‘ห้องแอร์ปลอดฝุ่น’ คนจนมีสิทธิไหม?

8 ก.ย. 2566 - 08:33

  • กลายเป็นประเด็นดราม่าสุดเดือด! เมื่อสภา กทม.ตัดงบ ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ กว่า 219 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ปวดหัวใจเท่ากับการพูดถึงความยากจนของคน กทม.กับ ‘ห้องแอร์’ จนเป็นที่มาของท่อนเพลงฮิต ‘คนจนล่ะมีสิทธิไหม’

poor-person-and-air-conditioned-room-SPACEBAR-Hero
‘เด็กสังกัดกทม. ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่ได้รวย เวลากลับไปอยู่บ้าน ไม่ได้นอนห้องแอร์นะคะ’  

จากคำอภิปรายถึงโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาลของ ‘รัตติกาล แก้วเกิดมี’ ส.ก.เขตสายไหม พรรคไทยสร้างไทย ทำให้โลกโซเชียลฯ เดือดแบบฉุดไม่อยู่ 

ปฐมบทแห่งการดราม่าครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณางบประมาณ ‘โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต’ โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง และพัดลมระบายอากาศ ในแต่ละห้องเรียนที่มีขนาด 49-64 ตารางเมตร วงเงิน 219 ล้านบาท แต่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เกือบทั้งหมด มีมติตัดงบประมาณทิ้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ เพราะการปรับปรุงห้องเรียนโดยการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกวิธี ควรปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่นมากกว่า อีกทั้งการเสนอโครงการที่มีรายละเอียดเหมือนกันทั้งหมด คือติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง แต่บางห้องเรียนมีขนาดเล็ก อาจไม่จำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศที่มีขนาด BTU สูง เพราะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น 

แม้ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะชี้แจงแล้วว่า เด็กอายุ 1-6 ขวบเป็นกลุ่มเปราะบาง เป็นช่วงที่มีพัฒนาสมองมากที่สุด หากละเลยเด็กกลุ่มนี้ทำให้เด็กพัฒนาไม่เต็มที่ ส่งผลให้การพัฒนาช่วงต่อไปช้าลง การลงทุนกับเด็ก เป็นเรื่องที่มีประโยชน์และคุ้มค่า แต่สุดท้าย ‘ชัชชาติ’ ผู้แข็งแกร่งก็สู้แรงทัดทานไม่ไหว 
 

ส่องโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น เหตุใดจึงมีเสียงคัดค้าน?

สำหรับ ‘โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต’ นี้ มีแผนติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง และพัดลมระบายอากาศ ในแต่ละห้องเรียนที่มีขนาด 49-64 ตารางเมตร รวม 429 โรงเรียน 1,743 ห้อง งบประมาณ 219 ล้านบาท โดยแบ่ง 6 กลุ่มเขตดังนี้ 

1.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง จำนวน 41 โรงเรียน 140 ห้อง จำนวน 17,646,000 บาท  

2.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก จำนวน 129 โรงเรียน 561 ห้อง จำนวน 70,584,000 บาท  

3.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ จำนวน 45 โรงเรียน 244 ห้อง จำนวน 30,748,000 บาท  

4.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ จำนวน 55 โรงเรียน 192 ห้อง จำนวน 24,202,000 บาท  

5.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ จำนวน 89 โรงเรียน 247 ห้อง จำนวน 31,033,000 บาท  

6.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนใต้ จำนวน 70 โรงเรียน 359 ห้อง จำนวน 45,126,000 บาท 

เมื่อดูจากรายละเอียดโครงการ บรรดา ส.ก.ยังให้เหตุผลที่คัดค้านว่า โครงการนี้ไม่ได้แสดงเอกสารอย่างชัดเจน โดยเฉพาะที่มาของงบประมาณ นอกจากนี้ ยังไม่ได้ของบประมาณในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น ค่าบำรุงรักษา ค่าทำความสะอาดให้สอดคล้องกับงบประมาณติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ส.ก.จึงเห็นว่า วางแผนไม่ชัดเจน อาจทำให้การใช้จ่ายงบประมาณขาดประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุให้ปัดตก 

แม้ ส.ก.จะมีเหตุผลออกมามากมาย แต่ก็ยังถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนัก เพราะหากตัดทิ้งไป จะต้องเสนองบประมาณใหม่อีกครั้งในปีหน้า ทั้งที่อีกไม่กี่เดือน ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นสัญญาณของฤดูแห่งฝุ่น PM 2.5 ที่แม้แต่ร่างกายผู้ใหญ่ยังได้รับผลกระทบต่อสุขภาพไม่น้อย เพราะฝุ่นละออง PM 2.5 คือฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า โดยกรมการแพทย์ อธิบายไว้ว่า ความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อเด็ก สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย และทำลายระบบต่างๆ ได้ ปกติแล้วเด็กจะมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ จึงสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเด็กอายุน้อย อัตราการหายใจเข้าต่อนาทีก็ยิ่งถี่มากขึ้น เด็กจึงมีความเปราะบางต่อผลกระทบต่างๆมากกว่า ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านเข้าไปในสมองของเด็ก ฝุ่นเหล่านี้จะทำลายเซลล์สมอง กระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา การเรียนรู้ ความเป็นอยู่ และความสามารถในการประกอบอาชีพระยะยาว 
 

เช่นนี้แล้ว กทม.จะรับมือวิกฤตฝุ่นอย่างไร

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ กทม.ต้องรับมือ เมื่อไร้งบประมาณจัดทำโครงการห้องปลอดฝุ่นแล้ว ในช่วงเวลาอีก 1 ปีนับจากนี้ ระหว่างรอการเสนองบประมาณใหม่ กทม.จึงวางแผนฟื้นโครงการ Work From Home ในช่วงที่วิกฤตฝุ่นสูง เมื่อผู้ปกครอง Work From Home และในที่พักอาศัยมีเครื่องปรับอากาศ อยู่ในสถานที่ปิด ไม่ต้องเผชิญฝุ่น จะอนุโลมให้เด็กชั้นอนุบาลเรียนออนไลน์ได้ แต่หากจะให้เด็กชั้นอนุบาลเรียนออนไลน์ทุกคนนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะหากที่พักอาศัยของพวกเขา ไม่ใช่สถานที่ปิด อาจต้องเผชิญกับฝุ่นและส่งผลกระทบต่อการเรียนมากขึ้นกว่าเดิมได้ กทม.จึงต้องพิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบคอบเช่นกัน 


ระหว่างนี้ กทม.อาจนำแนวทางที่เคยทดลองนำร่อง 32 โรงเรียน ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ เมื่อต้นปี 2566 มาแก้ปัญหาไปพลางก่อน ด้วยการเน้นทำความสะอาดภายในห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ ปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิด ติดตั้งเครื่องอ่านค่าฝุ่นในห้องเรียน รณรงค์การไม่เผา และปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่น นอกจากนี้ ยังเตรียมนำเสนอแผนแก้ต้นตอฝุ่น PM 2.5 ต่อรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะแนวคิดการย้ายท่าเรือคลองเตย ออกจากกรุงเทพฯ เพื่อลดทั้งการแออัดและฝุ่น PM 2.5 ด้วย 

เชื่อว่า ผู้บริหาร กทม.พยายามหาทางออกเรื่องนี้อย่างดีที่สุด เพื่อดูแลสุขภาพของเด็กๆ ท่ามกลางฝุ่นและควันพิษ แต่สิ่งที่ทำให้คน กทม.อาจจะปวดใจมากกว่าภัยฝุ่น ก็คือคำพูดของหนึ่งใน ส.ก.ที่บอกว่า “เราจะเอาโรงเรียนกทม. ไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนของเอกชนไม่ได้ ที่บอกว่าต้องติดแอร์ทุกห้อง อันนั้น พ่อแม่เขาพร้อม มีความพร้อม มีเงิน” เพราะคำพูดเหล่านี้ กลับสะท้อนมุมมืดของการศึกษาที่ยังคงไม่เท่าเทียมกัน กลายเป็นหอกทิ่มแทงผู้ปกครองที่ต้องเจ็บปวดกับความยากจน สอดคล้องกับวลีดังในเพลงฮิตที่ใครๆได้ยินก็ต้องติดหู  

‘คนจนล่ะมีสิทธิไหมคะ’ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์