เสียงปืนดัง “ปัง!” ตอนนั้นราว 16:15 น. วานนี้ (3 ตุลาคม) ไม่มีใครคาดคิดว่า จะเกิดเหตุกราดยิงในห้างใจกลางเมืองอย่าง สยามพารากอน
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีคนติด #พารากอน และทวีตภาพเหตุการณ์โกลาหล คนทยอยวิ่งหนีออกมาจากตัวห้าง พร้อมกับทวีตจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า มีคนถือปืนกราดยิง
เมื่อเหตุการณ์เริ่มแน่ชัด #พารากอน ก็ถูกดันขึ้นติดเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย X อย่างรวดเร็ว ภาพชายผมยาว สวมหมวก ใส่เสื้อยืดสีดำ ถือปืน ที่คาดว่าจะเป็นคนร้ายถูกเผยแพร่ พร้อมทวีตให้ข้อมูลว่า มีผู้ถูกยิงเสียชีวิต
สื่อมวลชนทุกสำนักกระโดดเข้ามางับเรื่องนี้นำเสนอข่าว รายงานนาทีต่อนาที บางสำนักจัดไลฟ์สดเพื่ออัพเดท วิเคราะห์สถานการณ์ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจขยับตัวทันที เพื่อเข้าคลี่คลายสถานการณ์
ท่ามกลางฝนตกกระหน่ำ เวลาห้าโมงเย็น นี่คือ BIG TOPIC ของวันนั้นที่ทุกคนจับตา
ถามว่าเรื่องนี้ ใหญ่ และ ร้อนแรง แค่ไหน? ดาต้าบนแพลตฟอร์มใหญ่อย่าง X และ Google Trends น่าจะเป็นตัวชี้วัดที่บอกเราได้ (ข้อมูลอัพเดท วันที่ 4 ตุลาคม เวลา 12.15 น.)

#พารากอน ติดกระแสยอดนิยม (Trending) อันดับ 1 ประเทศไทย มีคนทวีต 4.5 ล้านข้อความ เริ่มติด Trending ราว 18 ชั่วโมงที่แล้ว (ก่อน 17.00 น.)
ข้อมูลจาก trends24.in ระบุว่า #พารากอน ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ X อย่างรวดเร็วแซงทุกเทรนด์ทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ และยังคงครองอันดับ 1 มาจนถึงนาทีนี้
ขณะที่ #siamparagon แฮชแท็กที่คนบางส่วนติดพ่วงกับ #พารากอน เพื่อแจ้งเหตุและอัพเดทสถานการณ์ ติดเทรนด์ด้วยเช่นกัน

ล่าสุด ราวเที่ยงวันของวันนี้ (4 ตุลาคม) #อย่าโทษเกมส์ แรงขึ้นมาติด Top 5 กระแสยอดนิยม หลังมีกระแสตีกลับกรณีเจ้าหน้าที่และสื่อนำเสนอว่า ผู้ก่อเหตุชอบเล่นเกมแนวแบตเทิลรอยัล โดยคนจำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะโยงว่าเหตุกราดยิงมาจากผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนอายุ 14 ปี ติดเกมและชอบเล่นเกมแนวนี้

ขณะที่ Google Trends แสดงให้เห็นการสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับ ‘พารากอน’ พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังเกิดเหตุการณ์กราดยิง

แนวโน้มการค้นหา พารากอน ในประเทศไทย เริ่มเพิ่มขึ้นเวลา 16.20 น. หลังผู้คนเริ่มรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก X และสำนักข่าวนำเสนอสถานการณ์ ก่อนชีพจรความสนใจจะพุ่งสูงสุดในเวลา 16.44 น. และค่อยๆ ลดระดับลงมาเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ตำรวจเข้าจับกุมคนร้ายได้

เมื่อดูการค้นหาทั่วโลก (Worldwide) จะพบแนวโน้มชีพจรความสนใจต่อ Paragon ใกล้เคียงกับไทย จุดแตกต่างมีเพียงช่วงเวลาที่จะดีเลย์กว่าราว 40 นาที โดยดูจากชีพจรความสนใจที่พุ่งสูงสุดตอน 17.24 น. (ขณะที่ไทยเกิดขึ้นตอน 16.44 น.)
ระยะห่าง 40 นาทีมีความเป็นไปได้ว่า มาจากการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศ และการรับรู้ของชาวต่างชาติต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง SCMP (South China Morning Post) สื่อฮ่องกงนำเสนอข่าวกราดยิงที่พารากอน -- Thai teen arrested after shooting at Bangkok's Siam Paragon shopping centre kills 2, including 1 Chinese woman เวลา 17.08 น. (ช้ากว่าสื่อไทยเกือบ 50 นาที) โดยเนื้อหา นอกจากการรายงานและสรุปสถานการณ์แล้ว ตอนท้ายของข่าวได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการกราดยิงในประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจ
ปืนมีอยู่แพร่หลายในประเทศไทย และเหตุการณ์กราดยิงเป็นเรื่องปกติ (common) โดยสาเหตุมาจากความขุ่นเคือง อาชญากรรม การเสพยา แต่หลายครั้งก็มีเหตุจาก ‘รักสามเส้า’
เกือบหนึ่งปีที่แล้ว นับจากเหตุการณ์สังหารหมู่กราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (จ.หนองบัวลำภู) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เหตุการณ์กราดยิงครั้งนี้ ชวนให้ตั้งคำถามถึงการควบคุมอาวุธปืนในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการครอบครองอาวุธปืนสูงที่สุดในภูมิภาค
และอย่าลืมว่า เมื่อปี พ.ศ.2563 อดีตนายทหารบกนายหนึ่งก่อเหตุอาละวาดกราดยิงในห้างแห่งหนึ่งในโคราช มีคนตาย 29 คน และบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน
การตั้งข้อสังเกตของ SCMP ชวนให้ย้อนกลับไปดูดาต้าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ที่ Google Trends จับได้จาก 2 เหตุการณ์กราดยิงในตอนนั้น


เมื่อนำชีพจรความสนใจต่อเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นทั้ง 2 เหตุการณ์มาเทียบกัน จะเห็นว่ามีแนวโน้มการเต้นในลักษณะเดียวกัน คือ ความสนใจพุ่งสูงสุดในช่วงที่เกิดเหตุ ก่อนจะค่อยๆ ลดระดับลงเมื่อเวลาผ่านไป
สำหรับเหตุการณ์กราดยิงล่าสุดที่พารากอน หากดูดาต้าล่าสุด มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ชีพจรความสนใจจะมีแนวโน้มเช่นเดียวกับเหตุการณ์กราดยิงทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่จะมา ‘มุง’ ในเหตุการณ์สำคัญ
แต่สิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา คือการกราดยิงที่ไม่ควรเกิดซ้ำ ผู้มีอำนาจหน้าที่ควรเข้ามาจัดการอย่างจริงจัง เพราะไม่เช่นนั้น โศกนาฏกรรมแบบนี้คงจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ข่าวเหตุการณ์กราดยิงระทึกขวัญ สื่อมวลชนแห่ทำข่าว เจ้าหน้าที่รัฐรุกเข้าจัดการ ผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องเสนอแนะแนวทางต่างๆ นานา นักวิชาการออกมาให้มุมมองความรู้ ประชาชนพากันคอมเมนต์ให้ความเห็นตามความรู้สึกและประสบการณ์ พร้อมกับสื่อทำหน้าที่ด้วยการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ขอให้การสูญเสียครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย” แต่ครั้งสุดท้ายไม่เคยเกิดขึ้นจริง...