#หนองบัวลำภู ขึ้นติดเทรนด์โซเชียลอีกครั้ง หลังช่วงเช้าที่ผ่านมา (27 พ.ย.) เกิดเหตุชายคลุ้มคลั่งใช้ปืนยิงประชาชนเสียชีวิต 4 ราย ในพื้นที่ อ.ศรีบุญเรือง ก่อนคนร้ายจะขี่รถจักรยานยนต์หลบหนี ไปทาง อ.นากลาง ท่ามกลางการวางกำลังสกัดจับของตำรวจ
โดยเบื้องต้นตำรวจพบข้อมูลว่า แรงจูงใจในการก่อเหตุน่าจะมาจากความขัดแย้งส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องเงิน
ที่น่าสนใจคือคดีนี้ เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุสลดฆ่ายกครัว 4 ศพ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ โดยคนร้ายใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุ ก่อนปลิดชีพตัวเอง แม้ข่าวลักษณะนี้จะมีให้เห็นเป็นรายวัน แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นปัญหาทางสังคม และช่องโหว่ของมาตรการควบคุมอาวุธปืน
สเปซบาร์ ชวนคุณผู้อ่านมาย้อนดูสถิติการครอบครองปืนของพลเรือนไทย และสถิติคดีที่เกิดจากอาวุธปืนกันอีกครั้ง เพื่อชวนตั้งคำถามว่าปัญหานี้หยั่งรากลึกจนยากจะถอนจริงหรือไม่?
พลเรือนคนไทยมีอาวุธปืนในครอบครอง มากถึง 10.3 ล้านกระบอก สูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเสี่ยงต่อการเกิดการสังหารหมู่
รายงานข้อมูลจากเว็บไซต์ World population review พบว่า พลเรือนคนไทยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง มากถึง 10.3 ล้านกระบอก คิดเป็นสัดส่วน 15.41% ของประชากรไทย 66,090,000 คน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการครอบครองปืนมากที่สุดในอาเซียน และอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก สอดคล้องกับข้อมูลของ Small Arms Survey ที่พบว่า พลเรือนไทยครอบครองปืนมากถึง 10.3 ล้านกระบอก มากเป็นอันดับ 13 ของโลก
แบ่งเป็นปืนที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง จำนวน 6.2 ล้านกระบอก และอีก 4 ล้านกระบอกไม่ได้ขึ้นทะเบียน Small Arms Survey ยังรายงานอีกว่า ไทยเป็นแหล่งตลาดมืดค้าปืนหลักของอาเซียน
ขณะที่ผลการจัดอันดับ ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการสังหารหมู่ (Countries at Risk for Mass Killing) ประจำปี 2021-2022 ไทยอยู่ในอันดับที่ 19 จาก 162 ประเทศ ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 42 ในปี 2020-2021 หรือกระโดดข้ามขึ้นมาถึง 23 อันดับ
ไทยติดอันดับเสียชีวิตด้วยปืนมากที่สุดในโลก
อีกข้อมูลที่น่าสนใจ มาจากรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนสูงที่สุดในโลก ของ World Population Review ในปี 2022 ยังพบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 โดยมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน จำนวน 2,804 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 3.91 คนต่อประชากร 100,000 คน
ขณะที่การเก็บสถิติของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการก่อเหตุด้วยอาวุธปืนในประเทศไทย จากกองสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี 2562 พบว่ามีการใช้อาวุธปืนก่อเหตุรวมทั้งหมด 31,419 ครั้ง แบ่งเป็น
- ปืนสั้นมีทะเบียน 6,410 ครั้ง
- ไม่มีทะเบียน 24,348 ครั้ง
- ปืนยาว 661 ครั้ง
ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ชัดเจนว่าปืนถูกใช้เป็นอาวุธหลักในการทำร้ายร่างกายหรือฆ่าคน เพราะยังมีการใช้อาวุธมีด หรือวัตถุทื่อๆ ในการก่อเหตุเช่นกัน และในภาพรวมแม้เหตุกราดยิงหรือการใช้อาวุธปืนทำร้ายร่างกายจะเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ในหลายจังหวัด แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลชัดเจนว่าจังหวัดใด มีเหตุกราดยิงมากที่สุด
แต่หากนับเฉพาะเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ และสร้างความรุนแรงทางจิตใจของคนไทยที่เป็นที่รู้จักกันดี อาจยกตัวอย่างได้ 3 เหตุการณ์
- เหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8–9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มีผู้เสียชีวิต 31 ราย
- เหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 มีผู้เสียชีวิต 37 ราย
- เหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
ปัญหาสังคมและความหละหลวมของกฎหมาย : จุดเริ่มต้นของการสูญเสียและเสื่อมโทรม?
งานวิจัยหลายชิ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ มีข้อมูลสนับสนุนให้เห็นว่าปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในครอบครัวและความสัมพันธ์ส่วนตัว การขาดการศึกษา และวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง ล้วนมีส่วนทำให้แนวโน้มการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่เหตุผลที่คนมีปืนไว้ในครอบครอง มีตั้งแต่เพื่อป้องกันตัว เพื่อเล่นกีฬา ใช้ในอาชีพ ไปจนถึงการแสดงสถานะ หรือต้องการแสดงอำนาจเพื่อข่มขู่ และใช้เพื่อแก้ปัญหาส่วนตัว
ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเป็นการเน้นย้ำว่า มาตรการควบคุมและครอบครองปืนอย่างเหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว ไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาทางสังคมที่มีความซับซ้อนร้อยแปด ซึ่งถือเป็นความท้าทายของภาครัฐ และเป็นอีกหนึ่งคำถามสำคัญว่า ณ ปัจจุบัน กฎหมายที่มีอยู่ และความพยายามของภาครัฐ มากพอที่หยุดหรือลดปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่
เพราะหากเราเข้าใจว่า ทุกความชั่วร้ายมีจุดเริ่มต้นเสมอ การก่อเหตุด้วยอาวุธปืนที่เราเห็นในข่าว จึงไม่ใช่แค่เหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทย
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักข่าวกรองแห่งชาติ , PPTV , ข่าวสด , World Population Review , Small Arms Survey