พงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวภายหลังเข้ารายงานความคืบหน้าผลการตรวจสอบกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ว่า
เข้ารายงานใน 3 ประเด็น คือเรื่องการตรวจสอบความเสียหายของอาคาร โดยแบ่งเป็นการคารทั้งของภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยในเบื้องต้น มีการตรวจสอบอาคารภาครัฐใน กทม. 300 กว่าหน่วยงาน, ประมาณ 900 กว่าอาคาร พบว่ามีความเสียหายรุนแรงกระทบต่อการใช้งานเพียง 1 อาคาร คือ อาคารของ สตง.
ส่วนต่างจังหวัดจะเน้นไปที่อาคารโรงเรียน/โรงพยาบาล อาคารราชการ ซึ่งได้มีการตรวจสอบไปแล้ว 3,000 กว่าหน่วยงาน, ประมาณ 9,000 กว่าอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งมีอาคารที่เสียหายและปิดการใช้ 16 อาคาร จากทั้งหมด 76 จังหวัด ซึ่งอาคารที่เสียหายจะเห็นได้ว่ามีน้อยมาก และความรุนแรงระดับที่สามารถซ่อมแซมได้ตามหลักวิชาการก่อนที่จะเปิดบริการให้ใช้
ในส่วนที่เป็นอาคารของเอกชน มีการแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือเป็นอาคาร 9 ประเภท ตามกฎหมายที่ต้องมีการตรวจสอบทุกปี ได้แก่
- อาคารสูง
- อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
- อาคารที่มีการชุมนุมที่มีพื้นที่เกิน 1,000 ตารางเมตร
- โรงมหรสพ
- สถานบริการที่มีพื้นที่มากกว่า 200 ตารางเมตร
- โรงแรมที่เกิน 80 ห้อง อาคารชุด
- หอพักที่มีเนื้อที่เกิน 2,000 ตารางเมตร
- โรงงานที่มีความสูง 1 ชั้นขึ้นไป และมีพื้นที่เกิน 5,000 ตารางเมตร
- ป้ายที่มีความสูงเกิน 15 เมตร
โดยอาคาร 9 ประเภทเหล่านี้ โดยปกติต้องมีการตรวจสอบทุกปี โดยผู้ตรวจสอบที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ กรมโยธาธิการและผังเมือง
อธิบดีกรมโยธาฯ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มี.ค. ที่ผ่านมา รมว.มหาดไทยได้มีการสั่งการให้มีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ว่าแผ่นดินไหวกระทบต่ออาคาร 9 ประเภทเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งใน กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร ได้ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคาร 9 ประเภทได้มีการตรวจสอบ และได้มีการออกคำสั่งไปแล้ว 11,000 อาคารในเขต กทม. และได้มีการตรวจสอบแล้ว 5,000 กว่าอาคาร ที่มีการตรวจสอบและได้มีการรายงานมาแล้วไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงถึงขั้นต้องปิดการใช้หรือถึงขั้นสีแดง
ในส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด มีประมาณ 6 หมื่นกว่าอาคาร ใน 76 จังหวัด ทางท้องถิ่นได้มีการแจ้งให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอยู่ การรายงานให้กรมโยธาธิการทราบในทุก 15 วัน ในกรณีที่เป็นอาคาร 9 ประเภท ส่วนอาคารอื่นๆ อาคารขนาดเล็ก ทาง กทม. จะรับเรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy fondue ของ กทม. เพื่อให้ชาวบ้านได้ร้องเรียน เพื่อ กทม. จะได้เข้าไปตรวจสอบ
ในปัจจุบันได้มีการแจ้งเรื่องให้ไปตรวจสอบประมาณ 20,000 เรื่อง และ กทม. เองได้มีการดำเนินการตรวจสอบและแนะนำแล้วประมาณ 18,000 กว่าเรื่อง เหลืออยู่ประมาณ 1,000 กว่าเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ในส่วนอาคารต่างจังหวัด สำนักโยธาธิการและผังเมืองทางจังหวัด ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้คำปรึกษาแนะนำกับประชาชน
อธิบดีกรมโยธาฯ กล่าวด้วยว่า การรายงานความก้าวหน้าในการสืบสวน สืบหาเหตุการณ์ความถล่มของอาคาร สตง. ได้นำเรียนในเบื้องต้นว่า เราได้ตรวจสอบในเรื่องของการคำนวณ ซึ่งกำลังตรวจสอบในเรื่องของรายละเอียด เนื่องจากว่ามีรายละเอียดจำนวนมากที่กำลังตรวจสอบในเรื่องรายละเอียดอยู่ และมีแนวเรื่องที่กำลังทำคู่ขนานกันไป คือการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ว่า อาคาร สตง. มีการถล่มเกิดจากการออกแบบหรือไม่
ก่อนหน้านี้เคยได้ขอเวลาการพิสูจน์ต่อนายกรัฐมนตรีไว้ 90 วัน ซึ่งตามแผนมีอยู่ 4 สูตร ไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนด ในระยะเวลา 90 วันนี้ ก็จะได้ผลว่าการออกแบบตามแบบทำให้อาคารพังหรือไม่ วิธีการคือสร้างแบบจำลองโดยนำแบบเข้าในคอมพิวเตอร์ และกำหนดคุณสมบัติของวัสดุเข้าไปในแบบจำลอง และให้แรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจริงกระทำกับอาคาร จึงจะทำให้รู้ว่าอาคาร สตง. นี้พังหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ และภายใน 90 วันก็จะสามารถพิสูจน์ได้ ส่วนการตรวจสอบเอกสารได้มีการร่วมตรวจสอบเอกสารจากการไปตรวจยึดในพื้นที่ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ก็จะมีการตรวจสอบในเรื่องของรายงานประจำวัน ประจำสัปดาห์ การขออนุมัติ การเทคอนกรีต และในเรื่องการทดสอบวัสดุต่างๆ ส่วนวัสดุที่เก็บหน้างานมีการเก็บร่วมกับตำรวจ และทางตำรวจได้มีการอายัดไว้ไปตรวจสอบ
พงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
นอกจากนี้ ยังได้รายงานอีกว่า ต้องไปปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ว่าจะมีการออกกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร, พ.ร.บ.วิชาชีพวิศวกร และมาตรฐานของการก่อสร้างของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกัน
เมื่อถามว่ากรอบระยะเวลา 90 วันจะสามารถสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้ใช่หรือไม่? อธิบดีกรมโยธาฯ กล่าวว่า ขณะนี้ใช้เวลาดำเนินการไปแล้ว 1 เดือน และแบบจำลองนี้ทำโดย 5 หน่วยงาน แล้วมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในแบบจำลอง และทำออกมาเป็นบทสรุป
ส่วนขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบฯ พุ่งเป้าไปที่ประเด็นใด? อธิบดีกรมโยธาฯ กล่าวว่า “สิ่งที่ดูได้ทันทีคือ การคำนวณตามแบบที่มีการจ้างการก่อสร้างที่มีอยู่แล้ว และที่มีการแก้ไขแบบว่าปัจจุบันที่อาคารก่อสร้างหลังนี้มีการออกแบบก่อสร้างคู่สัญญา และมีการแก้ไขแบบส่วนใดบ้าง ที่เกี่ยวกับโครงสร้าง เราจะมีการนำเข้าแบบจำลอง ซึ่งแบบจำลองชุดนี้ เหมือนกับนำอาคารจริงก่อนที่จะมีการพังถล่ม และมีการรันโมเดลเข้าไปในระบบ”
สำหรับกรณีที่ก่อนหน้านี้ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วศท.) ให้ความเห็นว่า “แบบไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง” นั้น? อธิบดีกรมโยธาฯ บอกเพียงว่า ตอนนี้ต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการฯ เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ตนเองไม่สามารถพูดก่อนได้
ส่วนเมื่อถามย้ำถึงแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ จะมีผลทดสอบแล้วผลจะแน่นอน-ออกมาเป็นคำตอบให้สังคมได้ใช่หรือไม่?
อธิบดีกรมโยธาฯ ยืนยันว่า “ได้” ซึ่งแบบจำลองที่เราตรวจสอบดำเนินการเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ต้องมีการสร้างแบบจำลองให้ครอบคลุมในหลายสถานะ ซึ่งในรายละเอียดคงต้องให้ทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปพิจารณา
พร้อมอธิบายถึงการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่ 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือ หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง คือ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมีสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมด้วย, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ กทม.
รวมไปถึงข้าราชการของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่มีความรู้และการชำนาญการเรื่องนี้ โดยมีวิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นประธานกรรมการ, สภาวิศวกรเป็นที่ปรึกษา
ซึ่งจะเห็นว่า องค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้ ครอบคลุมผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง
ผมเชื่อว่าเมื่อผลออกมา จะสร้างความชัดเจนให้กับโครงการนี้ได้ว่า สาเหตุของอาคารนี้ที่ถล่มเป็นเพราะอะไร
พงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
ส่วนเมื่อถามว่าขณะอยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ใช่หรือไม่? อธิบดีกรมโยธาฯ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีอยู่ 4 ลำดับ ในลำดับแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการคีย์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
พร้อมยอมรับว่า มีอยู่หลายขั้นตอนจึงต้องใช้เวลา และหลังจากเสร็จแล้ว จะต้องมีการประชุมหารือ เพราะเราต่างคนต่างทำ เพราะถ้าหากทำหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง อาจจะมีเรื่อง Human Error เพราะการคีย์ข้อมูลต้องใช้การคีย์โดยคน
เพราะฉะนั้น หากต่างคนต่างคีย์ข้อมูลเข้าไป ต้องมีการเช็กกัน และต้องมีการคุยถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ว่าจะใช้หลักใด เพื่อให้เป็นฐานเดียวกัน ก่อนที่จะประมวลเป็นผลมา และต้องดูว่าผลของแต่ละสถาบันออกมาในแนวทางเดียวกันหรือไม่ จึงออกมาเป็นผลสรุปของคณะกรรมการฯ ชุดนี้
พงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง