วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันเบาหวานโลก เพื่อสนับสนุนให้มีการรณรงค์ สร้างความตื่นรู้ในระดับโลกถึงโรคเบาหวาน โดยปีนี้ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ออกมาให้ข้อมูลเตือนภัยจากโรคเบาหวาน ข้อมูลที่น่าสนใจมีอะไรบ้างมาดูกัน
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในงานเบาหวานโลก ของ สสส. ว่า สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยทุกๆ 10 คน เป็นเบาหวาน 1 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและควบคุมโรคนี้

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้บางคนมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการกินน้ำตาลเกินความจำเป็น ซึ่งมาจากเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาคือ อาหาร และขนม ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้อ้วนลงพุง ไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนเกิดการอักเสบ หากสะสมเป็นเวลานานจะเสี่ยงป่วยกลุ่มโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวาน
ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล พบคนไทยบริโภคน้ำตาลลดลงจาก 27 ช้อนชา/วัน ในปี 2560 เหลือ 25.2 ช้อนชา/วัน ในปี 2565 แม้ว่าแนวโน้มลดลง แต่ยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน กว่า 4 เท่า

สอดคล้องกับข้อมูลของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เปิดเผยว่า โรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของทั่วโลก และมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเกิดจากการดำเนินชีวิตและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ข้อมูลจาก IDF Diabetes Atlas พบว่า 1 ใน 10 คน ทั่วโลกป่วยด้วยโรคเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 4 ล้านคนต่อปี
คาดว่า ภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และภายในปี 2588 จะเพิ่มมากถึง 783 ล้านคน ผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 90% เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 และเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย
โดย นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนว่า โรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องเผชิญกับความท้าทายในการดูแลตนเองเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม และจัดการกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคเบาหวานขึ้นตา (จอตาเสื่อม)
- เกิดแผลเบาหวานที่เท้า จากการเสื่อมของระบบประสาทรับความรู้สึกและการไหลเวียนโลหิตส่วนปลาย เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและอาจร้ายแรงถึงขั้นตัดเท้า

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ยังเปิดเผยว่า ข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสมจำนวน 3.3 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 มากถึง 1.5 แสนคน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังแนะนำว่า ประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเกณฑ์ปกติของระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรก และรักษาได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค , สสส.