'กรมประมง' ยันกฎหมายตอนนี้ ยังชี้ถูกผิด 'บริษัทผู้นำเข้า' ไม่ได้

17 ก.ค. 2567 - 06:41

  • 'กรมประมง' แจ้งดราม่าเอาผิด 'บริษัทผู้นำเข้า' กรณีการระบาด 'ปลาหมอคางดำ'

  • ยันไม่สามารถตีความผิดได้เนื่องจาก 14 ปีก่อน กฎหมายยังไม่ครอบคลุม

  • ชี้เผยกำลังปรับระเบียบใหม่อยู่ มองต้นตอต้องรู้อยู่แก่ใจ รับผิดชอบต่อสังคม

Department-of-Fisheries-Blackchin-tilapia-crisis-SPACEBAR-Hero.jpg

ความคืบหน้าล่าสุด กรณีแก้ไขปัญหาการระบาด 'ปลาหมอคางดำ' มีการจัดงานแถลงข่าวโดยกรมประมง นำโดย 'บัญชา สุขแก้ว' อธิบดีกรมประมง ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์และที่มาของการนำเข้า 

โดย ยืนยันถึงข้อกฎหมายที่บังคับใช้ในช่วงของการนำเข้ารอบนั้นว่า เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์ตรวจสอบเรื่องสุขอนามัยของสัตว์น้ำที่ผู้นำสัตว์น้ำ อันเป็นการควบคุมโรคมิให้แพร่การระบาด พร้อมยืนยันว่า ทางกรมประมงไม่ได้รับเอกสาร หรือหลักฐานการทำลายจากบริษัทผู้นำเข้า 

ส่วนประเด็นการตรวจสอบการทำลาย ทางกรมประมงได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นฟาร์มวิจัย จนได้พบกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท โดยมีการอ้างว่าได้ทำการฝังกลบแล้ว ซึ่ง ณ ขณะนั้นพื้นที่ทำลายซาก ถูกก่อสร้างทับด้วยตึก จึงทำให้กรมประมงทางเจ้าหน้าไม่สามารถตรวจสอบหลักฐานได้  

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่บริษัทผู้นำเข้าไม่ได้มีการส่งข้อมูลการฝังกลบมายังกรม จะมีความผิดหรือไม่ บัญชากล่าวว่า ในฐานะอธิบดีกรมประมงอาจไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นความผิด  เพราะเท่าที่ดูกรมประมงยังไม่มีกฎหมายข้อไหนไปถึง ทำได้แค่เพียงไม่อนุญาตให้นำเข้าอะไรได้อีกต่อไป แต่ยืนยันว่า จะมีการผลักดันให้เกิดการเพิ่มเติมข้อกฎหมาย ที่จะระบุถึงโทษทางแพ่งและอาญา เพื่อเอาผิดกับผู้ที่สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศและพันธุ์ปลาท้องถิ่นในอนาคต 

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ามีบริษัทนำเข้าเพียงบริษัทเดียว ที่มีการขออนุญาตกับกรมประมง และส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเคยมีการส่งออก ทางกรมจะรับไปตรวจสอบข้อมูลอีกที

“เงื่อนไขกฎหมายที่ไล่เลียงมาก็ไม่สามารถตอบตรงๆ ได้ แต่ในใจก็คิดไม่ต่างจากพวกเรา แต่พูดออกมาโดยตรงในลักษณะชี้ชัดไม่ได้ แต่เมื่อถึงวันนึงมันมีหลักฐานทางราชการเพื่อดำเนินการตามกฏหมายก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน”

อธิบดีกรมประมง กล่าว

ส่วนประเด็นการรับผิดชอบของบริษัทผู้นำเข้า ในภาวะที่เกิดวิกฤตการระบาด อธิบดีกรมประมง มองว่า แนวทางการรับผิดชอบ กรณีที่เกิดขึ้น มนุษย์สามารถรับผิดชอบ 2 อย่าง คือ 1) ตามข้อกฎหมายซึ่งก็ต้องดูต่อไป และ 2) ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้เป็นต้นตอ แม้ตอนนี้กฎหมายจะยังไม่ชัดเจน แต่จะต้องมีความจิตสำนึกต่อสังคม เพื่อให้ปัญหาเดินหน้าสู่การแก้ไขได้ 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทางกรมประมงเคยเข้าไปตรวจสอบจุดที่บริษัทผู้นำเข้าอ้างว่า มีการฝังกลบซากหรือไม่ บัญชา กล่าวว่าทางกรมเคยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ และได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของบริษัท ว่าจุดดังกล่าวถูกสร้างตึกทับไว้แล้ว ส่วนจะหลักฐานจะหลงเหลืออยู่หรือไม่ ส่วนตัวไม่แน่ใจ เพราะเวลาผ่านมาหลายสิบปี ซากปลาอาจถูกทับถมโดยสิ่งก่อสร้างย่อยสลายไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ทางกรมประมงได้วางกรอบในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ว่า จะต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เสร็จสิ้นภายใน 15 เดือน ผ่านการปล่อยปลาผู้ล่า ทั้ง'ปลากระพงขาว' และ 'ปลาอีกง' สู่พื้นที่ระบาด รวมถึงการระดมกำลังในการ 'จับปลา' ส่วนแผนงานระยะยาว คาดว่าภายใน 3 ปีต่อจากนี้ จะมีการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ในส่วนการปรับปรุงโครโมโซมปลาหมอคางดำ เพื่อสร้างประชากรปลาหมอข้างดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด เพื่อปล่อยสู่แรงนักธรรมชาติให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติ  เพื่อทำให้ลูกปลาหมอคางดำที่ออกมา เป็นหมัน  ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้ คาดว่า จะเริ่มทยอยปล่อยสายพันธุ์พิเศษนี้จำนวน 50,000 ตัว โดยรายละเอียดยังอยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์