เฝ้าระวังครัสเตอร์ ‘แอนแทรกซ์’ จ.มุกดาหาร สัมผัสเสี่ยงสูง 247 คน

1 พ.ค. 2568 - 10:28

  • ‘สาธารณสุข’ เฝ้าระวังครัสเตอร์ ‘แอนแทรกซ์’ จ.มุกดาหาร สัมผัสเสี่ยงสูง 247 คน หลังเสียชีวิต 1 คน เหตุชำแหละ-แจกจ่าย ‘เนื้อวัว’ งานบุญผ้าป่าในหมู่บ้าน

Anthrax-Mukdahan-Province-SPACEBAR-Hero.jpg

กระทรวงสาธารณสุขเผย พบผู้เสียชีวิตจากโรคแอนแทรกซ์ในจังหวัดมุกดาหาร โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงถึง 247 คน หลังจากมีการชำแหละและแจกจ่ายเนื้อวัวในงานบุญผ้าป่าในหมู่บ้าน ผู้เสียชีวิตเป็นชายวัย 53 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้าง เริ่มมีตุ่มแผลที่มือขวาเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2568 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันที่ 27 เม.ย. ด้วยอาการแผลที่มือมีสีดำชัดเจน ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ขวาโต และมีอาการหน้ามืด ชักเกร็ง ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ Bacillus anthracis ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรกซ์ จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น คาดว่าผู้เสียชีวิตติดเชื้อจากการชำแหละวัวในงานบุญผ้าป่า และมีการนำเนื้อวัวที่ชำแหละไปแจกจ่ายให้รับประทานกันภายในหมู่บ้าน

Anthrax-Mukdahan-Province-SPACEBAR-Photo01.jpg

ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรคจากกรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทีมปศุสัตว์ ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคเบื้องต้น พบผู้สัมผัสจำนวน 247 คน แบ่งเป็นผู้ที่ชำแหละวัว 28 คน และผู้ที่บริโภคเนื้อวัวดิบ 219 คน ได้ให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่

Anthrax-Mukdahan-Province-SPACEBAR-Photo04.jpg

ข้อมูลเกี่ยวกับโรคแอนแทรกซ์

โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและสามารถก่อให้เกิดโรคได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี แหล่งรังโรคหลักของเชื้อคือสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ และแกะ

การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น การชำแหละเนื้อสัตว์ การบริโภคเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก หรือการสัมผัสกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีเชื้อ

Anthrax-Mukdahan-Province-SPACEBAR-Photo02.jpg

คำแนะนำสำหรับประชาชน

-หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก

-หากพบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ ห้ามสัมผัสหรือชำแหละซากสัตว์ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทันที

-หากมีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วยแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ แผลที่ผิวหนัง หายใจลำบาก ควรรีบพบแพทย์ทันที

โรคแอนแทรกซ์สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

Anthrax-Mukdahan-Province-SPACEBAR-Photo03.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์