สร้างภูมิต้านทานเด็ก ลดปัญหายาเสพติด

11 พ.ค. 2566 - 10:27

  • งานวิจัยพบว่า เด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการด้านทักษะสมอง EF โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์และการยั้งคิดไตร่ตรองระดับต่ำ เสี่ยงที่จะติดยาเสพติดเมื่อโตขึ้น

  • เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม จากครอบครัวที่ใช้ยาเสพติด มีความเสี่ยงที่ทำให้เด็กใช้ยาเสพติดในอนาคต

  • ม.มหิดล วอนรัฐบาลใหม่ ลงทุนกับการสร้างบุคลากรผู้ดูแลเด็กปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้เด็กไม่ใช้ยาเสพติดเมื่อโตขึ้น และทบทวนนโยบายการใช้ยาเสพติดและอบายมุขเสรี

Social-health-safety-ef-children-teachers-improvement-protect-drugs-addicted-SPACEBAR-Hero
ประโยคที่หลายคนเคยได้ยินกันบ่อยๆ ที่พูดกันว่า “ที่คนคนหนึ่งติดยาเสพติด เป็นเพราะตอนเด็กครอบครัวเลี้ยงไม่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมแย่” คนที่ได้ยินอาจเป็นคนนอกไม่เกี่ยวข้องกับคนที่เสพยานั้นก็คงแค่ฟังผ่านๆ แต่บางคนอาจเป็นคนในครอบครัวเอง ที่รู้แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ และไม่ได้ตระหนักว่านั่นคือปัญหา  

เพราะต้องยอมรับว่า มีหลายครอบครัวที่ให้กำเนิดลูกโดยไม่พร้อม คือมีฐานะยากจน ไม่มีเวลาดูแล ทำให้เกิดปัญหาการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมตามมา ซึ่งการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ไม่ได้หมายถึงการเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ไม่สนใจใยดีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้ความรุนแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ ทุบตี ด่าทอ หรือพ่อแม่ทะเลาะตบตีให้ลูกเห็นอยู่บ่อยๆ และเรามักจะพบเห็นใน ‘ครอบครัวติดยาเสพติด’ 

ปัจจัยที่มีผลให้เด็กเสพยาเมื่อโตขึ้น 

1. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และทางสังคมรอบตัวเด็ก ซึ่งหมายถึงครอบครัว การเลี้ยงดู ครู เพื่อน สังคม

จากข้อมูลของสถาบันและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ศึกษาครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัย (ในการศึกษาครั้งนี้หมายถึงเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี) ในชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร 1,309 ครอบครัว พบว่า  
  • พ่อแม่ หรือผู้ปกครองที่ดูแลเด็ก ติดสารเสพติด 6% หรือ 83 ครอบครัว 
  • ในครอบครัวยากจน ที่ได้รับเงินอุดหนุนทารกแรกเกิด 600 บาทต่อเดือน พ่อแม่ติดยา มากกว่าครอบครัวไม่ยากจนถึง 2.4 เท่า 
  • 60 % ของครอบครัวยากจนที่ติดยา เลี้ยงดูลูกไม่เหมาะสม  
  • กลุ่มครอบครัวยากจนที่เสพยา เลี้ยงลูกไม่เหมาะสม มากกว่ากลุ่มยากจนไม่เสพยา 2 เท่าตัว 
  • คาดประมาณว่า พ่อแม่ยากจนที่เสพยา เลี้ยงดูเด็กปฐมวัย 154,800 ครอบครัว และในจำนวนนี้ มีเด็กปฐมวัย 92,880 คน ที่ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม เติบโตอยู่กับพ่อแม่ยากจนที่เสพยา 
2. ตัวเด็ก ทั้งการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัย และโครงสร้างสมอง 

ทักษะสมอง EF ป้องกันเด็กติดยาเมื่อโตขึ้นได้อย่างไร 

ทักษะสมอง EF (Executive Functions) คือกระบวนการทำงานของสมองระดับสูง ใช้กำกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมไปสู่เป้าหมาย โดยนำประสบการณ์เดิมและสถานการณ์ในปัจจุบันมาประมวลผล เพื่อวิเคราะห์ ตัดสินใจ วางแผน ลงมือทำ ควบคุมอารมณ์ กำกับตนเอง จนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้  (อ้างอิงจาก Thanasetkorn, 2012) 

พูดง่ายๆ ก็คือ ความสามารถของเด็กในการควบคุมตัวเองไม่ให้ทำตามอารมณ์ เพื่อจะทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ เช่น เด็กต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน มีความง่วงนอน ถ้าเด็กทำตามอารมณ์ทันที ก็จะนอน ไม่ยอมลุกไปอาบน้ำ เตรียมตัวไปโรงเรียน แต่ถ้าเด็กมีทักษะสมอง EF ที่ดี ก็จะสามารถกำกับตัวเองไม่ให้ทำตามอารมณ์ แล้วไปทำภารกิจของตัวเองให้เสร็จ ซึ่งถ้าเด็กปฏิบัติแบบนี้ได้ต่อเนื่อง ก็เรียกว่า ความรับผิดชอบ

แต่ที่น่าสนใจก็คือ เด็กจะพัฒนาสมองทักษะ EF ที่ดีได้ ต้องใช้ ‘ประสบการณ์เดิม’ มาประมวลผลในการคิด ตัดสินใจ และลงมือทำ ดังนั้น ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง เลี้ยงดูไม่เหมาะสม มีผลต่อการตัดสินใจ และทำในสิ่งที่ผิด เช่น วัยรุ่น มีอารมณ์พลุ่งพล่าน แต่เขาจะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ อยู่ที่ทักษะ EF และประสบการณ์เดิม เช่น ถ้าโดนพ่อแม่พูดว่าเป็นภาระ ไม่ได้เรื่อง หรือตบมา ก็อาจทำให้ตัดสินใจไปใช้สารเสพติดได้ 

ดังนั้น ‘ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ’ มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาสมองทักษะ EF และ EF จะทำงานได้ เมื่อเด็กรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน เป็นคนสำคัญ มีความสามารถ ถ้าครูหรือพ่อแม่ไม่สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยทางอารมณ์ จิตใจ และร่างกายได้ รวมถึงไม่ให้โอกาสเด็กใช้ EF เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ EF ของเด็กพัฒนาได้น้อยลง 

เอกสารสำคัญของหน่วยงานวิชาการด้านสารเสพติดของสหรัฐอเมริกา หรือ National Institute on Drug Abuse (NIDA) ระบุว่า การป้องกันยาเสพติดต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในช่วงวัยรุ่นได้ และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว รวมถึงส่งผลดีอย่างยิ่งต่อชุมชนสังคม และประเทศชาติอีกด้วย 

ความหวังอยู่ที่การส่งเสริมครูปฐมวัย พัฒนา EF เด็ก

ทำไมเราถึงวางความหวังไว้ที่ครูปฐมวัย จากปัญหาที่ได้พูดถึงครอบครัวยากจนติดยา เลี้ยงเด็กไม่เหมาะสม ทำให้ครูมีบทบาทอย่างมาก ต่อการพัฒนาเด็ก ซึ่งเด็กปฐมวัย คือเด็กแรกเกิดถึงอายุ 8 ปี ครูปฐมวัย จึงหมายถึงครูตั้งแต่ในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล จนถึงระดับประถมต้น แต่ที่ผ่านมาพบว่า แม้ครูมีความรู้เกี่ยวกับทักษะ EF แต่ยังไม่มีความเข้าใจ ในการนำไปใช้สอนและพัฒนาเด็กได้ให้มีประสิทธิภาพได้ 

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) พัฒนาโปรแกรมในการเสริมทักษะ EF ผ่านครูปฐมวัยลงไปในเด็กปฐมวัย โดยเริ่มในพื้นที่เป้าหมาย 4 พื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานคร จ.ศรีสะเกษ จ.กาญจนบุรี และจ.ปัตตานี จำนวนครู 345 คน และเด็กปฐมวัย 1,363 คน พบว่าได้ผล มีการพัฒนาขีดความสามารถครู นำไปสู่ตัวเด็กในการพัฒนาทักษะการควบคุมตัวเองได้เพิ่มขึ้น ผ่านเครื่องมือ EF  

“ขอให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศให้ความสำคัญกับการลงทุนในการสร้างผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ให้มีขีดความสามารถในการใช้เครื่องมือ EF ในกลุ่มเป้าหมาย ให้ครูปฐมวัยได้ดูแลเด็กมากขึ้น เข้าถึงเด็กในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีความเสี่ยง และเฝ้าระวัง เข้าถึงครอบครัวที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะเสพสารเสพติด เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ถ้ามีระบบเฝ้าระวัง มีการทำงานของผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ทั้งครูและบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ ใช้เครื่องมือ EF ในการประเมินติดตามพัฒนาการของเด็ก จะนำไปสู่ภูมิต้านทานการป้องกันยาเสพติด” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว  

นอกจากนี้ผู้อำนวยการสถาบันฯ ยังวอนให้รัฐบาลใหม่ ทบทวนนโยบายเสรีภาพในการเข้าถึงสารเสพติดและอบายมุข อย่างกัญชา บุหรี่ไฟฟ้า สุรา โดยกล่าวว่า “น่าเป็นห่วงว่าเสรีภาพของเยาวชนกับเสรีภาพของผู้ค้าขายสารเสพติด น่าจะเป็นคนละประเด็นกัน เราไปทำสิ่งแวดล้อมเสี่ยง ไปกระตุ้นให้มีการค้าขายยาเสพติดเสรี แล้วให้เยาวชนไปเลือก น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” 

สถานการณ์การเสพยาเสพติดในประเทศไทย ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลการบำบัดรักษาในระบบสาธารณสุขของประเทศ พบว่ามีผู้เข้ารับการบำบัดรักษา เฉลี่ยปีละ 1-2 แสนคน โดยเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของผู้เข้ารับการบำบัด และพบว่าส่วนใหญ่ใช้ยาเสพติดครั้งแรก ตอนอายุ 15 – 19 ปี  

สำหรับการปราบปรามยาเสพติด ไม่ใช่เพียงแค่การกำจัดต้นกำเนิด การนำเข้าและผลิตยาเสพติดเท่านั้น แต่ถ้ามองข้ามจุดเล็กๆ อย่างเด็กปฐมวัย ก็ทำให้เกิดการบานปลาย เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติอย่างทุกวันนี้ และนโยบายยาเสพติด และอบายมุขเสรี จำเป็นอยู่หรือไม่ ทบทวนอย่างไร ยังต้องถกเถียงเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนต่อไป 

อ้างอิง : “วอนรัฐบาลใหม่เร่งสร้างภูมิต้านทานตั้งแต่ปฐมวัย เติบโตไปไม่ใช้ยาเสพติด” สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์