เป็นเด็ก ใช่ว่าจะไม่ซึมเศร้า เทคนิคดูแลเด็กให้ห่างไกลโรคซึมเศร้า

7 เม.ย. 2566 - 02:56

  • เด็กเป็นโรคซึมเศร้า สังเกตได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะไม่สามารถสื่อสารเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกได้ และพฤติกรรมบางอย่างเป็นพัฒนาการตามวัย

  • รู้ว่าเด็กอาจเข้าข่ายโรคซึมเศร้าจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

  • ปัจจัยหลักเกิดจากเด็กรู้สึกไม่เป็นที่รัก และไม่มีความสามารถ

  • การดูแลและช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าคือเป็นผู้ฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ให้เขาเชื่อใจ

Social-health-and-safety-how-to-treat-child-youth-depression-SPACEBAR-Hero
ข่าวเด็กฆ่าตัวตาย มีให้เห็นมากขึ้น จนคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเขา ถ้าให้สันนิษฐานง่ายๆ อาจคิดว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาในโรงเรียน ถูกเพื่อนแกล้ง ใช้ความรุนแรง หรือเรียกสั้นๆ ก็คือ บูลลี่ รวมไปถึงจากโลกออนไลน์ ผิดหวังจากความรัก ถูกกดดันเรื่องผลการเรียน ทั้งกดดันเอง หรือครอบครัวกดดัน และอาจจะเลียนแบบจากสื่อ 

ในฐานะผู้รับสาร ก็อาจไม่ได้คำตอบ แต่คุณคิดว่า คนสนิท เพื่อน ครอบครัว หรือครู จะรู้คำตอบไหมว่าสาเหตุเกิดจากอะไร  

ที่น่ากลัวคืออาจไม่มีใครรู้เลยก็ได้ เพราะน้องเก็บปัญหาไว้กับตัวเองมาตลอด จนต้องเลือกทางออกด้วยการจบชีวิต  
ปัญหาการฆ่าตัวตาย อาจมีสาเหตุหนึ่งมาจากโรคซึมเศร้า ที่เราเห็นตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้นในประเทศไทย หรือหลายๆ ประเทศ แต่ในจำนวนตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทย ไม่ได้รวมเด็กอายุต่ำกว่า 15  ปี อยู่ในนั้น เพราะที่ผ่านมามีการนับผู้ป่วยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เราจึงไม่สามารถรู้ตัวเลขที่แท้จริงเลยว่า ตอนนี้เด็กไทยป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มากน้อยแค่ไหน 

ที่แน่ๆ นักจิตวิทยา และกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าเด็กไทย เป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น รุนแรงมากขึ้น และมักถูกมองข้าม 

กว่าจะรู้ว่าเด็กเป็นซึมเศร้าก็อาจสายเสียแล้ว 

ผู้ใหญ่รู้ว่าตัวเอง หรือคนใกล้ตัวมีภาวะซึมเศร้า เพราะสามารถสื่อสารพูดคุย รับข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินโรคซึมเศร้า และ จับสังเกตได้ง่ายกว่า ขณะที่เด็กไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กมีปัญหาในการพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีคลังคำศัพท์เกี่ยวกับอารมณ์อยู่น้อย บวกกับสังคมไทยที่เคยเลี้ยงดูมา มักไม่เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความรู้สึก และสื่อสารเกี่ยวกับอารมณ์มากนัก 

ดร.สุพัทธ แสนแจ่มใส สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบาย ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ “เด็กเศร้าเรารู้ได้ เทคนิคดูแลใจ ทำอย่างไรให้ลูกห่างไกล...ซึมเศร้า” 

ปัญหาใหญ่คือ พ่อแม่ผู้ปกครองและครู ไม่สามารถรู้ได้ว่า เด็กปกติหรือมีภาวะซึมเศร้า เพราะนอกจากเด็กไม่สามารถอธิบายความรู้สึกได้แล้ว ในบางช่วงวัย ยังเป็นพฤติกรรมปกติ เช่น ในวัย 5 – 7 ขวบ มักตอบไม่ตรงคำถาม ไม่อยากตอบ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งในพัฒนาการตามวัย ทำให้แยกได้ยาก 

รู้ได้อย่างไร ว่าเด็กมีภาวะซึมเศร้า 

ผู้ปกครองต้องใช้การสังเกตอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในเชิงลบ  
 
  • ทางด้านอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว โมโหง่าย เหงาหงอย  
  • มีอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัวไม่ทราบสาเหตุ ไม่รับประทานอาหาร นอนไม่หลับ 

ย้ำว่าเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยทำกลับเปลี่ยนไปไม่ทำ จากที่ไม่เป็นเปลี่ยนมาเป็น และเป็นหลังจากมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เรียกว่ามีตัวกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่ใช่พฤติกรรมที่เป็นอยู่เดิม 

ตามปกติ อาการต่างๆ อาจเกิดจากการผิดหวัง สูญเสีย หรือไม่พอใจอะไรบางอย่างเกิดขึ้นไม่นาน แต่เด็กที่เป็นภาวะซึมเศร้า คือมีอารมณ์ พฤติกรรมนั้นซ้ำๆ และต่อเนื่อง อย่างน้อย 1 - 2 สัปดาห์
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5h5376ydBP8Bdm6b43MGfX/eb7112d8faf61df01ee1b5c2ef7b93f7/Social-health-and-safety-how-to-treat-child-youth-depression-SPACEBAR-Photo01

ซึมเศร้าในเด็กไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะส่งผลต่อพัฒนาการทุกด้าน

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวช ที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังต้องรักษา แต่เด็กมักถูกมองข้าม มองไม่เห็น เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติตามวัย  

ถ้าผู้ปกครองสังเกตได้ไม่ทัน จะเกิดผลกระทบตามมาเป็นทอดๆ ในพัฒนาการทุกๆ ด้าน 

จุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนแปลงคือด้านอารมณ์ ต่อมาจะมีปัญหาต่อพัฒนาการด้านสังคม คือเด็กไม่อยากเข้าสังคม เก็บตัว ไม่อยากเล่นกับเพื่อน ไม่อยากคุยกับใคร ไม่สนใจการเรียน สมาธิลดลง ทำให้ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา การจดจำ เรียนรู้น้อยลง และอาจส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ไปจนถึงศักยภาพของสมองแย่ลง  

นอกจากนี้ ยังมีผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย เช่น เมื่อไม่อยากรับประทานอาหาร นอนไม่เต็มอิ่ม ก็ทำให้ผอม ป่วยง่าย และส่งผลต่อพัฒนาการด้านบุคลิกภาพ เช่น ขี้อาย ไม่มั่นใจในตัวเอง หวาดระแวงง่าย ไม่ไว้ใจคนอื่น จนในที่สุดอาจเกิดผลกระทบร้ายแรงตามมา เช่น เสพยาเสพติด ใช้ความรุนแรง ก่อเหตุอาชญากรรม และอาจฆ่าตัวตายได้ 

อะไรทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้า 

สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้ามีหลายปัจจัยรวมกัน 
 
  • ตัวเด็ก มีพันธุกรรม ครอบครัวเคยเป็นโรคซึมเศร้า มีประวัติเจ็บป่วยทางกาย เช่น โรคสมาธิสั้น พฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct  Disorder) พัฒนาการล่าช้า เกิดผลทางอ้อม เช่น ถูกตีตรา เพื่อนไม่เล่นด้วยพื้นนิสัย เช่น ขี้อาย และ ทักษะชีวิต เช่น การปรับตัวเข้ากับผู้อื่น 

แกนหลักที่ทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้าเกิดจาก 

  1. รู้สึกไม่เป็นที่รัก คิดว่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือเพื่อนไม่รัก  
  2. รู้สึกไม่มีความสามารถ ไม่เก่ง ไม่มีคุณค่า 
  • โรงเรียน ถูกล้อเลียน รังแก หรือ bully อยู่ในกลุ่มเพื่อนไม่ดี ผลการเรียนไม่ดี ไม่เป็นตามที่หวัง และมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับเพื่อนและโรงเรียน 
  • ครอบครัว มีการใช้ความรุนแรง ความสัมพันธ์ไม่ดี มีประวัติเจ็บป่วย และปัญหาทางการเงิน  

ปัจจุบันยังพบว่าอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้า คือ Cyber bullying เด็กยุคนี้ใช้เวลาอยู่กับโลกออนไลน์มาก เมื่อต้องการการยอมรับ แต่กลับถูก bully หรือถูกเปรียบเทียบในโซเชียลมีเดีย ทำให้ขาดความมั่นใจ รู้สึกเครียด และกดดัน  

ปัจจัยเหล่านี้ ไม่ใช่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้า แต่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น เด็กเป็นโรคทางผิวหนัง แล้วถูกเพื่อนที่โรงเรียนล้อ ทำให้ไม่มีเพื่อน ประกอบกับผู้ปกครอง ไม่มีเวลาคุยกับเด็ก และดุที่เด็กมีผลการเรียนตกต่ำ ส่งผลให้เด็กมีภาวะซึมเศร้าได้ 

เลิกถาม “ทำไม” แล้วมาใส่ใจความรู้สึก 

เรามักได้ยินคำถาม ที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “ทำไม” แต่ไม่ได้อยากฟังเหตุผลที่แท้จริงจากเด็ก เป็นคำถามที่ใส่อารมณ์ และความรู้สึกตัดสินว่าเด็กทำผิดไปเรียบร้อย เช่น “ทำไมไม่ทำตัวให้น่ารักเหมือนเพื่อนเขาบ้าง” “ทำไมชอบโกหกอยู่เรื่อย” “ทำไมเกรดตกขนาดนี้” “ทำไมไม่ยอมกินข้าว”  

ถ้าอยากรู้สาเหตุที่เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ลองเปลี่ยนคำถาม จากคำว่า “ทำไม” เป็น “เพราะอะไร” แล้วนั่งฟังเหตุผลของเขาโดยไม่ตัดสิน ฟังอย่างเปิดใจ รับฟังโดยไม่มีอคติ  

ใกล้ชิดให้เด็กไว้ใจ แล้วพาเขาไปสู่การแก้ไขที่ดี 

ปัญหาส่วนใหญ่ที่หลายบ้านเจอคือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงาน และใช้เวลาไปกับโลกออนไลน์ จนไม่มีเวลาให้เด็ก ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ได้พูดคุยกัน กลายเป็นความห่างเหิน จนสุดท้ายยากจะแก้ไข เพราะพัฒนาการที่ดีของเด็ก เริ่มจากการใช้เวลาร่วมกัน  

ดังนั้นผู้ปกครอง ต้องกลับมาให้เวลากับเด็ก และปรึกษาร่วมกันกับครูที่โรงเรียน เมื่อใช้เวลาอยู่กับเด็กจนเด็กเชื่อใจ เด็กจะอยากเล่าสิ่งที่ตัวเองพบเจอหรือรู้สึกให้ฟัง ถ้าเด็กมาเล่าถึงการกระทำหรือความคิดบางอย่าง ที่ผู้ปกครองคิดว่าผิดหรือไม่สมควร อย่าเพิ่งดุเขาทันที ลองถามให้เขาคิดต่อว่า เพราะอะไรถึงทำหรือคิดแบบนั้น แล้วคิดว่าถ้าทำหรือคิดแบบนั้น จะมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร เปิดโอกาสให้เขาคิด เลือกทางเลือก และถามเขาต่อว่า อยากได้คำแนะนำจากเราไหม ถ้าเขาต้องการ ก็อาจพูดว่า “แม่ (พ่อ/ครู) คิดว่า...” แล้วให้เขาลองตัดสินใจเอง แต่ถ้าสิ่งที่เขาคิดและตัดสินใจ จะส่งผลเสียแน่นอน ก็อาจพูดถึงกรณีตัวอย่างของคนอื่นให้เขาได้คิดต่อว่าไม่ควรทำสิ่งนั้นจริงๆ  

เมื่อเด็กได้เรียนรู้ว่า ผู้ปกครองและครู รับฟังอย่างเข้าใจ ทำให้ความเครียด ความกังวลลดลง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ช่วยให้ภาวะซึมเศร้าที่เด็กกำลังเผชิญ ได้รับการช่วยเหลือ แต่ถ้าเด็กยังไม่หายจากภาวะซึมเศร้า ก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาการปรึกษา หรือจิตแพทย์ ซึ่งถ้ากลัวถูกตีตรา ผู้ปกครองหรือครูอาจใช้คำว่าผู้เชี่ยวชาญด้านอารมณ์ หรือด้านความวิตกกังวลได้ โดยผู้ปกครองอาจเริ่มด้วยการโทรไปขอรับการปรึกษา ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 

เด็ก เป็นวัยที่ยังต้องได้รับการดูแล ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากครอบครัว ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับเขาได้ ก็ยากที่เขาจะรอดพ้นจากปัญหาที่กำลังเผชิญ ไม่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะเจอกับเรื่องหนักหนาแค่ไหน ก็ขอให้มีใจที่แข็งแรง ดูแลอารมณ์ตัวเอง และทำความเข้าใจว่าเด็กต้องการเป็นที่รัก ได้รับการยอมรับ และพร้อมเป็นผู้ฟังที่เด็กไว้ใจ หนทางที่จะดึงเขาออกมาจากอารมณ์ที่มืดมิดก็ยังมองเห็นทางสว่างอยู่ไม่ไกล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์