สังเกตได้ว่า ‘เทศกาลลอยกระทง’ ในปีนี้ ถูกพูดในมิติสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการออกแคมเปญต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ของชาวโซเชียล ที่ออกมาตอกย้ำปัญหามลภาวะทางน้ำ จากการทำกิจกรรมดังกล่าว จนเกิดรูปธรรมที่จับต้องได้ อย่างกิจกรรมของ ‘กรุงเทพมหานคร’ ที่จัดงาน ‘ลอยกระทงดิจิทัล’ โดยมี ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯ กทม. นำทีมระบายสีกระทง ก่อนใช้เทคโนโลยี Projection Mapping ฉายไฟเป็นภาพกระทง ลงบนผืนน้ำคลองโอ่งอ่าง จนชาวกรุงฯ มากมายต่างชื่นชมและกลายเป็นมิติใหม่ที่ล้ำสมัย
แต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (28 พฤศจิกายน 2566) สถิติการเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็สร้างความใจหายมิใช่น้อย จากตัวเลขที่สำนักระบายน้ำ กทม. ทั้ง 50 เขต เปิดเผยภาพรวม ระบุว่ามีการจัดเก็บกระทงได้จำนวนกว่า 639,828 ใบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ถึง 67,226 ใบ (ข้อมูลการเก็บกระทงปี 2565 อยู่ที่ 572,602 ใบ )
จำแนกออกมาเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย อย่าง หยวกกล้วย ใบตอง มันสำปะหลัง ชานอ้อย และขนมปัง จำนวน 618,951 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.74 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 20,877 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.26 กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 95.70 เป็น ร้อยละ 96.74 กระทงโฟม ลดลงจากร้อยละ 4.30 เป็นร้อยละ 3.26
ขณะที่การลอยกระทงดิจิทัล ซึ่งคาดจะได้ความสนใจสูงจากกระแสที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียล กลับมียอดการลอยในกิจกรรม เพียง 3,744 ใบเท่านั้น จนอดไม่ได้ที่ต้องตั้งข้อสังเกต ว่าเหตุไฉน ‘วิถีรักษ์โลก’ ที่มาแรงถึงไม่สามารถลดจำนวนขยะที่เกิดจากการลอยกระทงได้เลย ?
“ผมรณรงค์เรื่องลอยกระทงมาหลายปีแล้ว จึงได้รู้ว่าคนที่ไม่ลอยเขาก็ไม่ลอย แต่คนที่เขาทำอยู่เป็นประจำเขาก็ลอยเหมือนเดิม อีกอย่างคุณต้องไม่ลืมนะ ว่าเด็กทุกคนต้องทำกระทงส่งครูนะ แล้วแบบนี้มันจะลดปริมาณลงได้อย่างไร”
เป็นความเห็นของ ‘ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้อธิบายตัวเลขกระทงที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมา เขาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และพยายามรณรงค์เรื่องการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ (มากที่สุด) มาตลอดหลายปี แต่สุดท้ายจำนวนขยะที่เกิดจากกระทง ก็ไม่ได้ลดลง
ทั้งหมดทั้งมวลมาจากการบริหารกิจกรรมของรัฐบาล ที่แม้จะพยายามเผยแพร่องค์ความรู้มากเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อธิบายให้เห็นภาพ คือมุมมองความคิดเชิงโครงสร้างยังมีปัญหา
ยกตัวอย่าง จำนวนกระทงส่วนมาก มาจากการงานประดิษฐ์ของเด็กนักเรียน ที่ต้องทำตามคำสั่งครู ต่อให้นักเรียนอยากหรือไม่อยากก็ต้องทำ เพราะเป็นหนึ่งบทเรียนที่ถูกบังคับ รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นบางแห่ง มีการจัดกิจกรรมในสภาพแวดล้อมทีกำลังวิกฤติ อย่าง ‘งานลอยกระทงลงทะเล’ ทั้งๆ ที่มีข้อมูลออกมาว่า สัตว์ทะเลหลายชนิด ต้องประสบเคราะห์กรรม จากสิ่งที่มนุษย์เข้าใจเป็นการ ‘ขอขมาพระแม่คงคา’
ดังนั้น หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะส่วนกลางหรือรอบนอก ต้องพิจารณาการจัดงานลอยกระทงอย่างถี่ถ้วน ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้ให้ยกเลิกไปเลย แต่ขอให้กิจกรรมไม่ส่งผลกระทบกับแม่น้ำหรือทะเล เช่นการ ลอยในแหล่งน้ำปิด ตามมหาวิทยาลัย หรือสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นการง่ายต่อกระบวนการควบคุมขยะ ไม่ให้ตกค้างในธรรมชาติ หรือแม้แต่การจัดแคมเปญลอยกระทงดิจิทัลของ กทม. ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี ซึ่งทุกสิ่งอาจต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ฉะนั้นรัฐบาล และนักสิ่งแวดล้อมต้องทำงานควบคู่กัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำแบบที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อาจารย์ธรณ์ ได้ฝากข้อเสนอไปถึงภาครัฐ ให้มีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการเทศกาลลอยกระทง’ ผ่านการนำผู้เชี่ยวชาญในแต่ละภาคส่วน ร่วมกำหนดแนวทางด้านต่างๆ ในทุกๆ ครั้งของการจัดงาน เพื่อให้เศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถเดินควบคู่ไปด้วยกันอย่างกลมกลืน
หากพบว่า จุดจัดงานไหนดูสุ่มเสี่ยงจะกระทบกับแหล่งธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิต ก็ต้องออกความเห็นเพื่อยับยั้งอย่างตรงไปตรงมา หรือต่อยอดการประชาสัมพันธ์ เรื่องการใช้กระทง 1 ใบต่อ 1 ครอบครัว เพื่อไม่เพิ่มจำนวนขญะในแม่น้ำ
“ทุกวันนี้คนที่ผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ทำอยู่ฝ่ายเดียว แต่หน่วยงานรัฐกลับใช้แค่ม็อตโต้ ‘รักษ์โลก’ เข้าไปสอดแทรกงานเท่านั้น ไม่ได้มีการห้ามปราม หรือบอกกล่าวข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างถี่ถ้วน สุดท้ายเราต้องแก้กันที่โครงสร้าง อย่างที่นายกฯ บอกว่า การลอยกระทงคือ ซอฟต์พาวเวอร์ แต่ไม่เคยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาทำความเข้าใจเรื่องตรรกะและวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเลย ถ้าเราไม่ปรับฐานแนวคิด หรือยังรณรงค์ในรูปแบบเดิมๆ ขยะที่เกิดจากกระทงก็ไม่มีทางลดลงแน่นอน”
ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย