ทำไมหา ‘หมอ’ ที่ไทย ถึงง่ายกว่า ‘ต่างประเทศ’ ?

5 ก.พ. 2568 - 08:25

  • จากกรณีที่ ‘ต้าเอส’ นักแสดงชาวไต้หวัน เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้สังคมโซเชียลพูดถึงประเด็นการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ที่หลายคนนำมาเปรียบเทียบว่า การเข้าถึงระบบสาธารณสุข ‘ประเทศไทย’ ง่ายกว่ามาก นั่นเป็นเพราะอะไร?

hospital-doctor-5feb2025-SPACEBAR-Hero.jpg

หากย้อนไปดูระบบสาธารณสุขของประเทศไทย พบว่า ‘การแพทย์ตะวันตก’ เริ่มมีความสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จากนั้น ในปี 2475 ‘คณะราษฎร’ เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีนโยบายหนึ่งที่สำคัญ คือ การพัฒนาทางด้านสาธารณสุข ซึ่งพยายามสร้างประเทศไทยให้เป็น ‘รัฐเวชกรรม’ คือการรักษาด้วยความรู้การแพทย์สมัยใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ทำให้ในช่วงนั้นมีโรงพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งมีครบทั้งประเทศ

‘การพัฒนาด้านสาธารณสุขของไทย’ ยังมีต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงยุคสมัยของรัฐบาล ที่กำเนิดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ทำให้คนไทยยิ่งเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น และทุกรัฐบาลก็ขยายความทั่วถึงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จาก 30 บาท ไปสู่ ‘บัตรทอง’ รักษาฟรี จนกระทั่ง ‘รักษาได้ทุกที่’ ดังนั้น ‘คนไทย’ ไม่ว่าจะ ‘จน’ หรือ ‘คนรวย’ ก็มีสิทธิ์ได้รักษาพยาบาลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่ว่าจะป่วยเวลาไหน ก็ไปโรงพยาบาลได้ 24 ชั่วโมง 

นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังมีระบบ ‘อสม.’ ที่เข้าถึงคนในชุมชน เพื่อดูแลระบบสาธารณสุขได้แบบเข้าถึงและใกล้ชิด เป็นที่พึ่งพิงให้กับชาวบ้านในเรื่องการรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างดี แตกต่างจาก ‘ต่างประเทศ’ ที่การเจ็บป่วยในแต่ละครั้ง ก็ใช่ว่า จะไปโรงพยาบาลหรือคลินิก เพื่อขอพบ ‘แพทย์’ ได้ง่ายๆ

นพ.ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเล่าไว้ในยูทูบ Doctor Tany ว่า การหาหมอที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ มีกฎเกณฑ์หลายประการ อย่างแรก ไม่สามารถเดินเข้าไปหาหมอได้เลย “ไม่เหมือนเมืองไทย” ที่นี่จะมีหมอเรียกว่า ‘หมอประจำตัว’ เวลามีอะไร จะไปหาหมอคนนี้ก่อน หากมีโรคใดที่รักษาไม่ได้ จึงจะส่งต่อไปยังหมอคนอื่น โดยที่ข้อมูลทุกอย่างจะรวมที่หมอคนเดียว ดังนั้น อยู่ๆ จะหาหมอเฉพาะทางไม่ได้ เว้นแต่มีประกันบางอย่างที่อนุโลม และการหา ‘หมอประจำตัว’ ต้องโทรนัดคิวก่อนจึงจะได้เจอ 

‘แต่’ ที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ มี โรงพยาบาล Urgent Care สำหรับกรณีที่เจ็บป่วยแล้วไม่สามารถรอนัดหมอประจำตัวได้

‘แต่’ ก็ไม่ใช่ว่า จะได้เจอหมอเสมอไป เพราะที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ จะมีตำแหน่ง ‘พยาบาล’ ที่ต่อยอดดูแลบางโรคได้เหมือนกับ ‘หมอ’ โดยจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง และบางครั้งก็เจอ ‘ผู้ช่วยแพทย์’ เช่นกัน นอกจากนี้ โรงพยาบาลทั่วไปในอเมริกา “ก็ใช่ว่า จะได้เจอหมอเสมอไปเช่นกัน” เพราะไม่เช่นนั้น หมอจะดูแลคนไข้ทั้งหมดไม่ทัน เนื่องจากที่นั่น หมอใช้เวลานานในการดูแลแต่ละเครส ไม่เหมือนประเทศไทยที่ 3-4 ชั่วโมง หมอดูแลคนไข้ไปแล้ว 50 คน

“คนไทยโชคดีมากเลย เวลาหาหมอที่ไทย เราเป็นอะไร เราป่วยเมื่อไหร่ เราหาหมอได้เลย มันยากที่อเมริกา หาหมอทีนึงก็ต้องโทรนัด ด่วนของท่าน แต่ถ้าไม่ด่วนของหมอ หมอก็ไม่ดูท่าน เขาก็ไม่แทรกคิวให้ท่าน เพราะคิวเขาก็เต็มแล้ว แทรกมาก็เป็นภาระของเขา”

นพ.ธนีย์ กล่าวในช่อง Doctor Tany

จากคำบอกเล่าของอาจารย์แพทย์จากสหรัฐอเมริกา ก็ดูเหมือนว่า คนไทยจะโชคดีจริงๆ ที่ระบบสาธารณสุขเข้าถึงง่ายมากๆ

เมื่อลองมองให้ลึกเข้าไปในระบบสาธารณสุขไทย ที่ไม่ว่า เจ็บป่วยอะไร ก็ไปหาหมอได้ 24 ชั่วโมง ก็กลับพบปัญหา ‘คนไข้ล้นโรงพยาบาล’ ที่ทุกวันนี้ ก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก 

ดังนั้น การเข้าถึงระบบสาธารณสุขในประเทศไทยที่ง่ายกว่าต่างประเทศ ถือว่า เป็นเรื่องดีที่ต้องยอมรับว่า คนต่างชาติบางส่วน ยังเดินทางมารักษาในบ้านเรากันจำนวนมาก แต่สภาพปัญหา ‘คนไข้แออัด’ ก็ควรต้องเร่งแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานแบบ Overload จนสุดท้ายเกิดภาวะ Burnout แล้วเกิดปัญหาใหม่ที่กระทบคนทั้งประเทศ นั่นคือ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์นั่นเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์