ขีดเส้น 7-10 วัน! มอบ 5 กระทรวง คุมโรงงานพลุ ปรับแก้ประกาศป้องกันเหตุสลดซ้ำ

19 ม.ค. 2567 - 09:52

  • ‘สมศักดิ์’ มอบ 5 กระทรวงคุมโรงงานพลุ ปรับแก้ประกาศป้องกันเหตุสลดซ้ำ

  • ขีดเส้น 7-10 วัน ต้องส่งกลับ ก่อนเคาะส่งนายกฯ

  • พร้อมเร่งรัดหน่วยงานสรุปผลเสียชีวิต หวังเบิกเงินเยียวยาให้รวดเร็ว

Assigning 5 ministries to revise announcements regulating firework factories-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ โรงงานผลิตพลุระเบิด​ในพื้นที่ ต.ศาลาขาว จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ภาครัฐจึงจำเป็นต้องขยับตัวเพื่อวางแนวทางป้องกันเหตุสลดที่อาจเกิดขึ้นอีก หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อลดดีกรีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีที่เกิดขึ้น ในวันนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ สมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายปกครองท้องที่ จึงมีการประชุมร่วมกันถึงแนวทางการบริหารจัดการ การอนุญาตให้ทำและค้าดอกไม้เพลิง การเยียวยา และแนวทางการแก้ไขในอนาคต

สมศักดิ์ นำแถลงหลังการเสร้จสิ้นการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้แนวทางและข้อห่วงใย เพื่อให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำเติม ทั้งในเรื่องพลุ และสถานที่เก็บวัตถุอันตราย ซึ่งมีข้อสรุปการแก้ปัญหาที่จะบูรณาการทำงานไม่ให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีก

ในเรื่องของการเยียวยา หากยังไม่ได้ใบมรณบัตรครบถ้วน จะยังไม่สามารถเยียวยาได้ครบทุกคน ส่วนการให้คำปรึกษาเรื่องผู้จัดการมรดก เพราะเงินหรือทรัพย์สินที่จะได้จากหน่วยงานต่างๆ แต่ละรายจะได้ไม่เท่ากัน หากบางคนมีบุตรยังเรียนหนังสืออยู่อายุไม่เกิน 25 ปี อาจได้อีก 5 หมื่นบาท หรือบางคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว อาจได้เพิ่มประมาณ 3 หมื่นบาท และส่วนที่มีความล่าช้าอยู่อีกส่วน คือการตรวจดีเอ็นเอ เพราะสภาพร่างบางรายไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งเราก็อยากให้เร็ว แต่ยังติดเรื่องการรอตรวจดีเอ็นเอ เพราะนายกฯ เป็นห่วงเรื่องการชดเชย จึงได้เร่งรัดมา

ส่วนการบูรณาการกฎหมายว่าจะแก้ปัญหาในอนาคต เนื่องจากระยะหลัง เหตุโรงงานพลุระเบิดเกิดขึ้นทุกปี จากการตรวจสอบพบว่า หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องมี 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอตสาหกรรม แต่ประกาศที่ออกมาเป็นประกาศรวม ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรมีการปรับประกาศของทั้ง 5 กระทรวงหลัก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดูประกาศ และจัดทำร่างกฎหมายเพื่อให้ส่วนรวมได้พิจารณาอีกครั้ง ว่าโรงงานประเภทที่มีกำลังน้อยกว่า 50 แรงม้า หรือคนงานน้อยกว่า 50 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายในการควบคุมของกระทรวงอุตสากรรม ก็ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปปรับร่างกฎหมายว่าจะควบคุมอย่างไร ให้สอดคล้องความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้เวลา 7-10 วัน ให้ส่งกลับมาที่ผม เพื่อที่ผมจะส่งให้นายกฯพิจารณา

สมศักดิ์ เทพสุทิน

เมื่อถามว่า จะมีการหารือกับกระทรวงแรงงานในการพิจารณาทำประกันชีวิตให้คนงานในโรงงานพลุหรือไม่ เนื่องจากมีความเสี่ยง สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เคยคุยแล้ว แต่จะฝากผู้เกี่ยวข้องไปดูว่า จะขัดกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่อย่างไร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมวันนี้ด้วย แต่ก็มีการฝากเรื่องไปแล้ว
 
ด้านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เราดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกี่ยวกับโรงงาน โรงประกอบการ สถานที่จำหน่าย และสถานที่เก็บ ว่าต้องมีลักษณะอย่างไร รวมถึงการกำกับดูแลต่างๆเป็นไปตามประกาศตั้งแต่ปี 2547 ดังนั้น รองนายกฯ จึงมีดำริให้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทาง 5 กระทรวง จะเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมวันนี้

ส่วนการปรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 ปัจจุบันจะครอบคลุมเฉพาะโรงงานเกิน 50 คน และเกิน 50 แรงม้า ซึ่งขณะนี้ ในประเทศมี 8 โรงงาน ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ส่วนอีก 42 โรงงาน ไม่ได้อยู่ในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม การจะเข้าไปตรวจสอบ เราจึงจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าตรวจสอบ 42 โรงงาน ที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ควบคุมไม่ถึง

ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ขณะที่รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ในส่วนของกรมการปกครอง รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งพลุเป็นส่วนประกอบของดอกไม้เพลิง นอกจากนี้ ยังมีอนุบัญญัติเกี่ยวกับดอกเพลิงหลายฉบับ ที่กำหนดการจัดเก็บพลุ รวมถึงมีหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทย ได้กำชับไปยังนายอำเภอ ให้ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย สถานที่จัดเก็บ และโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง ซึ่งจากข้อมูลของกรมการปกครอง มีผู้ขออนุญาต จำหน่าย ผลิต นำเข้า ดอกไม้เพลิง 1,200 กว่าแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าเฉพาะฤดูกาล ส่วนโรงงานผลิตมีจำนวนน้อยมาก

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือสั่งการไปยังนายอำเภอ ให้ออกไปตรวจตราตามอนุบัญญัติที่ออกตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมกับประกาศของ 5 กระทรวงข้างต้น ส่วนที่ต้องปรับปรุง ต้องดูปัจจัยหลายเรื่อง ทั้งจำนวนสารเคมี ระยะห่างจากชุมชนในสถานที่ตั้ง เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) พบว่า ในส่วนของโรงงานพลุที่ระเบิดนพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ในส่วนของโรงงานมีหลายสัดส่วน ทั้งส่วนการผลิต ครัวทำอาหาร รวมถึงที่จัดเก็บสารเคมีในการทำพลุ ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ขณะเดียวกัน ยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ อาทิ โทรศัพท์มือถือ พัดลม เครื่องปรับอากาศอยู่ในบริเวณเดียววัน จึงอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามาจากสาเหตุใด ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยพิสูจน์หลักฐานซึ่งเราต้องรอ แต่มองว่าในบริเวณดังกล่าวไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้อยู่

นอกจากนี้ จะให้นายอำเภอไปตรวจสอบทุกแห่งที่มีการทำพลุ ทั้งที่ขึ้นทะเบียน และไม่ขึ้นทะเบียน บางที่ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพราะคิดว่าใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิตพลุ ขณะที่โรงงานขนาดเล็กกฎหมายก็เอื้อมไม่ถึงก็ต้องไปแก้กฎหมาย ส่วน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขณะนี้ ก็อยู่ระหว่างการแก้ไข ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาต และการเพิ่มบทลงโทษ

สมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์