ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สตรีทฟู้ด’ ในเมืองมหานครอย่าง ‘กรุงเทพฯ’ ยังเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของ ‘เมืองไทย’ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเสมอมา นอกจากนี้ ยังทำให้คนไทยด้วยกันสามารถเข้าถึงสินค้าราคาถูกได้ง่ายๆ แถมยังสร้างโอกาสสร้างอาชีพของ ‘คนรายได้น้อย’ ได้อีกด้วย และนี่เอง ก็ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็น ‘เมืองสวรรค์’ ของชาวสตรีทฟู้ด เช่นกัน
แต่ ‘สตรีทฟู้ด’ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ‘หาบเร่แผงลอย’ ก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาทางเท้า ทั้งความสกปรก ความไร้ระเบียบ และการกีดขวางทางสัญจรบนทางเท้า ทำให้บรรดาผู้ว่าฯ กทม.ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบให้ทางเดินเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จริงๆ

ตั้งแต่ในยุค ‘พล.ต.จำลอง ศรีเมือง’ เป็นผู้ว่าฯ กทม. กำหนดห้ามหาบเร่แผงลอยขายทุกวันพุธ เพื่อให้ทำความสะอาดบริเวณที่ค้าขาย จากนั้น ‘ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา’ จัดระเบียบด้วยการขีดแนวเส้นอนุญาตเป็นบริเวณที่แน่นอนให้ผู้ค้าแต่ละราย ต่อมาในยุค ‘พิจิตต รัตตกุล’ จัดระเบียบด้วยการ ‘ตีเส้นเหลือง’ และสร้างป้าย ‘จุดผ่อนผัน’ สำหรับหาบเร่แผงลอย จากนั้น ‘สมัคร สุนทรเวช’ ยกเลิกการห้ามขายวันพุธ และอนุญาตให้หาบเร่แผงลอยขายได้ทุกวัน แต่เวลาผ่านไป ‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ ก็ออกนโยบายให้หยุดขายวันจันทร์

แต่เมื่อถึงยุคของ ‘ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร’ ได้งัดไม้แข็งยกเลิกจุดผ่อนผัน จากนั้น ในปี 2559 ยุคผู้ว่าฯ ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ มีการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย โดยยกเลิกจุดผ่อนผัน พร้อมเยียวยาด้วยการให้ไปขายในตลาดประชารัฐ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ทดแทน แต่ก็ยังเกิดปัญหาค้าขายได้ยาก เพราะตลาดประชารัฐไม่ได้อยู่ในย่านชุมชนเท่าใดนัก แต่เมื่อทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กรุงเทพฯ ผ่อนปรนนโยบายหาบเร่แผงลอยอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อผู้ค้า

การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในยุค ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’
ปี 2563 กรุงเทพมหานคร มีประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- ถนนต้องมีช่องทางจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป เมื่อจัดวางแผงค้าแล้ว ต้องมีที่ว่างให้สัญจรไม่น้อยกว่า 2 เมตร
- ไม่อยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วัง พระที่นั่ง พระตำหนัก เขตพระราชทาน พระบรมราชานุสาวรีย์
- ไม่เป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อการจราจรและกีดขวางการจราจร
- ไม่เป็นพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทระหว่างผู้ค้ากับกรุงเทพมหานคร
- ไม่เป็นพื้นที่หรือบริเวณที่กรุงเทพมหานครประกาศห้ามเป็นพื้นที่ทำการค้า
- ต้องได้รับความเห็นชอบโดยส่วนใหญ่จากประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้เสียในบริเวณดังกล่าว
- แผงค้ามีขนาดไม่เกิน 2 ตารางเมตร มีความลึกไม่เกิน 1 เมตร
- ให้จัดผังแผงค้าได้เพียงฝั่งเดียว โดยให้ชิดกับด้านถนน และพื้นที่ทำการค้าต้องห่างจากผิวการจราจรอย่างน้อย 50 เซนติเมตร
- เว้นระยะห่าง 5 เมตร ทุกระยะ 10 แผงค้า เพื่อเป็นทางเข้าออกและทางฉุกเฉิน
- จัดแผงค้าโดยจำแนกประเภทสินค้า เช่น อาหาร เสื้อผ้า เบ็ดเตล็ด เป็นต้น

พื้นที่ที่ ‘ห้าม’ จัดผังแผงค้าโดยเด็ดขาด
- ป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางสาธารณะ จุดจอดรถโดยสารสาธารณะ และในระยะ 10 เมตรจากจุดดังกล่าว
- ทางขึ้นลงสะพานลอย ใต้สะพานลอยคนเดินข้าม ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า ใต้สถานีรถไฟฟ้า ช่องทางเข้าลิฟท์สำหรับผู้พิการ และในระยะ 10 เมตรจากจุดดังกล่าว
- ทางเท้าบริเวณข้ามถนนที่มีทางม้าลาย และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าวทั้ง 2 ด้าน
- ในระยะ 10 เมตรจากทางร่วมทางแยก
- ช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย และในระยะ 5 เมตรจากจุดดังกล่าว
- ห้องสุขาสาธารณะและในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าว
- จุดจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าว
- บริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ และในระยะ 1 เมตรจากจุดดังกล่าว

ส่วนเรื่องการขออนุญาต จะทบทวนทุก 1 ปี ขณะที่คุณสมบัติผู้ค้า จะต้องมีสัญชาติไทย มีรายได้น้อย หรือมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กู้ยืม กยศ. กู้ซื้อบ้านเอื้ออาทร ถูกให้ออกจากงาน และมีรายได้ไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี โดยวิธีคัดเลือกจะเป็นการลงทะเบียนและจับฉลาก มีเงื่อนไขการต่ออายุด้วยการจับฉลากทุกปี

แล้วการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในยุค ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ จะเป็นอย่างไร?
‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ ที่ทุกคนฝากความหวังเอาไว้ ยังคงเร่งเดินหน้าในเรื่องนี้ จึงมีการปรับปรุงร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ. 2566 ขึ้นมา โดยที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ ซึ่งร่างประกาศกรุงเทพมหานครฉบับของ ‘ชัชชาติ’ มีการปรับปรุงดังนี้
- เงื่อนไขพื้นที่ทำการค้ากำหนดว่าถนนที่มีช่องทางจราจรตั้งแต่ 3 ช่องขึ้นไป เมื่อจัดวางแผงค้าแล้ว ต้องมีที่ว่างให้สัญจรได้ไม่น้อยกว่า 2 เมตรและเมื่อได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ทำการค้าแล้วให้ทบทวนทุก 2 ปี
- ถนนที่มีช่องทางจราจรน้อยกว่า 3 ช่อง ต้องมีที่ว่างให้สัญจรได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตรโดยทบทวนทุก 1 ปี
- ไม่อยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วัง พระที่นั่ง พระตำหนัก เขตพระราชทาน พระบรมราชานุสาวรีย์
- ไม่เป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อการจราจรและกีดขวางการจราจร
- ไม่เป็นพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทระหว่างผู้ค้ากับกรุงเทพมหานคร
- ไม่เป็นพื้นที่ที่ประกาศห้ามเป็นพื้นที่ทำการค้า
- ต้องได้รับความเห็นชอบโดยส่วนใหญ่ของประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบริเวณดังกล่าว
- แผงค้าต้องมีขนาดไม่เกิน 3 ตารางเมตร โดยความลึกของแผ่นค้าต้องไม่เกิน 1.5 เมตร
- จัดผังแผงค้าได้เพียงฝั่งเดียว โดยให้ชิดกับด้านถนนและพื้นที่ทำการค้าต้องห่างจากผิวจราจรอย่างน้อย 50 เซนติเมตร
- ให้เว้นระยะห่าง 3 เมตร ทุกระยะ 10 แผงค้า
- จัดแผงค้าจำแนกประเภท เช่น อาหาร เสื้อผ้า เบ็ดเตล็ด เป็นต้น

พื้นที่ที่ ‘ห้าม’ จัดผังแผงค้าโดยเด็ดขาด
- ป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางสาธารณะ จุดจอดรถโดยสารสาธารณะ และในระยะ 10 เมตรจากจุดดังกล่าว
- ทางขึ้นลงสะพานลอย ใต้สะพานลอยคนเดินข้าม ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า ใต้สถานีรถไฟฟ้า ช่องทางเข้าลิฟท์สำหรับผู้พิการ และในระยะ 10 เมตรจากจุดดังกล่าว
- ทางเท้าบริเวณข้ามถนนที่มีทางม้าลาย และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าวทั้ง 2 ด้าน
- ในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก
- ช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย และในระยะ 5 เมตรจากจุดดังกล่าว
- ห้องสุขาสาธารณะ และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าว
- จุดจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าว
- บริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ และในระยะ 1 เมตรจากจุดดังกล่าว

ขณะที่ คุณสมบัติผู้ค้า จะต้องมีสัญชาติไทย ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กู้ซื้อบ้านมั่นคง ได้รับเงินช่วยเหลือจาก พม. รายได้ไม่เกิน 180,000 บาทต่อปี เมื่อคิดฐานหลังจากลดหย่อนภาษีแล้ว โดยวิธีคัดเลือก จะเป็นการลงทะเบียนและคัดเลือกตามลำดับตั้งแต่ ผู้ค้าเดิม คนในพื้นที่ และทั่วไป ซึ่งมีเงื่อนไขการต่ออายุด้วยการให้ผู้ค้ายื่นภาษีทุกปี หากรายได้เกินกว่า 180,000 บาทต่อปี ต้องยกเลิกสัญญา

นอกจากนี้การจัดระเบียบ ‘หาบเร่แผงลอย’ ในยุค ‘ชัชชาติ’ ยังมี ‘ข้อปฏิบัติ’ ให้กับผู้ค้า ดังนี้
- ผู้ค้าต้องจัดทำแผนทำความสะอาดพื้นที่ โดยคณะกรรมการระดับเขตเป็นผู้พิจารณา
- ผู้ค้าต้องจัดทำโครงสร้างพื้นฐานตามที่ กทม. กำหนด เช่น บ่อดักไขมัน ที่ล้างรวม

ต้องรอติดตามต่อไปว่า ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ. 2566 จะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ทั้งทางออนไลน์ และการประชุมรับฟังความคิดเห็นใน 6 กลุ่มเขต ก่อนนำความเห็นจากทุกภาคส่วนไปปรับปรุงแก้ไขประกาศกรุงเทพมหานครให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และเกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้สมกับที่หลายคนยกให้ ‘กรุงเทพมหานคร’ เป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมอันหลากหลาย ท่ามกลางคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวกรุงเทพฯ