"ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพียงเจตนาเดียว อยากจะพบและพูดคุยกับรัฐมนตรีเท่านั้น โดยใช้สิทธิของการเป็นคนไทยคนหนึ่ง มีสิทธิ์มีเสียงตามที่รัฐบาลบอก เท่านั้นเอง ไม่ได้ต้องการมาก่อความวุ่นวาย สิ่งที่ผมพูดคือสิ่งที่ผมคิดว่าถูก ใครจะคิดว่าผิดก็ได้ไม่เป็นไร เรามันก็มีสิทธิ์ที่จะคิด แต่ขอให้ผมไปถึงก่อนอย่าสกัดผมเลย"
เป็นการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนครั้งล่าสุด (7 กุมภาพันธ์ 2567) ของ 'มณฑล เพ็ชรสังข์' ที่เปิดเผยถึงสาเหตุการโยกรถสามล้อ (สำหรับผู้พิการ) จากจังหวัดสุโขทัยมากรุงเทพมหานคร เพื่อยืนยันสิทธิ์ความเป็นคนพิการต่อหน้ากรมบัญชีกลาง และเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทวงสิทธิ์ให้กับคนพิการที่ถูกริดรอนทั้งประเทศ จากการที่มีผู้พิการอีกหลายชีวิต ถูกตัดสิทธิ์เบี้ยรายเดือนอย่างมิชอบ
ระหว่างการเดินทางกว่า 400 กิโลเมตรเข้าเมืองหลวง 'มณฑล' กลายเป็นที่สนใจของประชาชน สื่อมวลชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ในมิตินี้ มีทั้งเรื่องความเปราะบางด้านสิทธิ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงแง่ลบ หลังชายพิการวัย 48 ปี แสดงอาการเกรี้ยวกราดกับสื่อที่ติดตามทำข่าว และเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามให้การช่วยเหลืออยู่ตามรายทาง นำมาสู่การถอดบทเรียน จนพบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว เสมือนกระจกสะท้อนภาพของสังคม ที่สื่อออกมาอย่างมีนัยยะสำคัญ
สิทธิคนพิการที่ขาดหายไป เพราะ ‘ข้อต่อ’
หากยึดตามเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของมณฑล ที่อธิบายถึงบ่อเกิดปัญหา เริ่มขึ้นตั้งแต่ทราบความ ว่าไม่ได้รับการโอนเงินเบี้ยผู้พิการมาตั้งแต่ปี 2563 พร้อมๆ กับการรับทราบที่มา จากปากของเจ้าหน้าที่อำเภอศรีสัชนาลัย ว่าเขาถูกตัดสิทธิ์ผู้พิการ และไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้ ต้องไปทำการยืนยันสิทธิ์ด้วยตนเองที่กรมบัญชีกลาง (กรุงเทพฯ) สะท้อนภาพการทำงานของหน่วยงานรัฐ (ท้องถิ่น) อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
“ฟังจากคำให้สัมภาษณ์ของ รมว.พัฒนาสังคมฯ ที่บอกว่าให้เข้าไปที่ พม.จังหวัดอยุธยา เพื่อพูดคุยและตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงปัญหาและสาเหตุที่เกิดขึ้น งั้นมันหมายความว่าตามหลักแล้ว สุโขทัยก็จบได้ใช่ไหมครับ ? มันแสดงให้เห็นว่า คุณไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว หน้างานไม่ได้เอื้อต่อเขาเลย คุณต้องเห็นเวลาคนพิการโดนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ตะโกนเสียงดังใส่ สภาพเขาเป็นเช่นไร เขาถูกริดรอนสิทธิ์มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว จึงต้องลำบากเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ถ้าไม่เดือดร้อนจริง คงไม่มีทำแบบนั้น”
เป็นความเห็นของ ‘ปรีดา ลิ้มนนทกุล’ เลขาธิการมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ ที่สะท้อนภาพการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และการให้ความเห็นของ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีการแก้ปัญหาของมณฑล ที่ฉายภาพความละเลยการให้บริการผู้พิการ จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
ปรีดา กล่าวต่อว่าปัญหาของหน่วยงานราชการ มาจาก ‘ข้อต่อ’ ที่ไร้ผู้เชื่อมโยง เฉกเช่นกรณีดังกล่าว ที่ตัวของมณฑล มีการย้ายภูมิลำเนาทำมาหากิน และช่วงที่มีคดีความติดตัว ทำให้เกิดสูญกาศ ข้อมูลถูกนำเข้าสู่ระบบ ‘ทะเบียนกลาง’ และทางหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีการบันทึกข้อมูล ทำให้ไม่สามารถโอนเบี้ยผู้พิการให้ได้
เลขาธิการมูลนิธิปัญพัฒน์ฯ ยืนยันตามหลักสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน แม้นว่าจะมีช่วงเวลาที่หายไป แต่สิทธิ์ของผู้พิการไม่ควรหายไปด้วย โดยเฉพาะขณะนี้ที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ (การมีชีวิตอยู่) ก็ควรได้รับเบี้ยตามสิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้พิการถูกริดรอนสิทธิ์มาโดยตลอด
ความเปาะบางตรงนี้ เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่สวนทางกับมิติระดับนานาชาติ หลังการเข้าร่วมภาคีและการให้สัตยาบันของประเทศไทยเมื่อปี 2551 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ระดับสูงสุด (Convention on the Rights of Persons with Disabilities) ของสหประชาชาติ หมายความว่า หากถูกละเลยหรือจำกัดสิทธิ์ สามารถนำเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศได้ทันที กระนั้น รัฐบาลไทยยังถูกมองว่า ไม่ใส่ใจเท่าที่ควร อีกทั้งยังเห็นภาพการริดรอนสิทธิ์ของผู้พิการอยู่เนื่องๆ
ต้องรอให้ทุกอย่างกลายข่าวหรือ รัฐจึงจะช่วยเหลือ ?
การมีบัตรคนพิการ ที่จะนำมาสู่การได้รับสิทธิต่างๆ จากรัฐ ยังกลายเป็นอุปสรรคของผู้ทุพพลภาพ หากยึดตามการประเมินตัวเลขคนพิการในประเทศไทย ที่ปรีดาระบุว่า มีประมาณ 7 ล้านคน แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า มีคนพิการอยู่เพียง 4.1 ล้านคน ซึ่งคนพิการในจำนวนดังกล่าวมีบัตรอยู่เพียง 2.1 ล้านคน ส่วนที่เหลือกลายเป็นคนตกหล่น จากผลพวงการเข้าถึงสิทธิอันแสนยุ่งยาก
โดยเฉพาะความพิการที่ไม่เห็นโดยประจักษ์ เพราะตามหลักจะต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์เสียก่อน ว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวคือผู้พิการ ซึ่งจากการสำรวจของมูลนิธิ พบว่ามีจำนวนมากที่แพทย์ไม่อนุมัติให้เป็นผู้พิการ ทั้งๆ ที่ตามหลักการควรได้รับสิทธิ์ อาทิ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคที่เข้าหลักเกณฑ์
ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกออกแบบให้มี ‘ข้อต่อ’ ทั้งๆ ที่ผู้รับผิดชอบเรื่องงบประมาณและสวัสดิการ มีกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพ แต่กลับต้องได้รับความเห็นชอบจากบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข จึงกลายเป็นว่า การได้มาซึ่งบัตรผู้พิการเป็นอะไรที่ซับซ้อน และยากต่อการได้มาของประชาชน
“ถ้าไม่กดดันเขาก็ไม่ให้ ยิ่งชาวบ้านธรรมดาที่เขาไม่มีปากมีเสียง ยิ่งแล้วใหญ่ถูกไล่กลับบ้านไปก็หลายคน ผมเคยเจอยายคนหนึ่งหลังคดตั้งแต่เด็ก เดินแทบจะล้มทั้งยืน แต่หมอกลับไม่ยอมบัตรให้ บอกว่ายายไม่พิการ เขาขอมาทั้งชีวิตก็ไม่เคยได้สักที นี่คือสิ่งที่ต้องถามว่าเจ้าหน้าที่ พม. ทำอะไรกันอยู่ทั้งๆ ที่มันเป็นข้อต่อสำคัญ มันไม่ควรให้ สธ. เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะนิยามความพิการของหมอกับนิยาม กฎหมาย พม. มันต่างกัน”
ปรีดา ลิ้มนนทกุล กล่าว
ปรีดา มองว่า การเคลื่อนไหวของชายพิการชาวสุโขทัย มาจากความอัดอั้นในใจที่ระเบิดขึ้น ทำให้ต้องเดินทางไกลกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อร้องหาสิทธิ์ อีกนัยคือการแสดงภาพการต่อสู้ให้เจ้าหน้าที่ (ที่ไล่ให้เขาเดินทางมาติดต่อเองถึงกรุงเทพฯ) ได้รับรู้ เสมือนเป็นการสะท้อน ‘ความใจดำ’ ของราชการที่ปฏิบัติต่อผู้พิการ อย่างไร้ซึ่งความโอบอ้อมอารี ทั้งๆ ที่สามารถช่วยประสานงาน - อำนวยความสะดวกให้ได้ หากแม้นเรื่องนี้ไม่กลายเป็นข่าวใหญ่ ถูกสังคมจับจ้อง ก็คงไม่มีหน่วยงานไหนออกหน้าให้การช่วยเหลือแบบนี้
จึงไม่แปลกที่ มณฑลจะไม่ยอมหยุดและยืนยันจะเดินหน้าต่อไป เพราะการยื่นมือเข้ามาในภายหลัง เสมือนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นเอง
คนชายขอบตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของสังคมวันยังค่ำ
อย่างที่ทราบว่า การเดินทางโดยรถโยกคู่ใจของมณฑล บนถถนสายเอเซีย ตั้งแต่ช่วงอ่างทอง มาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เต็มไปด้วยประเด็นดราม่าตามรายทาง โดยเฉพาะท่าทีโมโหต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พยายามจะยับยั้งการเดินทาง โดยการเสนอให้พูดคุยและให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการเข้าดูแลหลังเรื่องเล็กๆ กลายเป็นข่าวใหญ่ ไปจนถึงการแสดงอากัปกิริยากับนักข่าวที่ติดตามสัมภาษณ์แบบเรียลไทม์ จนสังคมโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ เริ่มไขว้เขวกับประเด็นหลักในการเรียกร้อง สู่การติดตามประเด็นเชิงวิวาทะ ระหว่างผู้สื่อข่าวกับผู้ทุพพลภาพ และในที่สุดกลายเป็นว่า เขาต้องแสดงการขอโทษ และอธิบายความในใจถึงสาเหตุที่กระทำไปเยี่ยงนั้น
"คือผมไม่ได้พักผ่อนเลย ช่วงระยะเวลา 2-3 วันนี้ ผมนอนไม่ได้มันจะนอนได้ยังไง ถึงเพลียถึงอ่อนล้าแค่ไหนก็นอนไม่หลับ เพราะมีผู้คนรุมล้อมแบบนั้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้ผมไม่รู้จักผมจะหลับลงได้ไง นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับผม แล้วที่ออกสื่อวันนี้ว่าผมก้าวร้าว ก็ลองคิดดูครับ ว่าถ้าพวกท่านโดนแบบผมบ้าง ความรู้สึกจะเป็นยังไง ความโกรธ - ดีใจมันมีทุกคน ไม่มีใครเก็บอารมณ์ได้ 100 เปอร์เซนต์ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือคนธรรมดาล้วนมีหัวใจ มันคือสิทธิที่ทุกคนอยากได้"
ภาพการด่าทอ และการปฏิเสธความช่วยเหลือ กลายเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจ กลายเป็นประเด็นข่าวหลักของสื่อหลายสำนัก จนการเรียกร้องสิทธิคนพิการ ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นรอง ในสายตาของบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนศึกษา
‘ดร.ชเนตตี ทินนาม’ อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพสะท้อนจากการบอกเล่าเรื่องราวของสื่อ กับกรณีการเคลื่อนไหวของชายพิการ ว่าการนำเสนอประเด็นของนักข่าว ต้องสอดคล้องกับการทำหน้าที่ ตามหลักการของวารสารศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความพึงพอใจต่อการให้ข่าวของแหล่งข่าว’ ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา มีภาพแสดง ‘ความกระหายข่าว’ ของสื่อจนเกินขอบเขต ถือเป็นการลุกล้ำความเป็นส่วนตัว จนเกิดประเด็นบนโลกโซเชียล ทำให้สังคมเบนเข็มการรับรู้ จากการเรียกร้องสิทธิ์ เป็นการเสพปมดราม่าแทน
“มันไม่ได้หมายความว่า การที่คุณมณฑลกำลังถูกติดตามจากสังคม เป็นใบอนุญาตให้นักข่าวถือสิทธิ์ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของเขา โดยใช้คำอ้างที่สวยหรูว่าเพื่อเป็นกำลังใจและให้สังคมได้ติดตามต่อเนื่อง ซึ่งความไม่พอใจที่แสดงออกมาจากแหล่งข่าว มันเกิดขึ้นจากตัวสื่อเองทั้งสิ้น และมันจะส่งผลต่อเนื่องในมิติการนำเสนอข่าว เนื้อหาเชิงอารมณ์ถูกทำให้เป็นประเด็นลีด แต่สิ่งที่ควรพูดอย่างการต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการถูกกลบลบไป แย่ที่สุดมันอาจทำให้คนพิการอีกหลายล้านชีวิต สูญเสียสิทธิที่ควรได้รับ จากการเคลื่อนไหวของชายพิการคนนี้”
ในประเด็นที่มีภาพ ‘การขอโทษ’ ของมณฑลเรื่องภาวะเกรี้ยวกราดกับสื่อและเจ้าหน้าที่รัฐ จนถูกสังคมวิจารณ์ (ที่ออกมาล่าสุด) ชเนตตี มองว่า เป็นภาวะกดดันของชายพิการได้รับจากผู้คนแวดล้อม ตามทฤษฎีการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) อย่างชัดเจน สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ผู้มีอัตลักษณ์แบบ ‘คนชายขอบ’ เวลาอยู่ในสถานการณ์ มักถูกผลักไสให้กลายเป็นเหยื่อของสังคมเสมอ
อย่างการต่อสู้ในครั้งนี้ ที่ชายพิการยืนยันจะเคลื่อนไหวเรียกร้องด้วยตัวเอง และพยายามรับความช่วยเหลือจากภายนอกให้น้อยที่สุด แต่สุดท้ายสังคมกลับโทษว่า ทุกคนพยายามช่วยอยู่ ทำไมถึงไม่รับความเมตากรุณาจากผู้หยิบยื่น
กลายเป็นภาพสะท้อนสังคม ที่แฝงด้วยกลิ่นไอของ ‘อำนาจนิยม’ ที่ไม่รับฟังความต้องการ หรือความคิดเห็นของคนที่มีสถานภาพต่ำกว่า และพยายามยัดเยียดสิ่งที่ตนคิดเข้าไปให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม
ฉะนั้น สังคมต้องปรับวิสัยทัศน์ใหม่ เริ่มจากการรับฟังว่า ผู้ที่มีอัตลักษณ์ชายขอบเหล่านี้ต้องการอะไร และต้องเคารพการตัดสินใจที่ออกมาจากเขา อย่าง กรณีที่เกิดขึ้นกับมณฑล ในต้องการต่อสู้ด้วยตัวเอง โดยไม่เป็นภาระของผู้อื่น สาธารณชนต้องฟังอย่างเคารพ และให้เขาได้ทำตามเจตจำนง โดยเฝ้าดู - ให้กำลังใจห่างๆ ในลักษณะที่ไม่ทอดทิ้งแต่ไม่ล่วงล้ำ
“คนไทยเวลามองภาพคนชายขอบ มักใช้เลนส์แบบเดิมๆ ที่จะมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นเหยื่อเสมอ ทั้งๆ ที่เราพยายามรณรงค์มานับสิบปี ว่าผู้พิการสามารถดูแลตัวเองได้ จึงไม่ควรมอง ว่าเขาคือคนอ่อนแอเสมอไป แต่ควรที่จะใช้มุมมองที่จะช่วยเสริมพลังให้เขาเหล่านี้ มีความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเหมือนคนทั่วไปมากที่สุด กลับกลายเป็นว่าเวลาเราเห็นผู้พิการที่กล้าหาญเรียกร้องสิทธิ์ด้วยตนเอง คนบางกลุ่มก็ยังคงประณามว่าทำไมเขาถึงไม่รับความช่วยเหลือ เหมือนกับสังคมไม่ฟังเขาและกำลังจะเข้าไปตัดสินใจ หรือโน้มน้าวให้เขาเชื่อในสิ่งที่สังคมต้องการ เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน ว่าอำนาจนิยมยังแฝงตัวอยู่ในความคิด ทำให้ไม่รับฟังคนอื่นด้วยหัวใจ”
ชเนตตี ทินนาม กล่าวทิ้งท้าย
"ถ้าคนรวยโดนเหมือนผม เขาคงไม่เดือดร้อนอะไรหรอก เพราะเขามีเงินไม่ต้องดิ้นรน แต่ผมไม่มีอำนาจไปต่อรองกับใครได้ เขาก็ไล่อย่างเดียว ซึ่งผมก็เป็นแค่คนเถื่อน นี่คือผลกระทบประจำวันของคนที่ไม่มีทางไป ไม่มีทางสู้”
หวังว่า การถอดปรากฏการณ์ที่สร้างโดย ‘มณฑล’ ชายพิการโยกสามล้อร้องขอความเป็นธรรม จะทำให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงสิ่งที่จำเป็นต่อรับรู้และแก้ไข โดยเฉพาะชนชั้นนำ ที่มีอำนาจเต็มเปี่ยม ในการสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับ ‘ผู้พิการ**’**
เพราะเขาคือ ‘มนุษย์’ ที่ไม่สามารถลาออกจากตำแหน่ง ‘ประชาชนผู้เสียภาษี’ ได้