คดีเขยชาดาถึงไหนแล้ว?

3 พ.ย. 2566 - 08:40

  • ‘คดีเขยชาดา’ ถูกจับปมเรียกรับสินบนตอนนี้ถึงไหนแล้ว? และนโยบายปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลจะกำราบมาเฟียท้องถิ่นได้จริงหรือ?

chada-son-in-law-nacc-anti-corruption-thailand-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์แล้วที่ ‘ลูกเขยชาดา’ หรือ ‘วีระชาติ รัศมี’ นายกเทศบาลตำบลตลุกดู่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี กับพวก ได้รับการประกันออกไปในชั้นสอบสวน ด้วยการยื่นหลักทรัพย์คนละ 4 แสน พร้อมใช้ตำแหน่งหน้าที่ยื่นขอประกันตัวออกไป หลังถูกตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.-ป.ป.ช. และชุดปฏิบัติการหนุมานกองปราบ เปิดปฏิบัติการบุกชาร์จจับตัว เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังพบข้อมูลว่า ‘วีระชาติ’ กับพวกมีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อน้ำประปา

ก่อนที่ต่อมา ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จะใช้บารมีสั่งให้ ‘วีระชาติ’ ลาออกจากตำแหน่งนายกเทศบาลตำบลตลุกดู่ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 66 ขณะที่กระบวนการทางกฎหมายยังคงเดินหน้าต่อไป

1.png
Photo: ‘พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว’ ผบก.ปปป. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.-ป.ป.ช. และชุดปฏิบัติการหนุมานกองปราบ แถลงข่าวจับกุม ‘วีระชาติ รัศมี’ หรือ ‘ลูกเขยชาดา’ วันที่ 24 ต.ค.66

— คดีเขยชาดาถึงไหนแล้ว —

ความคืบหน้าล่าสุดของคดีนี้ สเปซบาร์ได้สอบถามไปยัง ‘พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว’ ผบก.ปปป. ได้รับคำตอบว่าเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการทำงานของพนักงานสอบสวน 

ขณะที่ ‘ภูเทพ ทวีโชติธนากุล’ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คดีนี้พนักงานสอบสวน บก.ปปป. มีเวลารวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานประกอบสำนวนคดีให้เเล้วเสร็จ ก่อนส่งต่อมาให้ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน เพื่อที่ ป.ป.ช. จะพิจารณาว่าคดีนี้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะข่มขู่พยานหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ และพิจารณาว่าข้อมูลที่รวบรวมมามีความละเอียด รอบคอบ และเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ป.ป.ช. เพื่อดูว่า ป.ป.ช. จะรับคดีนี้มาดูแลเอง หรือให้ตำรวจ บก.ปปป. เป็นผู้รับผิดชอบเหมือนเดิม 

ส่วนกรอบเวลาพิจารณาของ ป.ป.ช. หลังได้รับสำนวนแล้ว ‘ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.’ อธิบายว่าใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 2-5 วัน ก็จะทราบผลแล้ว 

— คดีทุจริตในหน่วยงานรัฐแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง —

‘ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.’ ยังบอกว่า ปัจจุบัน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารงานของ ‘ผู้บริหารท้องถิ่น’ ค่อนข้างเยอะ มีทั้งส่วนที่ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นคนเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์เอง และคนใกล้ชิดผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้เรียกรับเงินและผลประโยชน์ แต่เรื่องที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับงบประมาณ เช่น ทำถนน เสาไฟฟ้า ก่อสร้างอาคาร 

— แจ้งเบาะแสทุจริตอย่างไรให้ปลอดภัย —

‘ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.’ แนะนำว่า ป.ป.ช. มีกฎหมายคุ้มครองพยานที่มีความรัดกุมและปลอดภัย อยากให้มั่นใจว่าต่อไปนี้กระบวนการปราบปรามการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกรับสินบนจะมีการดำเนินการที่รวดเร็ว และเด็ดขาดมากขึ้น

ดร.มานะ 1.png
Photo: ‘ดร.มานะ นิมิตรมงคล’ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

— ถ้าการเมืองดี คงไม่มีการโกง? —

อีกประเด็นที่พ่วงตามกันมากับคดีลูกเขยชาดา คือการตั้งคำถามกับนโยบายการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลและมาเฟียในพื้นที่ต่างๆ ที่กระทรวงมหาดไทย กำลังดำเนินการเร่งล้อมคอก หลังเกิดเหตุ ‘กำนันนก’ แม้นโยบายนี้จะถูกตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยภาพลักษณ์ที่ยากจะปฏิเสธว่าผู้นำทัพอย่าง ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รมว.มหาดไทย  และ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รมช.มหาดไทย ก็เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองเช่นกัน เมื่อเกิดคดีลูกเขยชาดาขึ้นมา จึงยิ่งทำให้นโยบายนี้ถูกมองว่าเป็นนโยายที่มีแต่ลมปาก ทำไม่ได้จริง 

เรื่องนี้ ‘สเปซบาร์’ ชวน ‘ดร.มานะ นิมิตรมงคล’ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มาร่วมวิพากษ์นโยบายนี้ ว่าสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่ผลลัพธุ์ในทิศทางใด และสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง 

โดย ‘ดร.มานะ’ มองว่าการปราบปรามและลดจำนวนผู้มีอิทธิพล เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมีหลายรัฐบาลที่จะปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลแต่ยังไม่เห็นผลมากนัก จนมาถึงรัฐบาลนี้ที่มี ‘อนุทินและชาดา’ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลตัวจริง มาถือธงนำเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายนี้ ก็เหมือนเป็นบทพิสูจน์การทำงานของรัฐบาลว่าจะมีความจริงใจแค่ไหน แต่หากทำไม่ได้จริง ถือว่าเป็นคววามล้มเหลวของคุณอนุทินและชาดา ซึ่งโดยปกตินโยบายทำนองนี้หากทำแล้วเห็นผลจริง จะเห็นผลลัพธ์ได้ในช่วง 3 เดือน ถึง 1 ปี หลังมีการประกาศเป็นนโยบาย แต่หากหมดเวลาสร้างภาพสถานการณ์เหล่านี้ก็จะยิ่งเลวร้ายลง

“เปรียบเทียบได้กับช่วง คสช. ที่ผ่านมา เราจเห็นว่าช่วงปี 58-59 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 60 พฤติกรรมเหล่านี้มีจำนวนที่ลดน้อยลง แต่พอเริ่มผ่อนคลาย เครือข่ายเขาเริ่มเรียนรู้แล้ว พฤติกรรมเหล่านี้ก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้นยุคนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากไม่จริงจัง มันก็จะกลับมาเร็ว”

— การทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังพุ่งสูง —

สำหรับสถานการณ์การทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ‘ดร.มานะ’ เปิดเผยว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยดูจากเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่ ป.ป.ช. ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่มาเป็นอันดับ 1 คือเรื่องการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ปัญหานี้ยังคงอยู่ เป็นเพราะผู้มีอำนาจที่จัดการเรื่องนี้ไม่มีความจริงใจในการทำหน้าที่ของตัวเอง 

ประกอบกับตอนนี้ประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาประเทศ ทำให้มีการลงทุนต่างๆ มากมาย ซึ่งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

นอกจากนี้ ‘ดร.มานะ’ ยังเห็นด้วยกับแนวคิดของ ‘พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว’ ผบก.ปปป. ที่เห็นว่า กระทรวงมหาดไทยควรออกระเบียบหรือกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดและอยู่ระหว่างการดำเนินคดีทางกฎหมาย หยุดปฎิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานต่างๆ 

“ คนพวกนี้จะประวิงเวลา โดยใช้ช่องว่างของกฎหมายว่าจะต้องรอให้ ป.ป.ช. ชี้มูลก่อน ต้องรอให้ศาลตัดสินก่อนถึงจะทำนั้นทำนี่ได้ ทางจังหวัดจะปลดออกจากตำแหน่งมันก็ยังมีข้อจำกัดให้โต้แย้งกันมากมาย ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำคดีเบื่อและหมดกำลังใจ ประชาชนสับสน แม้เขาผิดจริง แต่ยังลอยนวลได้ แปลว่าเรื่องของคนโกง เป็นเรื่องของอิทธิพล ประชาชนอย่าไปยุ่งดีกว่า พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการทำลายขบวนการที่จะปกป้องการปกป้องประเทศ ”

‘ดร.มานะ’ ทิ้งท้ายว่า คนโกงไม่ได้กลัวโดนจับ เพราะเขาคิดว่ามีเงิน มีอำนาจ มีอิทธิพล ที่ปิดบังพฤติกรรมของเขาได้ดี ส่วนสิ่งที่คนโกงกลัว คือการถูกยึดทรัพย์ โดนเล่นงาน เพราะฉะนั้นหากเจ้าหน้าที่เอาผิดได้จริง เชื่อว่าจะทลายเครือข่ายเหล่านี้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘ผู้การเต่า’ ยัน ‘คดีเขยชาดา’ ไม่มีมวยล้มต้มคนดู

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์