ปัญหาใต้พรม ‘ครูเวร’ สังคมไทยปลอดภัยแค่ไหน?

26 ม.ค. 2567 - 09:40

  • จาก ‘ครูเวร’ สู่คำถาม ‘สังคมไทย’ ปลอดภัยแค่ไหน?

how-safe-are-schools-and-thai-society-SPACEBAR-Hero.jpg

แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติ ‘ยกเลิกครูเวร’ ทั่วประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา  หลังเกิดเหตุครูสาวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ถูกชายคนหนึ่งบุกเข้ามาทำร้ายร่างกายระหว่างที่เธอกำลังเข้าเวรเฝ้าโรงเรียนในวันหยุด 

แน่นอนทันทีที่มตินี้ออกมาบรรดาครูทั้งหลายรวมถึงภาคประชาชน ที่มองเห็นปัญหาของการมี ‘ครูเวร’ ได้ออกมาแสดงความยินดีกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งของเรื่องนี้ได้มีเสียงโอดครวญดังมาจาก ‘ตำรวจ’ ชั้นผู้น้อย ที่ตัดพ้อว่าภาระงานของพวกเขาต้องเพิ่มมากขึ้น หากมีคำสั่งให้ไปเฝ้าโรงเรียนแทนครู หน้าที่ก็ไม่ใช่ เบี้ยเลี้ยงก็ไม่ได้ จนกลายเป็นประเด็นร้อนในโซเชียล

เป็นเหตุให้ ‘พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง’ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องรีบออกมาชี้แจงว่า แม้ตำรวจจะพร้อมดูแลโรงเรียนและประชาชนทุกคน แต่การดูแลความปลอดภัยให้โรงเรียนไม่ใช่การนำตำรวจไปเข้าเวรแทน เพราะกำลังตำรวจมีไม่เพียงพอ และเรื่องนี้ต้องหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางให้ชัดเจน 

นอกจากนี้ ตามหน้าสื่อยังปรากฎข่าวของ ‘ปลัดอำเภอ’ และ ‘นายกฯอบต.’ จำนวนหนึ่ง ออกมาตัดพ้อในทำนองเดียวกันหลังกระทรวงศึกษาฯ ได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือจัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) ดูแลสถานศึกษา โดยปลัดคนและนายกฯ อบต. ดังกล่าวสะท้อนว่าแม้ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะพร้อมให้ความร่วมมือ แต่อย่างน้อยควรมีน้ำใจให้งบสนับสนุนด้วย เพราะคนอยู่เวรก็มีปากท้องเหมือนกัน

NEWS SPACEBAR (4).png
Photo:  ‘พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร’ เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

— สรุปใครจะมาดูแลโรงเรียนแทนครูในวันหยุด? —

เรื่องนี้ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร’ เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ความเห็นกับผู้เขียนว่า เป็นหน้าที่ของตำรวจอยู่แล้วที่ต้องคอยดูแลป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอาชญากรรม และการดูแลความปลอดภัยโดยรอบของโรงเรียนก็เป็นหน้าที่ของตำรวจอยู่แล้ว เพียงแต่ตำรวจต้องทบทวนว่าบ้านเมืองในตอนนี้มันไม่ปลอดภัยถึงขนาดที่ยกเลิกครูเวรแล้วโรงเรียนจะถูกบุกรุกและเป็นอันตรายอย่างนั้นเลยหรือ

และการที่ครูผู้หญิงมาเข้าเวรที่โรงเรียนแล้วบางครั้งต้องพาหลาน พาญาติมาอยู่เป็นเพื่อนด้วย มันสะท้อนว่าสังคมไทยไม่มีความปลอดภัยในภาพรวม เรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องยอมรับว่ามันเป็นความล้มเหลวที่มีมานานมากแล้ว แต่ก็ปกปิดความไม่มีประสิทธิภาพตรงนี้ไว้ ทำให้เมื่อข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงและทำให้เกิดการแก้ปัญาหาไม่ตรงจุด

“การรักษาความปลอดภัย ไม่ได้หมายความถึงการที่คุณเอาใครมานั่งเฝ้าข้าวของ แต่มันต้องไม่มีใครที่คิดเป็นคนร้าย หรือถ้ามีตำรวจต้องมีข่าวสารและเข้าควบคุมก่อนที่จะเกิดเหตุ แต่คุณก็ไม่ได้ทำ ถ้าคุณควบคุมสิ่งเหล่านี้อย่างเข้มงวดตามกฎหมาย อย่างต่อเนื่อง สังคมจะสงบ การลักเล็กขโมยน้อย อาชญากรรม ยาเสพติดมันก็จะน้อยลง ทุกคนจะปลอดภัย ไม่ใช่เเค่โรงเรียน”

 พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ ย้ำว่า ตำรวจต้องพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันอาชญากรรม เช่น บริเวณโรงเรียนใครมีแนวโน้มจะบุกรุกหรือคุกคามโรงเรียนบ้าง ต้องรีบเข้าไปจัดการ เพราะการตรวจตราไม่ได้ช่วยอะไรมาก มันเป็นเรื่องการดำเนินการด้านข่าววสาร การป้องกันอาชญากรรมที่ต้องทำหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องยาเสพติด ปัญหาเด็กเกเร แหล่งบ่มเพาะอาชญากรรมต่างๆ ที่นำไปสู่การคุกคามในโรงเรียน

ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นยอมรับว่าตำรวจอาจต้องเหนื่อยขึ้น มีภาระมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจอยู่แล้ว และความจริงกำลังพลตำรวจไทย ไม่ได้มีน้อยเพียงแต่ขาดการจัดสรรกำลังพลที่ดี เพราะมีตำรวจจำนวนไม่น้อยที่ไปเดินตามนายอย่างเดียว ไม่ได้ทำหน้าที่ของการเป็นตำรวจอย่างแท้จริง

“ตำรวจไทยไม่ได้มีจำนวนน้อยอย่างที่คิดนะ มากกว่าหลายประเทศทั่วโลก เพียงแต่การบริหารจัดการของคุณมีปัญหา มันเต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อฉล การเอารัดเอาเปรียบ เอากำลังพลที่จำเป็นต่อการทำงาน ไปรับใช้ส่วนตัว ไปทำงานที่ไม่จำเป็น”

 พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

สำหรับแนวทางการดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนในวันหยุด ‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ มองว่าประชาชนในพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน มีความสำคัญกว่าตำรวจอีก เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องบูรณาการร่วมกัน แต่ยอมรับการประสานงานอาจไม่อุปสรรคบ้าง ซึ่งเหตุผลส่วนเป็นผลพวงมาจากการแยกตำรวจออกจากระทรวงมหาดไทย ทำให้กำลังรักษาความสงบในพื้นที่ คือ ประชาชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน ขาดออกจากกัน

แต่อย่างไรก็ตามการดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนต่อจากนี้ จะนำภารโรงกลับมาพิจารณาเพิ่มตำแหน่งงานหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาฯ ต้องวางแผนให้ดีว่าจะเอาอย่างไรต่อไป

NEWS SPACEBAR (6).png
Photo: ‘ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ’ นายสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา 

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีโอกาศได้พูดคุยเพิ่มเติมกับ ‘ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ’ นายสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่มองว่า แนวทางการดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนต่อจากนี้ ควรนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นการติดกล้องวงจรปิดในจุดที่สำคัญ ส่วนงบประมาณในการจัดซื้อยอมรับว่าบางโรงเรียนอาจมีปัญหา แต่อาจใช้วิธีของบสนับสนุนจากชาวบ้าน อบต. หรือ อบจ. รวมตัดงบประมาณดูงานของกระทรวงศึกษาฯ ที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วนำงบส่วนดังกล่าวมาสนับสนุนโรงเรียนในเรื่องนี้แทน

“ทรัพย์สินราชการไม่หาย ไม่ใช่เพราะครูอยู่ คนร้ายไม่ได้กลัวครูเลยนะครับ แต่คนร้ายดูแล้ว โรงเรียนไม่มีอะไรให้มันเอา ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคนร้ายมาขโมยของ แต่ที่มีปัญหาคือเรื่องของการเมายาแล้วจะเข้าไปล่วงละเมิดครู ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด”

ดร.รัชชัยย์ กล่าว

‘ดร.รัชชัยย์’ ยังยอมรับว่าการนำ ‘ภารโรง’ กับมาสู่โรงเรียน เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะตอนนี้หน้าที่ในการซ่อมบำรุง งานสร้าง งานดูแลความสะอาดต่างๆ เป็นหน้าที่ของครูหมด ทั้งที่ครูควรมีเวลาไปทุ่มเทงานสอนให้นักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่หากจะให้ภารโรงมาเข้าเวรกลางคืนก็ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นการใช้งานมากเกินไป ย้ำว่าเรื่องนี้แก้ได้เพียงแค่นำเทคโนโลยีมาใช้ และต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด 

สำหรับประเด็นนี้จะเรียกว่าเป็นโจทย์ยากของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ หรือไม่นั้น ผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากหากแก้ปัญหาอย่างตรงจุด แต่หากแก้ผิดจุดจากที่จะคลายปมอาจกลายเป็นการผูกปมปัญหาใหม่ที่แก้ยากมากกว่าเดิมขึ้นไปอีก และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่บทพิสูจน์การทำงานของรัฐบาล 

แต่ยังเป็นการพิสูจน์การงานของ ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ที่จะกู้ศรัทธาจากประชาชนกลับมาได้หรือไม่ เพราะปัญหาสำคัญคือเรื่องการปราบปรามแหล่งบ่มเพาะอาชญากรรมในสังคม ที่กลายเป็นห่วงโซ่นำไปสู่เหตุอาชญากรรมต่างๆ อย่างล่าสุดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สระแก้ว กับคดีป้าบัวผัน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ตำรวจไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด ‘อาชญากรเด็ก’ ขึ้นมา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์