‘เหตุยิงกลางพารากอน’ กับการถอดบทเรียนไม่รู้จบ

4 ต.ค. 2566 - 02:51

  • ถอดความนัยที่ซ่อนอยู่จาก ‘เหตุยิงกลางพารากอน’ ผ่านปุจฉาที่ตั้งกับภาครัฐและสถาบันครอบครัว ว่าด้วยเรื่อง 'การสางปมที่เหมาะสม' อาจดีกว่า 'การถอดบทเรียนแบบไม่รู้จบ'

Summary-of-the-shooting-siam-paragon-SPACEBAR-Hero.jpg

มิผิดแผกหากจะกล่าว ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงหัวค่ำวานนี้ (3 ตุลาคม 2566) ว่าเป็นเหตุการณ์สร้างความสะเทือนขวัญต่อชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะเมื่อเหตุเกิดขึ้นที่  ‘สยามพารากอน’ ห้างสรรพสินค้าเบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย  บาดเจ็บอีก 3 ราย โดยมีผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี เท่านั้น 

แม้ตัวเลขการสูญเสียจะดูน้อยกว่าเหตุการณ์ครั้งที่ผ่านๆ มา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมควรค่าแก่การ ‘ถอดบทเรียน’ แม้ที่ผ่านมาจะเกิดกระบวนการสังเคราะห์ และหาแนวทางป้องกันเหตุจากภาครัฐ มาแล้วหลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม

ในขณะที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงงานเขียนชิ้นนี้อยู่อย่างระมัดระวัง อยากชวนผู้อ่านขบคิดไปพร้อมๆ กัน ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นต้องโฟกัสต่อจากนี้

ไทม์ไลน์เหตุการณ์

สิ่งสำคัญของการถอดบทเรียน คือการสังเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเป็นเหตุที่ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง จึงขอหลีกเลี่ยงพฤติกรรมและไทม์ไลน์โดยละเอียด เพื่อมิให้เกิดการเลียนแบบ 

ตามรายงานจากสื่อมวลชนภาคสนามหลายสำนัก ระบุว่า ผู้ก่อเหตุเดินทางเข้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในช่วงเวลา 15.35 น. ก่อนจะเริ่มก่อเหตุในเวลา 16.10 น. บริเวณชั้นเอ็ม โดยใช้เวลากระทำการราว 1 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถเข้าควบคุมตัวได้ ภายในร้านค้าแห่งหนึ่ง บริเวณชั้น 3 

โดยมีการให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดย ‘พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เดินทางมายังจุดเกิดเหตุในเวลาต่อมาว่า เบื้องต้นรับรายงานระบุ  ผู้ก่อเหตุมีประวัติทางจิตเวช และไม่ได้ทานยา พร้อมทั้งมีอาการทางประสาทในระหว่างก่อเหตุ ส่วนปืนที่ใช้ก่อเหตุ เป็นปืนแบลงค์กัน ซึ่งต้องมีการสอบสวนต่อว่า หาซื้อหามาจากที่ไหน  

ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน ได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของผู้ก่อเหตุ ที่พักอาศัยอยู่ย่านบางแค พบเครื่องกระสุนปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืนหลายชิ้น ประกอบด้วย  

  1. ปลอกกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 7 ปลอก  
  2. เครื่องกระสุนปืนขนาด 5.56 จำนวน 3 นัด  
  3. เครื่องกระสุนปืนขนาด .45 จำนวน 1 นัด  
  4. ปลอกกระสุนปืนลูกซอง จำนวน 5 ปลอก  
  5. ปลอกกระสุนปืนขนาด .357 จำนวน 2 ปลอก 
  6. ปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 1 ปลอก 
  7. เครื่องกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 1 กล่อง (49 นัด) 
  8. สิ่งเทียมอาวุธปืนพกสั้นสีเงิน จำนวน 1 กระบอก 
  9. ซองกระสุน หรือ แม็กกาซีน สิ่งเทียมอาวุธปืนสีดำ จำนวน 1 อัน 
  10. แผ่นกระดาษเป้ายิงปืน จำนวน 1 แผ่น

บันไดขั้นถัดไป

เหตุการณ์สร้างความผวาในลักษณะดังกล่าว เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ และจากสิ่งที่เกิดขึ้นกลางห้างสยามพารากอน ชี้ชัดเจนว่า เยาวชนมีส่วนร่วมกับการกระทำความผิดชนิดรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน 

แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปหรือข้อมูลที่ระบุถึงแรงจูงใจอย่างเป็นทางการ (มีแต่เพียงการคาดเดาและเชื่อมโยงของผู้คนบนโลกออนไลน์) แต่สิ่งที่เป็น ‘บันไดขั้นถัดไป’ คือกระบวนการทางกฎหมาย ที่ยังถูกตั้งคำถามต่อว่าเหตุร้ายในลักษณะดังกล่าวจะจบลงอย่างไร 

ในเมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ที่ระบุว่า หากผู้กระทำความผิดมีอายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิด ‘ไม่ต้องรับโทษ’ แต่ให้ใช้วิธีการสำหรับเด็ก คือ การว่ากล่าวตักเตือนหรือส่งไปยังสถานพินิจฯ และหากปรากฏว่าในขณะกระทำความผิด เด็กมีอาการทางจิตประสาท ไม่สามารถบังคับหรือควบคุมตัวเองได้ ก็ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ด้วย  

อย่างไรก็ดี ในส่วนคดีความทางแพ่ง หากมีการสอบสวนแล้วพบว่า ‘ผู้ปกครอง’ มีความบกพร่องในการเลี้ยงดู ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมการก่อเหตุ อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ต้องชดใช้เป็นค่าสินไหมแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต 

ทั้งหมดทั้งมวลคงต้องติดตามกันต่อไป ว่าอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะมีกระบวนการจัดการที่ให้ความเป็นธรรมกับทั้ง ‘ผู้เสียหาย’ (ผู้เสียชีวิตและครอบครัว) และ ‘ผู้ก่อเหตุ’ อย่างไร 

แต่ที่สำคัญการที่ ‘เด็กวัย 14 ปี’ ยอมมอบตัวเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ให้เกิดการสังเคราะห์ความผิดพลาด เพื่อนำมาสู่การป้องกันและแก้ไขในอนาคตได้

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อว่าการประณาม หรือการเผยแพร่ข้อมูลผู้กระทำความผิด ในลักษณะเพื่อความเมามันไม่ใช่ทางออก แต่จะยิ่งเป็นการตอกย้ำ และส่งเสริมให้เกิดอาญชกรรมเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง ไม่ได้ต่างอะไรกับการ ‘ส่งต่อความรุนแรงสู่สังคม’

ขอให้ภาครัฐจริงจังกับการกวดขัน และการเตรียมแผนเผชิญเพื่อป้องกันเหตุร้าย (ที่ไม่คาดฝัน) และให้ความสำคัญในเชิงนโยบายและปรับแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อาจส่งผลต่อการก่อเหตุ เพื่อลดอาชญากรรมอย่างจริงจัง

ขอให้สถานบริการและศูนย์การค้า หรือสถานที่แห่งหนใดก็ตามที่เสี่ยงกับการเผชิญเหตุ รัดกุมกับการดูแลรักษาความปลอดภัยในทุกมิติ  

พร้อมกันนี้ขอฝากย้ำถึงครอบครัวและผู้ปกครอง ให้ดูแลบุตรหลานของทุกท่านด้วยกระบวนการที่เหมาะสม คอยเป็นปราการที่สร้างความเข้มแข็งแบบถูกต้อง เพราะ ‘ครอบครัว’ คือสถาบันหลักในการผลิตพลเมืองที่ดีออกสู่สังคม    

ท้ายที่สุด ขอแสดงความเสียใจกับผู้อยู่เบื้องหลัง การจากไปของคนที่ท่านรัก  

ด้วยความอาลัยอย่างเต็มใจ (และจริงใจ)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์