ไขคำตอบ! โควิด XBB.1.16 น่ากลัวไหน แล้ววัคซีนที่มีอยู่ป้องกันได้หรือเปล่า?

19 เม.ย. 2566 - 07:58

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส เผยโควิด XBB.1.16 ไม่น่ากังวลอย่างที่คิด

  • แนะนำกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน-คนแข็งแรงดี ควรเว้นวรรค 6 เดือนถึง 1 ปี

  • รับฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้อาการโควิดรุนแรงขึ้น

covid-xbb.1.16-center-for-medical-genomics-SPACEBAR-Hero
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย กลับมาอยู่ในช่วงเฝ้าระวังกันอีกครั้ง หลังกระทรวงสาธารณสุขพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดหลังเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสายพันธุ์หลักที่พบในไทยยังคงเป็น ‘เชื้อ XBB’ ที่มีต้นตระกูลมาจากโอมิครอน รองลงมาคือ  XBB.1.5 และ XBB.1.16 ที่เป็นสายพันธุ์ย่อย 

แต่เนื่องจากเจ้า XBB.1.16 มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าสายพันธุ์อื่นในอดีต จึงทำให้มันกลายเป็นที่จับตาของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.66 โดยตอนนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์  XBB.1.16 แล้ว 27 คน แต่จากข้อมูลที่มีพบว่ามันไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เลย   

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายคนอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ‘แล้วมันน่ากังวลแค่ไหนกัน?’ คำถามนี้ทีมข่าว SPACEBAR ไปหาคำตอบมาให้แล้วค่ะ โดย ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า หากมีคะแนนเต็ม 10 อาจารย์ขอให้คะแนนความน่ากังวลของ  XBB.1.16 เพียงแค่ 5 คะแนนเท่านั้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มันได้คะแนนไปแค่ผ่านครึ่ง อาจารย์อธิบายว่าเนื่องจาก WHO ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเชื้อตัวนี้มากนัก เพียงแค่บอกว่าให้เฝ้าระวังเฉยๆ และจากข้อมูลทั่วโลกพบว่าอาการของมันไม่ได้รุนแรงไปกว่าโอมิครอน ที่เป็นต้นตระกูลใหญ่ของมันเลย และหากเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล WHO จะตั้งชื่อเป็นตระกูลใหม่ ไม่เรียกเป็นสายพันธุ์ย่อยที่เป็นจุดๆ แบบนี้  

ส่วนข้อกังวลว่า วัคซีนในปัจจุบันที่มีอยู่ช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงของ XBB.1.16 ได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ศ.ดร.วสันต์  อธิบายว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นวัคซีนไบวาเลนท์ (Bivalent) ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนรุ่นเดิมที่มีหัวเชื้อมาจากไวรัสอู่ฮั่น เพราะมีสองหัวเชื้อ คือ หัวเชื้อจากไวรัสอู่ฮั่นและเชื้อของโอมิครอน ซึ่งจะทำให้ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเราได้ดียิ่งขึ้น 

แล้วเราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไหม? คำถามนี้  ศ.ดร.วสันต์  แนะนำว่าคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่ม 608 ที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และคนที่มีโรคประจำตัว (โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง , โรคหัวใจและหลอดเลือด , โรคไตวายเรื้อรัง , โรคหลอดเลือดสมอง , โรคอ้วน , โรคมะเร็ง , โรคเบาหวาน) ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของเชื้อโควิด ส่วนคนที่แข็งแรงดี อาจจะต้องพิจารณาว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต้องฉีดไหม เช่น ที่บ้านมีผู้สูงอายุหรือไม่ เพราะปัจจุบันจากการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนซ้ำๆ ถี่ๆ ไม่ได้ช่วยให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น แต่กลับทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนล้ามากกว่าเดิม จึงแนะนำว่าสำหรับคนที่แข็งแรงดี อาจเว้นวรรคการฉีดวัคซีนสัก 6 เดือนถึง 1 ปี อีกทั้งการศึกษาผลข้างเคียงจากวัคซีนต้องใช้เวลา 5-10 ปี ดังนั้นเด็กวัยรุ่น หรือ คนที่แข็งแรง อาจจะต้องพิจารณาให้ดีว่าจะฉีดวัคซีนตัวไหนที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด  

อีกข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ประเด็นฝุ่น PM2.5 ที่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับความรุนแรงของอาการโควิด โดยข้อมูลนี้ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์ สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งข้อสังเกตถึงโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ว่าสายพันธ์นี้ไม่ได้ดุร้ายกว่าที่ผ่านมา แต่ที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ คือ PM2.5 ที่ทำร้ายเยื่อบุ ตา ทางเดินหายใจ ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ผสมโรงกับการติดเชื้อทั้งหลาย พร้อมทิ้งท้ายว่าประเทศไทยทำให้เชื้อธรรมดาดูดุร้ายขึ้น 

ประเด็นนี้ ศ.ดร.วสันต์ มองว่ามีเหตุผลที่เป็นไปได้ เพราะฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบที่ปอดหรือระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะทำให้ร่างกายถูกไวรัสเข้าไปโจมตีได้ง่าย และเพิ่มความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปอด ซึ่งตอนนี้ที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี กำลังศึกษาข้อมูลเรื่องความสัมพันธุ์ของฝุ่น PM2.5 กับมะเร็งปอดอยู่  

ส่วนในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 ในปริมาณมากๆ เช่น จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้โควิดมีความรุนแรงมากกว่าในพื้นที่ปกติ ประเด็นนี้ ศ.ดร.วสันต์ มองว่าเป็นไปได้ พร้อมเตือนว่าในพื้นที่มีฝุ่น PM2.5 หนาแน่น ควรสวมหน้ากากอนามัยที่กันฝุ่นได้ด้วยจะดีมาก แต่ไม่ควรสวมนานเกินไปเพราะอาจเป็นลมได้  

สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากนี้อาจจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ศ.ดร.วสันต์  มองว่าอาจจะต้องใช้เวลาเฝ้าระวังอีกต่ออีกสัก 2 สัปดาห์ ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากเห็นทิศทางการระบาดแล้ว เราอาจจะได้เห็นมาตรการอื่นๆ ตามมาด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์