พายุ ‘โคอินุ’ ซึ่งหมายความว่า ลูกสุนัข ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว สร้างความวิตกให้คนไทยหลังมีข่าวแชร์ว่าจะเดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้ไทยฝนตกหนักในช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม ขณะที่หน้าเว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศคาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 2 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2566 (ออกประกาศ 2 ตุลาคม 2566 12:00 น.) ว่า “ พายุไต้ฝุ่น ‘โคอินุ’ บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 4 – 5 ต.ค. 66 คาดว่า ในช่วงวันที่ 6 – 7 ต.ค. 66 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง”
คาดการณ์พายุล่วงหน้ากี่วันถึงแม่น
การประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาล่าสุด ทำให้ชัดเจนแล้วว่า พายุไต้ฝุ่น ‘โคอินุ’ ไม่มีแนวโน้มเข้าไทย แต่สังคมอาจตั้งคำถามว่ามีความแม่นยำมากน้อยแค่ไหน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการคาดการณ์ว่าพายุจะเข้าไทยช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม
นายสุรพงษ์ สารปะ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่า การคาดการณ์ผลกระทบของพายุสามารถทราบล่วงหน้าได้จากแบบจำลอง ในช่วง 7-10 วัน หรือ 10-15 วัน คือมีข้อมูลว่าแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้น จากเทคโนโลยีดาวเทียม และคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ถูกต้อง 100%
เนื่องจากพายุมีการเปลี่ยนแปลงสูง จากปัจจัยอากาศที่มีอิทธิพลให้เส้นทางพายุและความรุนแรงเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ซึ่งทิศทางการเคลื่อนตัวผันแปรได้ทุกวัน และเปลี่ยนได้เป็นรายชั่วโมง เพราะฉะนั้นการติดตามพายุจึงต้องดูข้อมูลอัพเดทจากแบบจำลองทุก 3 - 6 ชั่วโมงเลยทีเดียว
อย่างพายุไต้ฝุ่น ‘โคอินุ’ ลูกนี้ที่เดิมอาจมีการดูแบบจำลองไว้ว่ามีแนวโน้มเข้าไทย แต่กลับมีปัจจัยเข้ามาส่งผลให้ทิศทางเปลี่ยนไปคือ แนวปะทะอากาศ ที่อยู่ใกล้กับประเทศญี่ปุ่น ดึงให้ตัวพายุขึ้นเหนือมากขึ้น และมวลอากาศเย็นที่ลงมาต่ำถึงบริเวณประเทศจีนตอนล่าง จะทำให้พายุ ‘เหี่ยว’ หรืออ่อนกำลังลงได้ เพราะมวลอากาศเย็นเป็นอากาศแห้ง ทำให้ไม่มีความชื้นมากพอที่จะเข้าไปที่ตัวพายุ และปัจจัยอื่นที่จะส่งผลต่อพายุได้ ก็คือการเกิดของพายุลูกใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ขณะนี้ยังไม่พบ
ประมาทไม่ได้ ไทยยังเจอฝนตกหนักต่อ
แม้ว่าพายุไต้ฝุ่น ‘โคอินุ’ ไม่เข้าไทย แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่กำลังส่งผลกระทบให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในช่วงนี้ คือ ‘ร่องมรสุม’ ที่ยังคงพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ทำให้ยังต้องระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากในระยะนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้