและสภาพของป่าผลัดใบเมืองสีป่อ รัฐฉาน เมื่อปี 2497 ในหนังสือ สิ้นแสงฉาน อันโด่งดัง ว่า 

“เช้าวันหนึ่งในเดือนมิถุนายน อากาศแจ่มใสสดชื่นเนื่องจากฝนได้ชะหมอกควันอันเกิดจากการเผาฟางข้าวแห้งๆ ในนาไปจนหมดสิ้น” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3z9eeZrs0wtQazQ7nBPfNr/63067ded339618a750f5067d39206e62/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo12
Photo: หนังสือ ‘สิ้นแสงฉาน’
เมืองสีป่อซึ่งตั้งอยู่ในรัฐฉาน มีพื้นที่ติดอยู่กับภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งประเทศแถบนี้มีลักษณะป่าเบญจพรรณ เกษตรกรใช้ไฟในภาคเกษตรหลังฤดูเก็บเกี่ยว แต่ระบบการผลิตในปี 2497 ไม่น่าจะมีรูปแบบเหมือนระบบเกษตรเชิงเดี่ยวแบบพันธะสัญญาในศตวรรษที่ 21 

แต่หลักฐานใน สิ้นแสงฉาน ก็เผยให้เราเห็นการเกษตรที่พึ่งพาไฟในประเทศที่มีสภาพอากาศและภูมิประเทศคล้ายกับภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยอย่างรัฐฉาน 

ในบทถัดมา อิงเง่บรรยายให้เห็นความร้อนแล้งในเดือนเมษายนที่อากาศในสีป่อ “ร้อนจัดจนแทบทนไม่ไหว ผู้คนอ่อนเปลี้ย สัตว์เลี้ยงหิวกระหายน้ำ และต้นไม้ก็แห้งเกรียมด้วยความร้อน รอคอยฝนแรกซึ่งลมมรสุมจะหอบมาเมื่อถึงฤดูกาล เมื่อต้องสูดดมแต่ควันไฟซึ่งลอยอวลเหนือหุบเขาเป็นสัปดาห์ๆ เจ้าจาแสงก็อดนึกถึงอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าบนเทือกเขาร็อกกี้ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ เจ้าฟ้าทรงวางแผนจะสอนชาวบ้านบนไหล่เขาให้รู้ถึงเกษตรสมัยใหม่ที่ให้ผลผลิตดีกว่าและทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า โดยไม่จำเป็นต้องเผาตอซังข้าวเพื่อทำปุ๋ยในนาแบบนี้อีกต่อไปแล้ว”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/ZiwWjjmTY10Ht4bH0FtN9/0abeb6ae7743fed66878ef5cc409ef48/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo13
Photo: ทิวทัศน์เมืองสีป่อ รัฐฉาน
น่าสนใจว่าเกษตรสมัยใหม่ที่เจ้าจาแสงวางแผนจะสอนชาวบ้านมีรูปแบบการผลิตและจัดการเศษซากชีวมวลบนพื้นที่สูงอย่างไร แต่เจ้าจาแสงไม่มีโอกาสนั้น เพราะได้ถูกบังคับให้สูญหายหลังจากนายพลเนวินยึดอำนาจ เขาหายไปตราบจนวันที่คนรักของเขา อิงเง่ ซาร์เจนท์ หรือสุจันทรี มหาเทวีองค์สุดท้ายในเมืองสีป่อแห่งรัฐฉาน เสียชีวิตด้วยโรคชราในวัย 91 ที่บ้านพักในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 

การเสียชีวิตของเธอทำให้ผมนึกถึงหมอกควันใน สิ้นแสงฉาน ที่ลอยอวลเหนือหุบเขาของเมืองสีป่อ และหมอกควันในนวนิยายของอิงเง่ ทำให้นึกถึงหมอกควันและจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาไร่ข้าวโพดในรัฐฉานช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

ที่รัฐฉาน การเกษตรสมัยใหม่ได้เคลื่อนย้ายจากประเทศไทยเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในแบบที่เจ้าจาแสงอาจคิดไม่ถึง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4qeGcTUhU9zj0PgCX6ZHrr/569cc0d310c62939b1341993b49be2be/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo14
Photo: เจ้าชายแห่งเมืองสีป่อและอิงเง่ ซาร์เจนท์ Photo: myanmarmemo.com

หมาป่าและหมอกควันข้ามพรมแดน 

วิกฤติฝุ่นควัน PM2.5 และมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน มีความเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวทั้งในและนอกประเทศ 

งานวิจัยของกรีนพีซในหัวข้อ ข้าวโพด: การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ระบุว่า การขยายตัวของตลาดข้าวโพดอาหารสัตว์และการสะสมของจุดความร้อนและพื้นที่การเผาไหม้มีความเชื่อมโยงกับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูถัดไป ทําให้ช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเมษายนของทุกปี พื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งสามประเทศถูกรมควัน เป็นวิกฤตร้ายแรงต่อสุขภาพ  

“เราตั้งสมมติฐานไว้ว่าปัญหาหมอกควันในภาคเหนือที่เกิดขึ้นมาอย่างน้อยราว 15 ปี เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือไม่” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย เล่าให้ผมฟังถึงสมมติฐานในงานวิจัยชิ้นดังกล่าว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4gr9OiciSbL5VpQZVUHZdS/0bfc41be761a2a2e46f14e2235d4fc33/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo15
Photo: รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
“ข้อมูลตั้งแต่ 2545-2565 แสดงให้เห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศที่เข้มข้นเช่นกัน มันก็เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันค่ะ” รัตนศิริ กล่าว 

ขณะที่นโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของรัฐบาลก็เป็นอีกเครื่องดนตรีที่ร่วมประสานบรรเลงจนทำให้บทเพลงนี้ขยายไปไกลจนเกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า  

“ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บริษัทสนับสนุนตั้งแต่พันธุ์ข้าวโพด ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ไปจนถึงการรับซื้อผลผลิต รัฐมีนโยบายการประกันราคา แต่ผลกระทบที่ตามมาคือปัญหาสิ่งแวดล้อม หลายปีก่อนภาพภูเขาหัวโล้นที่จังหวัดน่านก็ทำให้ภาคประชาสังคมกดดันและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ภาครัฐทำคือเคร่งครัดมาตรการการรับซื้อมากขึ้น กำหนดให้ผู้ปลูกต้องมีเอกสารสิทธิ์ในการยืนยันว่า ผลผลิตที่ได้มาไม่ได้มาจากบุกรุกพื้นที่ป่า” รัตนศิริ เล่า
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Eov9GdqFxxxCXDwLPtNl4/146fb3d39243958cfda5d604f25aa8c3/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo16
Photo: นโยบายภาครัฐและนายทุน คือผู้เบื้องหลังที่มองไม่เห็น
ราวปี พ.ศ.2559 มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร และการประกันราคา ด้วยหลักฐานกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกต้อง ทําให้เกษตรกรประสบปัญหาในการขาย เกิดปัญหาผลผลิตตกค้าง โดยมาตรการที่เกิดขึ้นนี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกับจุดความร้อนในไทยที่ลดลงในปี พ.ศ. 2559 และลดลงเรื่อยๆ ก่อนจะกลับมาสูงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2562  

“นอกจากนี้ยังมีการยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นโยบายนี้ก็เป็นการขยายพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้นมลพิษที่เรากำลังพูดถึงมันคือมลพิษข้ามพรมแดนค่ะ” รัตนศิริ กล่าว 

ถ้าเป็นเกมหมาป่า ที่ผ่านมาชาวบ้านอย่างเราชี้นิ้วไปที่เกษตรกรผู้ปลูกว่าเป็นหมาป่าผู้ก่อมลพิษ ซึ่งจากข้อมูลในงานวิจัยชิ้นนี้ รัตนศิริต้องการรณรงค์ให้เห็นความเชื่อมโยง ผลกระทบที่เกิดขึ้น และทำให้เห็นผู้อยู่เบื้องหลังผลประโยชน์จากการสูญเสียพื้นที่ป่าและมลพิษที่เกิดขึ้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/wTsldFokwKymaxwHm12Gb/7ac1cf3f83a4b719b2d28fc23e0f995e/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo17
Photo: รถราคือสาเหตุหนึ่งของฝุ่นควัน
“เกษตรพันธะสัญญาสามารถแก้จนให้เกษตรกรได้จริงหรือ จริงหรือที่เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อมลพิษนี้เลย จริงหรือที่เกษตรกรคนบนดอยเป็นคนทำให้คนในเมืองสูดควันพิษ เราอยากจะเปลี่ยนมายาคติเหล่านี้ เราอยากทำให้เห็นความเชื่อมโยงทางอำนาจที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้มีมาตรการเอาผิดกับภาคอุตสาหกรรมที่ควรมีภาระรับผิดในการก่อมลพิษและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า” ผู้ศึกษาวิจัยงานชิ้นนี้ ระบุ 

ทางที่เราต้องเลือก

ขณะนี้เรายืนอยู่เบื้องหน้าทางแยกของถนนสองสาย แต่ต่างออกไปจากถนนในบทกวีชื่อดังของโรเบิร์ต ฟรอสต์ 

รัตนศิริ อ่านข้อความในบทความที่เธอเขียน ในบทความชิ้นดังกล่าวเธออ้างถึงประโยคของ ราเชล คาร์สัน จากหนังสือ Silent Spring (1962) หนังสือบอกเล่าถึงอันตรายร้ายแรงของสารเคมีที่ใช้ในระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ราเชลอ้างถึงบทกวี The Road Not Taken (1915) ของ โรเบิร์ต ฟรอสต์ อีกที และรัตนศิริ อ้างถึงการอ้างอิงข้างต้นในข้อเขียนเกี่ยวกับวิกฤติอาหารในปี 2565 ของเธอ 

ผมคิดว่าตัวบททั้งสามที่วางซ้อนทับกันบนเวลาต่างยุคสมัย มีความคมคายและทรงพลังในการอุปมาอุปไมยถึง ‘ทางแยก’ ที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6J6WPcIDXE4gzxLAsOUAvr/b7b8834d53d4b431d4e320ae66501fbf/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo20_copy_3
Photo: ฝุ่นลอยปกคลุมเมืองเชียงใหม่
ถนนทั้งสองสายนี้ไม่เท่าเทียมกัน ถนนสายที่เราเดินทางมาตลอดนั้นเป็นเส้นที่ถูกทำให้เรารู้สึกว่าง่าย เป็นทางด่วนที่ราบรื่นและทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้เร็ว แต่ปลายทางนั้นมีหายนะรออยู่ ส่วนอีกเส้นทาง หรือทางที่คนสัญจรน้อยกว่า คือเส้นทางที่เป็นโอกาสสุดท้ายและหนึ่งเดียวในการก้าวไปถึงเป้าหมายที่สามารถดูแลโลกได้อย่างแท้จริง 

“ข้อความข้างต้นถูกเขียนในปี 1962 ค่ะ ซึ่งไม่ต่างจากวันนี้ที่เราพูดถึงวิกฤตโลกร้อนและปัญหามลพิษ” รัตนศิริ กล่าวหลังจากอ่านข้อความในบทความของเธอจบ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1TJkw6cv13Y8JBMeirFEWJ/3733c3732da611a539164149cec8a9ab/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo19
Photo: บทกวี The Road Not Taken
“มันเป็น The Road Not Taken เป็นทางที่ไม่มีใครเลือกเดิน เพราะมันยากและซับซ้อน มันอาจจะใช้เวลามากกว่า ใช้ความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายมากกว่า แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนเส้นทาง เราจะถลำลึกไปในทางที่แย่ลงเรื่อยๆ เราเริ่มเห็นผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง มลพิษที่มากขึ้นเรื่อยๆ เด็กที่เกิดในยุคนี้จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะใส่หน้ากากทุกคน มันน่าเศร้านะคะ เขาน่าจะมีโอกาสได้วิ่งเล่นได้อย่างอิสระ” 

ขณะนี้เรายืนอยู่เบื้องหน้าทางแยกของถนนสองสาย แต่ต่างออกไปจากถนนในบทกวี The Road Not Taken ของโรเบิร์ต ฟรอสต์ และต่างออกไปจาก Silent Spring ของ ราเชล คาร์สัน 

เราก็กำลังสวมหน้ากาก N95 (ขั้นต่ำ) เผชิญกับทางแยกที่ถ่างกว้างออกจากกันขึ้นเรื่อยๆ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/41CIOLTHkYzOIvnHhriSpS/7a237eccb0f79a006169786645cd517c/PM25-Teresa-Teng-chiangmai-pollution_-SPACEBAR-Photo20
Photo: เครื่องบินทะยานออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์