พล.ร.ต.ธนิตพงศ์ สิริเศวตศักดิ์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุถึงเหตุโรงงานผลิตพลุระเบิดในพื้นที่ตำบลศาลาขาว อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ว่า จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนนั้น สถานที่ตั้งของโรงงานอยู่กลางทุ่งนา ห่างไกลชุมชน ไม่มีบ้านพักอาศัยใกล้เคียง บริเวณรอบนอกตัวอาคารพบเศษหลังคาปลิวกระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้าง และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ในส่วนของกระทรวงกลาโหม โดยกองควบคุมโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร หรือ อท.ศอพท. ได้ตรวจสอบและข้อมูลอ้างอิงว่า การทำหรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งอยู่ในอำนาจของนายทะเบียนท้องที่ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
และพบว่า โรงงานที่เกิดเหตุ มีบุคคลขอใบอนุญาตในการทำ หรือค้า ซึ่งดอกไม้เพลิง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จากกรมการปกครองอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ยังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีซึ่งยุทธภัณฑ์ โพแทสเซียม คลอไรด์ (Potassium Chloride) จากกระทรวงกลาโหม ตามพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 จำนวน 3,000 กิโลกรัม รายละเอียดตามใบอนุญาตเลขที่ 660504621 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 หมดอายุ 23 กรกฎาคม 2567 เพื่อใช้ในการทำดอกไม้เพลิง และมีสถานที่เก็บ ณ คลังเก็บ หมู่ที่ 3 ตำบลศาลาขาว อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

‘มท.1’ ป้อง ‘ผู้ว่าฯ-จนท.’ บอกจะไปโทษไม่ได้ สงสัยเกิดเหตุระเบิดเพราะล้ำเส้นเรื่องความปลอดภัยหรือไม่
ขณะเดียวกัน กรณีที่ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ออกมาเรียกร้องให้แก้ระเบียบการขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตพลุดอกไม้ไฟทั่วประเทศใหม่ หลังเกิดโรงงานพลุระเบิดหลายครั้ง แต่อาจอยู่นอกเหนือการตรวจสอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ที่ออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานนั้น
ในเรื่องนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ให้ความเห็นว่า กำลังเร่งศึกษาอยู่ เพราะกว่าจะได้ใบอนุญาตต้องผ่านขั้นตอนเยอะ โดยอ้างถึงโรงงานพลุที่ จ.สุพรรณบุรี ก็ใช้เวลา 2 ปี เพราะต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกระทรวงกลาโหม ในการนำวัตถุไวไฟ-วัตถุคล้ายระเบิดที่ปะทุได้มาใช้
เรื่องใบอนุญาต เชื่อว่าได้มีการเขียนกำกับไว้ว่ามีข้อห้ามข้อปฏิบัติอย่างไรไม่ให้เกิดความเสี่ยง ตรงนี้อาจจะมีการทำอะไรที่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้
อนุทิน ชาญวีรกูล
เมื่อถามว่าจะมีการกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างไรนั้น อนุทิน ระบุว่า จะไปโทษผู้ว่าฯ หรือเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพราะโรงงานพวกนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ การกำชับผู้ว่าฯ ต้องดูในส่วนใบอนุญาต หรือพวกภูมิปัญญาชาวบ้าน อาจจะต้องสั่งห้าม เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ ความจริงวิถีชีวิตชาวบ้านที่ทำพุ ตะไล ทำเพื่อไล่นกไล่กาที่จะมาทำลายผลผลิตทางการเกษตร แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีใบอนุญาต ไม่สามารถทำได้แน่นอน ซึ่งจะต้องไปไล่ตรวจดู อีกทั้งตอนนี้ทุกจังหวัด ทำการสำรวจโรงงาน และผมได้รับรายงานหลายจังหวัดว่า ได้ไปสำรวจโรงงานทำพลุ ทำดอกไม้ไฟ ทุกอย่างยังทำตามขั้นตอนและอยู่ในระเบียบ
แต่กรณีนี้ ส่วนตัวคิดว่า จะต้องมีอะไรที่ล้ำเส้นเรื่องความปลอดภัยอย่างแน่นอน ถึงเกิดเหตุรุนแรงได้ขนาดนี้
อนุทิน ชาญวีรกูล