อุณหภูมิสูงที่เห็น ไม่เป็นอย่างที่คิด ดัชนีความร้อนสูง เสี่ยงฮีทสโตรก

16 เม.ย. 2566 - 13:16

  • เมษายน เป็นช่วงที่คาดการณ์ว่าอากาศร้อนจัด ทั้งอุณหภูมิอากาศและค่าดัชนีความร้อน หรืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ อยู่ในเกณฑ์อันตรายถึงอันตรายมาก

  • กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ดัชนีความร้อน ล่วงหน้า 3 - 10 วัน (ระบุจังหวัดที่ค่าสูงสุดล่วงหน้า 3 วัน และมีความแม่นยำกว่า) เผยแพร่ทางเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลและเฝ้าระวัง

  • ดัชนีความร้อน ระดับอันตรายถึงอันตรายมาก เสี่ยงเป็นฮีทสโตรก เตือนไม่ควรอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

Social-health-safety-heat-index-high-beware-risk-heatstroke-death-SPACEBAR-Hero
หน้าร้อนปีนี้อากาศร้อนมาก จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดไว้ว่าหน้าร้อนปีนี้จะร้อนกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนนี้ แต่อุณภูมิที่เราเห็นว่าสูงจัดเกิน 40-43 องศาเซลเซียส ที่จริงแล้วเรารู้สึกได้ว่ามันร้อนกว่านั้น เรียกว่า ค่าดัชนีความร้อน 

ที่ออกมาเตือนค่าดัชนีความร้อน เพราะยิ่งสูงยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดหรือฮีทสโตรก ที่ทำให้คนเราเสียชีวิตได้ 

ดัชนีความร้อนคืออะไร 

ดัชนีความร้อน คืออุณหภูมิที่เรารู้สึกได้ว่าขณะนั้น อากาศร้อนเป็นอย่างไร โดยนําเอาค่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริงและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ มาทําการวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในสภาวะอากาศขณะนั้น  

สรุปให้เข้าใจง่าย ก็คือเป็นค่าความร้อนที่เรารู้สึก ยิ่งความชื้นสูง เราจะรู้สึกร้อนมากขึ้น มากกว่าอุณหภูมิที่วัดได้ เพราะความชื้นสูงจะระบายความร้อนยาก เราจะรู้สึกอึดอัด  

เมื่อระบายความร้อนไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดฮีทสโตรก หรือลมแดดนั่นเอง คือกล้ามเนื้อสร้างความร้อนมากจนร่างกายรับไม่ไหว และเกิดปฏิกิริยาการตอบสนอง อาจจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ดูจากตารางดัชนีความร้อนจะเห็นว่า ถ้าอุณหภูมิที่วัดได้ คือ 36 องศาเซลเซียส แต่ถ้าความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 50% ค่าดัชนีความร้อน หรือความร้อนที่ร่างกายเรารู้สึกจะอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับสีส้ม ที่ถือว่าอันตราย แต่ถ้าความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 70 % ค่าดัชนีความร้อน หรือค่าความร้อนที่เรารู้สึกจะอยู่ที่ 52 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอันตรายมากเลยทีเดียว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4qWCrOhEt5TxAUipx8QfTg/6069d952f4252fbbf6ffb00e11cf7d6f/Social-health-safety-heat-index-high-beware-risk-heatstroke-death-SPACEBAR-Photo01
Photo: กลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศ อุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4SX8W5YgkxS4d5uiWeCDV6/e4fcea92ee646511e74e2bdfee51c7d5/Social-health-safety-heat-index-high-beware-risk-heatstroke-death-SPACEBAR-Photo02
Photo: ข้อมูลกรมอนามัย

ค่าแต่ละระดับที่กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมอนามัยเตือน

27-32 องศาเซลเซียส สีเขียว คือ ระดับเฝ้าระวัง ถ้าทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ท่ามกลางอากาศร้อนระดับนี้ จะรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ  

32-41 องศาเซลเซียส สีเหลือง ระดับเตือนภัย เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และอาจเกิดอาการเพลียแดด ถ้าสัมผัสอากาศร้อนเป็นเวลานาน 

41-54 องศาเซลเซียส สีส้ม มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้องและไหล่ ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเป็นลมแดดได้ 

และ 54 องศาเซลเซียส ขึ้นไป เป็นสีแดง ระดับอันตรายมาก เกิดภาวะลมแดด ตัวร้อน ตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ซึมลง ระบบอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว อาจเสียชีวิตได้ ถ้าสัมผัสอากาศร้อนมากติดต่อกันหลายวัน 

เราสามารถดูการคาดหมายค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ ซึ่งจะคาดการณ์เป็นแผนที่สีคร่าวๆ ล่วงหน้า 10 วัน และคาดหมายเป็นรายจังหวัดที่ดัชนีความร้อนสูงสุดล่วงหน้า 3 วัน จากเว็บไซต์: กรมอุตุนิยมวิทยา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/21D7UmkGniUhYtxF41GjvZ/8c3ad85b30768f759edefe1097e7bb5f/Social-health-safety-heat-index-high-beware-risk-heatstroke-death-SPACEBAR-Photo03
Photo: กรมอุตุนิยมวิทยา
ช่วงเที่ยงถึงบ่าย หลายพื้นที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงมาก อยู่ในระดับสีส้ม ถือว่าอันตราย เสี่ยงเป็นลมแดด และบางวันอยู่ในระดับสีแดง คืออันตรายมาก (เช่น วันที่ 9 เมษายน 2566 ที่ จ.กระบี่ ดัชนีความร้อน มากกว่า 54) ดังนั้นขอให้ดูแลตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ควรอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท และมีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนจนเกินไป สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำบ่อยๆ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชาและกาแฟ ถ้าจำเป็นต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ควรพกพัดลมพกพา พัด หรือผ้าชุบน้ำ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์