‘เคารพสิทธิในร่างกาย’ จุดเริ่มต้นให้เด็กไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

25 เม.ย. 2566 - 02:48

  • พ่อแม่ควรสอนลูกเรื่องสิทธิในร่างกายของตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก ปกป้องไม่ให้คนอื่นมาสัมผัส หรือดู

  • เมื่อเด็กพูดรู้เรื่อง และต้องการความช่วยเหลือ ต้องขออนุญาตก่อนสัมผัสพื้นที่ส่วนตัว หรือจุดสงวนของเด็กก่อนทุกครั้ง

  • สอนให้เด็กรู้จักร่างกายของตัวเอง และทักษะการเอาตัวรอดจากการถูกล่วงละเมิด

Social-health-safety-prevent-sexual-harassment-among-children-SPACEBAR-Thumbnail
“หอมแก้มน้าเขาสิลูก” “ให้พี่เขาจุ๊บแก้มหน่อยนะลูก” 

“กอดพี่เขาสิลูก” “ให้พี่เขาอุ้มหน่อยจะเป็นอะไรไป”  

เราได้ยินประโยคแบบนี้ที่พ่อแม่พูดกับลูกมานาน และบางบ้านก็ยังคงทำเช่นนั้น มันสืบทอดกันมาเรื่อยๆ จนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่เป็นอะไร 

แต่พ่อแม่คงไม่ทันได้คิดว่า การพูดเช่นนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหลานถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่ายๆ บางคนอาจคิดว่ามันคงไม่ถึงขั้นนั้นหรอก มองในแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่า แต่สิ่งที่เราทำกันมานาน ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นถูกต้องเสมอไป เพราะการบอกให้ลูกกอด หอม หรือยอมให้คนอื่นมาแตะเนื้อต้องตัวลูกได้ โดยไม่ได้ขออนุญาตลูก เป็นการ “ละเมิดสิทธิของลูก”   

เพราะทุกคนมี “สิทธิในร่างกาย” ของตนเอง  

เราคงไม่ยอมให้ใครก็ได้มาโอบไหล่ จับแก้ม หอมแก้มเรา โดยที่เราไม่ยินยอม เพราะร่างกายเป็นของเราโดยสมบูรณ์ เรียกว่า สิทธิในร่างกาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่มีใครสามารถมาสัมผัสได้ ถ้าเราไม่อนุญาต หากผู้อื่นทำโดยที่เราไม่ยินยอม ย่อมเป็นการล่วงละเมิดชัดเจน 

เด็กก็เหมือนกัน ตั้งแต่เขาเกิดมา เขาได้รับสิทธิในร่างกายเช่นกัน แต่พ่อแม่หลายคนมักเข้าใจผิด คิดว่าลูกเป็นทรัพย์สมบัติของตัวเอง จะอนุญาตให้คนอื่นหรือตัวพ่อแม่เองแตะเนื้อต้องตัวส่วนไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด  

หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง คือการดูแลเด็ก ในขณะที่เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คุ้มครอง และปกป้องให้เขาปลอดภัยจากอันตราย และการถูกละเมิดสิทธิ 

สอนเด็กเรียกชื่ออวัยวะตัวเองให้ถูกต้อง 

สังคมไทยมักไม่สอนเรื่องเพศให้กับเด็ก ทำให้เด็กไม่กล้าบอกพ่อแม่ ผู้ปกครองเมื่อถูกล่วงละเมิด หรือแม้กระทั่งไม่รู้ว่าตัวเองกำลังถูกล่วงละเมิด เพราะไม่รู้ว่าอวัยวะหรือส่วนของร่างกายนั้นไม่ควรให้ผู้อื่นดูหรือสัมผัส และไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไรด้วยซ้ำ 

ก่อนจะปกป้องเด็กจากการถูกล่วงละเมิด ต้องเริ่มด้วยการสอนให้เด็กเรียกชื่ออวัยวะให้ถูกต้องตั้งแต่เล็ก ส่วนใหญ่เราจะสอนเด็กให้เรียกชื่ออวัยวะทั่วไป เช่น ตา ปาก หู จมูก แขน มือ ขา แต่บางบ้านอาจยังเขินอายกับการสอนให้ลูกพูดชื่ออวัยวะเพศ ส่วนหนึ่งไม่แน่ใจว่าพูดได้มากน้อยแค่ไหน และกลัวว่าลูกจะถามคำถามที่นึกไม่ถึง 

พญ. เสาวภา พรจินดารักษ์ เพจ “หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก” อธิบายว่า ยิ่งพ่อแม่ไม่คุยกับลูกเรื่องเพศ ยิ่งทำให้เด็กอยากรู้ ซึ่งความจริงแล้ว เด็กต้องการรู้เรื่องนี้จากคนที่ไว้ใจได้มากที่สุดคือ พ่อแม่ ไม่ใช่คนในอินเตอร์เน็ต 

ซึ่งเด็กเล็กก่อน 9 ปี มีความสงสัยเรื่องเพศไม่ลึกซึ้งระดับที่ผู้ใหญ่คิด ทางการแพทย์แนะนำให้พ่อแม่เริ่มคุยเรื่องเพศตั้งแต่เด็กรู้เรื่อง อายุประมาณ 2-3 ปี  

เริ่มจากการชวนคุยตอนอาบน้ำให้ลูก เช่น “ตรงนี้เรียกว่าจู๋เอาไว้ฉี่นะคะ” ส่วนเด็กผู้หญิงเราก็บอกว่า “ตรงนี้เรียกว่าจิ๋ม เอาไว้ฉี่ค่ะ” สอนด้วยเสียงปกติเหมือนสอนเรียกชื่ออวัยวะอื่นๆ และเพิ่มความสำคัญเข้าไปด้วยว่า “แต่จิ๋ม/จู๋จะพิเศษกว่าที่อื่นๆ ตรงที่อย่าให้ใครมาจับเลยนะคะ เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเราเลย” ถ้าพูดเสียงปกติ ลูกก็จะรับรู้และเข้าใจ โดยไม่เขินอาย หรือกังวลใดๆ คุณหมอยังย้ำด้วยว่าการสอนเรื่องเพศศึกษา ไม่ใช่การสอนครั้งเดียวจบ แต่สามารถสอนได้ทุกครั้งที่มีจังหวะ เพราะเรื่องนี้พัฒนาไปตามอายุ ทั้งสรีระและฮอร์โมนของเด็ก รวมทั้งความสามารถของสมองในการเข้าใจด้วย 

สอนให้เด็กรู้จักขอบเขตของร่างกาย 

เมื่อเด็กรู้จักอวัยวะทุกส่วนของร่างกายแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือการสอนให้รู้จักขอบเขตของร่างกาย หรือสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง เป็นสิทธิของตัวเองที่จะปฏิเสธไม่ให้คนอื่นมาสัมผัสร่างกาย โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวหรือจุดสงวน คือ ปาก หน้าอก ก้น อวัยวะเพศ ต้องสอนให้เด็กรู้ว่าไม่ใช่จะให้ใครมาจับได้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1VC2iHgdGlCOID7R01do2c/c5dfd5f589226d0703e68e0981b5636b/Social-health-safety-prevent-sexual-harassment-among-children-SPACEBAR-Photo01
Photo: Mahidol Channel
แต่การสอนไม่ใช่การพูดให้ฟังเพียงอย่างเดียว เพราะการทำให้เห็นและเป็นแบบอย่างให้ดูจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ได้ดีกว่า ถ้าพ่อแม่ต้องช่วยเหลือลูกเกี่ยวกับร่างกายในวัยที่เด็กพูดรู้เรื่อง เช่น ล้างก้น ใส่เสื้อผ้า ควรขออนุญาตก่อน  

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ครอบครัวควรเคารพสิทธิซึ่งกันและกันทำได้ทุกวัย ตั้งแต่อนุบาล เมื่อพ่อแม่โดยเฉพาะเพศตรงข้าม ไม่จับแตะเนื้อต้องตัวตำแหน่งพื้นที่สงวน ลูกก็ได้เรียนรู้ว่าขนาดคนเป็นพ่อแม่ยังเคารพสิทธิ ทำให้เมื่อผู้อื่นมาแตะเนื้อต้องตัวจุดสงวน เขาจะรู้ได้ทันทีว่าถูกลุกล้ำสิทธิ และรู้ว่าอาจมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ 

เราอาจสอนจากกรณีศึกษา เช่น เวลามีภาพข่าวเกิดขึ้น ให้ลองตั้งคำถามกับลูก 3 คำถาม คือ ‘ลูกเห็นแล้วรู้สึกอย่างไร’ ‘ลูกเห็นแล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง’ และ ‘ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับลูก ลูกจะแก้ปัญหานี้อย่างไร’ รับฟังความคิดเห็นดูว่าลูกสะท้อนอย่างไร อาจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าสมัยพ่อหรือแม่เจอ แก้ปัญหาอย่างไร การตั้งคำถามนี้จะทำให้รู้ว่าลูกมีวิธีการหรือภูมิคุ้มกันเพียงพอหรือไม่ พร้อมเสริมวิธีการและทักษะการเอาตัวรอดให้กับเด็กต่อไป 

‘No Go Tell’ 3 คำ รักษาตัวรอดปลอดภัย 

นอกจากรู้จักอวัยวะที่เป็นจุดสงวน ไม่ให้ผู้อื่นสัมผัสแล้ว เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ผู้อื่นมีเจตนาล่วงละเมิด ทั้งการสัมผัส ขอดู โชว์ภาพลามกอนาจาร ควรให้เด็กปฏิบัติต่อไปนี้
  1. No! สอนให้เด็กกล้าปฏิเสธ จากสถิติพบว่าการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก มักเกิดจากคนใกล้ชิด คนที่เด็กรู้จัก หรือเคารพ เช่น ญาติ เพื่อนบ้าน ครู ถ้ามีใครมาทำแบบนั้นให้พูดว่า “ไม่ได้” หรือ “หยุด” ด้วยน้ำเสียงจริงจัง ไม่ต้องเกรงใจ ให้เด็กเชื่อในความรู้สึกตัวเอง เมื่อรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ รู้สึกแปลกๆ และสอนให้เด็กหลีกเลี่ยงสถานการณ์ล่อแหลม เช่น ที่เปลี่ยว ไม่อยู่กับบุคคลต่างเพศสองต่อสอง ไม่คุยกับคนแปลกหน้า  
  2. Go! สอนให้เด็กหนี หรือออกมาจากจุดนั้นโดยเร็ว
  3. Tell! สอนให้เด็กบอกพ่อแม่ผู้ ปกครอง หรือคนที่ไว้ใจทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนั้นเด็กมักถูกขู่ว่าไม่ให้บอกใคร พ่อแม่อาจสอนว่า “ถ้ามีใครมาทำแบบนั้นกระซิบบอกพ่อแม่เบาๆได้ เขาไม่รู้หรอก ยังไงพ่อแม่จะช่วยปกป้องไม่ให้ใครมาทำอะไรลูกได้”
ในต่างประเทศสอนเด็กเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศอย่างจริงจังในชั้นเรียน ตั้งแต่อนุบาล ทั้งเรื่องอวัยวะที่เป็นจุดสงวน และทักษะการเอาตัวรอด ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่บรรจุเรื่องนี้ในบทเรียน เว้นแต่บางโรงเรียนที่มองเห็นความสำคัญ และปรับปรุงหลักสูตร เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก  

ส่วนพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กไว้ใจมากที่สุด หนีไม่พ้นพ่อแม่ผู้ปกครอง การแสดงความรักในครอบครัวเป็นเรื่องที่ดี แต่พึงระลึกเสมอว่าต้องไม่ละเมิดสิทธิในร่างกายของเด็ก  

การสอนลูกให้หวงเนื้อตัวร่างกายของตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก จากการทำให้เห็น เป็นให้ดูของพ่อแม่และครอบครัวจนกลายเป็นวิถีชีวิต ยิ่งทำให้เด็กซึมซับการเคารพสิทธิในร่างกายของตัวเอง เพราะยังมีเด็กจำนวนไม่น้อย ไม่เข้าใจว่าการกระทำแบบไหนคือกำลังถูกล่วงละเมิด และพ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกต และพูดคุยกับเด็ก รับฟังด้วยความตั้งใจโดยไม่ตัดสิน ทำให้เด็กสบายใจที่จะเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง เมื่อเด็กเกิดความเข้าใจ ไม่เพียงป้องกันเด็กถูกล่วงละเมิดจากผู้อื่น แต่ยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กเคารพสิทธิในร่างกายของผู้อื่น และให้เกียรติผู้อื่นอีกด้วย 
 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์