โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เปิดเผยกับทีมข่าว Spacebar Big City ถึง ‘ผลกระทบจากอุทกภัยต่อปางช้าง’ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สิน และความปลอดภัยชีวิตของช้างเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะกรณีช้าง 2 เชือก ของมูลนิธิรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ที่ถูกกระแสน้ำพัดจนจมน้ำตาย ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นกรณีแรกของประเทศไทย ที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมกันถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการเตรียมแผนเผชิญเหตุ มาตรฐานปางช้างไทย และสวัสดิภาพของสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย เพราะช้างถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและเป็นสัตว์ประจำชาติ สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย

โซไรดา ระบุว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปางช้างในอำเภอแม่แตงแค่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ได้กระทบปางช้างทั่วประเทศไปแล้ว และมีแนวโน้มจะเผชิญซ้ำอีก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อนช้าง ได้พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้ง ‘กองทุนช้างแห่งชาติ’ ขึ้น
เพื่อช่วยเหลือองค์กรทำงานด้านช้าง และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับช้าง ไม่ว่าจะเป็นปางช้าง หรือควาญช้าง แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ไม่เกิดเป็นรูปธรรม ทำให้ทุกวันนี้ ต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก แม้จะมีงบประมาณจากภาครัฐและภาคประชาชนสนับสนุนบ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง ครั้งนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย ปางช้างส่วนใหญ่จำเป็นต้องปิดชั่วคราวเป็นเวลาหลายเดือน และขาดรายได้ในการนำเงินมาซื้ออาหารช้าง และจ่ายค่าจ้างให้กับควาญช้างและพนักงาน แต่ช้างเป็นสัตว์ที่รักของคนไทย ก็จะเห็นภาพของการบริจาคอาหารให้ช้าง อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน
โซไรดา ซาลวาลา

มันถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย จะต้องมีกองทุนช้างเพื่อชาติขึ้นมา โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ได้ หรือจากงบประมาณในส่วนอื่นๆ ส่วนรูปร่างหน้าตา กฎเกณฑ์ของกองทุนช้างเพื่อชาติ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย ต้องมาออกแบบร่วมกัน
โซไรดา ซาลวาลา
นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อนช้าง ขอแสดงความชื่นชมควาญช้างทุกคน ที่ได้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยช้างให้รอดชีวิตจากน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแม่แตง โดยถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความกล้าหาญ ฝ่ากระแสน้ำเข้าไปช่วยเหลือช้าง โดยไม่ได้คิดถึงความเสี่ยงต่อชีวิต ทั้งที่ไม่ใช่ช้างในความดูแลของตัวเอง
เชื่อว่าคนไทยทุกคน อยากจะขอบคุณ ที่ช่วยรักษาชีวิตช้างไว้ได้อย่างปลอดภัย จึงได้เตรียมมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับควาญช้าง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจที่มีความกล้าหาญ

ทางด้าน ธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย แสดงความเห็นด้วยที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้ง ‘กองทุนช้างแห่งชาติ’ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เมื่อเจอเหตุการณ์ภัยพิบัติ ระบบกู้ภัยช้าง ความเสียหายหรือความสูญเสียเกี่ยวกับช้าง มักจะถูกสนับสนุนโดยภาคเอกชน ซึ่งต้องยอมรับว่า ช้างเป็นสัตว์มีเสน่ห์ มีประชาชนเต็มใจช่วย แต่กลับไม่มีความมั่นคงให้กับช้างและผู้ที่เกี่ยวข้องกับช้าง ทุกครั้ง มักจะเห็นภาพของความเดือดร้อน ถึงจะเกิดการระดมทุนช่วยเหลือ
อย่างเช่น หากมีช้างป่วยที่อยู่ในความดูแลของชาวบ้าน แต่ก็ขาดงบประมาณในการที่จะนำพาไปรักษาพยาบาลได้ เพราะการเดินทางขนช้างต้องใช้รถสิบล้อ ค่าใช้จ่ายก็ไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 บาท เมื่อไม่มีงบประมาณในการนำมารักษา สุดท้ายก็จบลงที่ช้างล้ม ยกเว้นแต่มีงบประมาณจากองค์กรเกี่ยวกับช้าง ภาคเอกชน และภาคประชาชนช่วยสนับสนุน

แต่หากว่ามี ‘กองทุนช้างแห่งชาติ’ เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จะประกันสุขภาพช้างได้ องค์กรหรือปางช้าง และควาญช้าง ยังมีที่พึ่งในการขอรับการช่วยเหลือเงินทุน ซึ่งในประเทศไทย พบว่า กลุ่มช้างไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย แต่กลุ่มเกษตรมีการประกันราคาข้าว
พืชเศรษฐกิจอย่าง ลำไย ยังมีตัวเลขหนุนหลักพันล้านบาทต่อปีต่อครั้งที่ได้รับการช่วยเหลือ ขณะที่ช้าง ไม่มีกองทุนใดๆ และหากมีการตั้งกองทุนขึ้นมา ถือว่าขนาดเล็กมาก เพราะประชากรช้างทั่วประเทศ 3,800 เชือก มีปางช้าง 250 แห่ง เพราะฉะนั้น แม้จะทุ่มเม็ดเงินให้ช้างหลักพันล้านบาท ก็ไม่ถึงร้อยละ 10 ของการช่วยเหลือกลุ่มภาคเกษตรต่างๆ
ธีรภัทร ตรังปราการ

ธีรภัทร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ไม่มีหน่วยงานรัฐเฉพาะที่จะดูแลช้างโดยตรง ทั้งที่เป็นสัตว์ประจำชาติ และยังเป็นจุดขายการท่องเที่ยวของไทย แต่กลุ่มอื่นๆ กลับมีหน่วยงานรัฐดูแลอย่างชัดเจน
น่าจะถึงเวลาที่ภาครัฐต้องมาพิจารณาอย่างจริงจัง กรณีของช้างพลัดจมน้ำแม่แตง ไม่เพียงแต่สูญเสียช้างไป 2 เชือก แต่หลายปางช้างได้รับความเสียหายจากสิ่งปลูกสร้างที่ถูกน้ำท่วม แต่ก็ต้องเยียวยากันเอง โดยกองทุนช้างเพื่อชาตินั้น อาจจะต้องมีเจ้าภาพ ตั้งเป็น ‘กรมช้าง’ หรือ ‘สำนักงานช้างแห่งชาติ’ ให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่างบประมาณที่ภาครัฐจะเข้ามาสำรองเงินไว้ในกองทุนแทบจะไม่กระทบกับงบประมาณของประเทศ แต่จะส่งผลดีต่อความหยั่งยืนของช้างไทยทั้งระบบ
ธีรภัทร ตรังปราการ