ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาต่างสถาบัน ที่กลับมาร้อนระอุในหน้าข่าวอีกครั้ง นำมาสู่การตั้งคำถามว่าแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคืออะไร หลังภาครัฐมีแนวคิดนำวิชาประวัติศาสตร์ จริยธรรม และหน้าที่พลเมือง กลับเข้าสู่หลักสูตร เพื่อหวังแก้ปัญหาดังกล่าว
เรื่องนี้สเปซบาร์ได้พูดคุยกับ ‘ปรวี ศรีสง่า’ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีมีนบุรีโปลีเทคนิค อุปนายกสมาคมอาชีวะเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มองว่าใน 3 วิชานี้ วิชาที่คิดว่าน่าจะช่วยลดปัญหาได้บ้าง คือวิชาจริยธรรม และสถานการณ์ตอนนี้คงไม่เรียกว่าตีกันแล้ว ต้องเรียกว่าเป็นการลอบทำร้าย เพราะเด็กมีพฤติกรรมหลบเลี่ยงการถูกตามจับ ด้วยการลอบทำร้าย แทนการยกพวกตีกัน ที่สืบหาตัวคนทำได้ง่าย
— แก้ปัญหาผิดจุด 10 ปี ก็แก้ไม่ได้ —
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานี้ ‘ปรวี’ ย้ำว่าต้องแก้ให้ถูกจุด และต้องย้อนไปดูที่ต้นเหตุ เพราะอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมาหลายสิบปี โดยที่ยังแก้ไม่ได้ก็เพราะแก้ไม่ถูกจุด ซึ่งปัญหาที่พูดถึงคือการปลูกฝังค่านิยมบางอย่างไม่ดี จากกลุ่มคนบางกลุ่ม
“ต้องไปดูที่ต้นเหตุก่อน เเต่อาจหายากหน่อย เพราะบางคนมีหน้าที่การงานที่ดี มันมีแหละคนที่รักโรงเรียนเก่า สนับสนุนให้ทุนน้อง แต่บางทีมันกลายเป็นดาบสองคม เพราะมันอาจไม่ใช่ทุนการศึกษาก็ได้ เราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นต้องดูว่าเขาส่งเสริมหรือดูแลรุ่นน้องยังไง ในสายอาชีวะมีระบบโซตัส เขาปลูกฝั่งอะไร ถ้าหยั่งรากลึกถึงตรงนี้ได้ มันก็พอจะคุยกันได้ แต่หลายๆ ต้องร่วมกันแก้ไข”
และทางมีทางเดียวที่จะช่วยได้ คือ ต้องปลูกฝั่งกันใหม่ และสร้างความเข้าใจว่าการเข้ามาเรียนอาชีวะ คือการมาเรียนเพื่อเอาอาชีพ ไม่ได้มาเรียนเพื่อทำไม่ดี หรือเพื่อเอาศักดิ์ศรีที่ยึดไปจนตาย
— เด็กที่หาตัวตนไม่เจอเสี่ยงถูกครอบงำได้ง่าย —
‘ปรวี’ ยังอธิบายว่า ในฐานะที่เขาเป็นผู้บริหารวิทยาลัยฯ กลุ่มเด็กที่น่าห่วงและเสี่ยงที่จะถูกครอบงำไปในทางที่ไม่ดีได้ง่ายที่สุด คือ ‘เด็กที่หาตัวตนไม่เจอ’ ส่วนคนที่มีเป้าหมายชัดเจนว่ามาเพื่อเรียนให้จบแล้วจะมีงานทำคนกลุ่มนี้จะไปได้ดี
— เพิ่มบทลงโทษครอบครองอาวุธ —
อีกปัญหาที่ควรเร่งแก้ไข คือ การลดการเข้าถึงอาวุธ เพราะปัจจุบันการเข้าถึงปืนและอาวุธทำได้ง่ายมาก ทั้งสั่งซื้อออนไลน์ หรือประดิษฐ์ขึ้นเอง ดังนั้นภาครัฐควรกำหนดบทลงโทษให้แรงขึ้น และควรลดการเข้าถึงอาวุธให้เข้มข้นกว่านี้ เพราะธรรมชาติของเด็กคืออยากลอง ดังนั้นแน่นอนว่าเมื่อมีของอยู่ในมือแล้ว ย่อมอยากเอามาลองใช้
— ครอบครัวสำคัญและทุกฝ่ายต้องช่วยกัน —
‘ปรวี’ ยังมองว่าปัญหายาเสพติด เป็นหนึ่งในเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งปราบปราม เพราะเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับปัญหานี้เช่นกัน รวมถึงครอบครัวของเด็ก ถือว่ามีบทบามสำคัญในการดูแลเด็ก เพราะปัญหาหลายครั้งมักเริ่มจากที่บ้านก่อน
พร้อมยกตัวอย่างว่าที่วิทยาลัยที่เขาดูแล มีระบบติดตามและยับยั้งการยั่วยุจากเด็กต่างสถาบัน และสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็ก เช่น การเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน หากสามารถดูแลจัดการปัญหาภายในได้ ก็ส่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง
ส่วนการดูแลนอกสถาบัน ต้องพึ่งพาตำรวจให้ช่วยดูแลความปลอดภัยและระงับเหตุ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือเรากำลังเล่นกับอารมณ์วัยรุ่น เรื่องที่เราทำอาจเเก้ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เเต่เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันจะทำให้ปัญหาบรรเทาลงได้
— เติร์ดปาร์ตี้สำคัญ —
‘ปรวี’ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในภาคอาชีวะศึกษาจะมีศูนย์ดูแลความปลอดภัย ที่คอยเป็นตัวกลางพูดคุยกับวิทยาลัยที่มีประเด็นกันได้ แต่ในส่วนที่เป็นข่าวตอนนี้เป็นเรื่องของระดับอุดมศึกษาฯ ส่วนตัวไม่มั่นใจว่าเขาจัดการกันอย่างไร เมื่อเจอเด็กต่างสถาบันมีปัญหากัน แต่หากไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาช่วยพูดคุยก็อาจกลายเป็นปัญหาได้
แต่ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เราไม่รู้มันอยู่หลังฉาก เราไม่เคยไปเปิดปมมัน ถ้าเรารู้ลึกถึงตรงนี้โอกาสที่จะบรรเทาหรือลดเป็นไปได้ อย่างที่ตำรวจบอกว่าเรารู้แค่ปลายเหตุ ต้นเหตุคืออะไร ต้องรู้ให้ได้ก่อนถึงจะเเก้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เด็กตีกัน-ไม่ใช่เด็กเรียน เพิ่มวิชาเรียนก็ช่วยไม่ได้