ห้องเรียนริมรางรถไฟ ที่สร้างขึ้นจากเสาไม้ แล้วมุงด้วยสแลนสีเขียวบังแดดฝน เป็นห้องเรียนใต้สะพานลอยฟ้าที่สร้างขึ้นริมทางรถไฟ ชุมชนมิตรภาพ เทศบาลนครขอนแก่น ในวันเสาร์บ่ายๆห้องเรียนขนาดเล็กมีกิจกรรมให้เด็กๆในชุมชนกว่า 20 คนได้ฝึกทักษะตามความสนใจ ได้พูดคุย เล่นกับเพื่อน และกินขนมกับพี่ๆครูอาสา ที่เป็นนักเรียนจากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนและโรงเรียนกัลยาณวัฒน์ ที่ใช้เวลาว่างมาเล่นสนุกกับน้องๆในชุมชน

จันทิมาพร ชีวะสวัสดิ์ หรือ ‘ครูแคท’ เป็นคนเชื่อมประสานระหว่างเด็กในชุมชน ผู้ปกครองและครูอาสา เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมโรงเรียนริมรางทุกวันเสาร์ เป็นหนึ่งในแนวทางที่พยายามให้เยาวชนในชุมชนใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมอื่นๆ มีทางเลือกได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ พยายามสร้างโอกาสทางการศึกษาให้มีความเท่าเทียม ทั่วถึงและมีคุณภาพ ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ 3 วิชา คือ บอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ ทักษะการดูแลใจ และเฮ็ดสื่อสื่อ
หลังจากที่ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ปกครองแล้ว ทำให้รู้ปัญหาบางส่วนของเยาวชน คือ การติดโทรศัพท์มือถือ เกมส์ และบางคนอยู่ท่ามกลางความรุนแรง เด็กๆ ที่นี่มีทั้งอยู่ในระบบ บางคนเสี่ยงออกนอกระบบ และบางส่วนหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่ไม่เอื้อ
จันทิมาพร ชีวะสวัสดิ์ หรือ ‘ครูแคท’

แม้อยู่ใจกลางเมือง ห่างจากจากความเจริญไม่กี่ก้าว ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป อาศัยอยู่ริมทางรถไฟ โอกาสทางการศึกษาจึงไม่เท่าเทียม และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะหลุดออกจากการศึกษา เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหา
จันทิมาพร ชีวะสวัสดิ์ หรือ ‘ครูแคท’

จันทิมาพร เล่าอีกว่า โรงเรียนริมรางที่เกิดขึ้น จึงมาจากความตั้งใจของผู้ปกครองในชุมชน และคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันพยายามสร้างพื้นที่เล่น-พื้นที่เรียนรู้ริมรางรถไฟ ให้วันหยุดเด็กๆมีกิจกรรมทำ ห่างไกลจากสิ่งยั่วยุ แต่ละหลักสูตรครูอาสาจะช่วยกันคิดช่วยกันทำ ขับเคลื่อนระบบการศึกษา ให้เด็กๆในชุมชนมิตรภาพริมรางรถไฟขอนแก่นได้เข้าถึงการศึกษารูปแบบใหม่ ที่เหมาะกับเด็กในชุมชน เน้นให้เกิดการสร้างทักษะชีวิต อย่างน้อยๆ ให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ เหตุที่ต้องเจอและรู้จักจัดการปัญหาให้เหมาะสม
วันเด็กของทุกปี นอกจากจะจัดกิจกรรมที่สนุกสนานสร้างความสุขให้กับเด็กแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือนโยบายจากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม มีพื้นที่เรียนรู้ที่มีความหลากหลายให้กับเยาวชนทุกคน ซึ่งรัฐบาลต้องมีข้อมูลว่ามีเด็กอยู่ที่ไหน มีกี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีความต้องการอย่างไรบ้าง เมื่อรู้ความต้องการของทุกกลุ่มแล้ว ขอให้ทางโรงเรียนจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์กับนักเรียนทุกคน ถ้าโรงเรียนสามารถทำได้จริง เชื่อว่าจะไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
จันทิมาพร ชีวะสวัสดิ์ หรือ ‘ครูแคท’

อีกสิ่งที่อยากฝากรัฐบาล คือ ให้มองเห็นเด็กทุกกลุ่ม ช่วยผลักดันส่งเสริมการเรียนการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กกลุ่มเสี่ยงได้อยู่ในระบบได้นานที่สุดและสามารถไปต่อยอดชีวิตเขาได้มากขึ้น เพราะหากยังปล่อยให้เด็กไปอยู่นอกระบบ ไม่มีวุฒิการศึกษา เมื่อไปทำงานได้ค่าแรงน้อย ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปในระดับประเทศ
จันทิมาพร ชีวะสวัสดิ์ หรือ ‘ครูแคท’

วันเด็กปีนี้ หากขอได้แม่อยากให้ลูกมีการศึกษาดีๆ ได้เรียนสูงๆ จบแล้วมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองพอใช้จ่ายในชีวิต มีเงินซื้อบ้านอยู่ในที่ดินของตัวเอง ไม่ให้เป็นเหมือนแม่ เกิดมาก็ลำบาก เรียนน้อย ไม่มีที่ดินอยู่เป็นของตัวเอง รู้สึกดีใจที่ยังมีกลุ่มอาสาสมัครเข้ามาจัดกิจกรรมในชุมชน ทำให้เด็กๆวางโทรศัพท์ หยุดเล่นเกมส์ และมีขนมอร่อยๆ ให้เด็กได้กิน
โยธิตา สิงหาราม แม่ของเด็กในชุมชนมิตรภาพ
เป็นเสียงสะท้อนของ โยธิตา สิงหาราม แม่ของเด็กในชุมชนมิตรภาพ ชุมชนริมรางรถไฟ เธอยังย้ำอีกว่า สิ่งที่เป็นห่วงมากคือการศึกษาของลูก ที่กำลังเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา เพราะหลังจากที่จะมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะ 2 นครราชสีมา – หนองคาย และรถไฟความเร็วสูง ทำให้ชุมชนมิตรภาพทั้ง 82 ครัวเรือนต้องย้ายออกจากระยะ 40 เมตร ตามแผนการรองรับการอพยพในอีก 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งยังไม่รู้จะไปอาศัยอยู่ที่ไหนของพื้นที่เมืองได้บ้างที่ใกล้โรงเรียนและที่ทำกินของตัวเอง
หากไปอยู่ที่ใหม่ที่ไกลขึ้น กังวลเรื่องการศึกษาของลูก และค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มตาม ความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ทำให้เป็นอีกสาเหตุที่จะทำให้เด็กในชุมชนต้องหยุดเรียน เมื่อเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมด
โยธิตา สิงหาราม แม่ของเด็กในชุมชนมิตรภาพ

อังคาร ชัยสุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น ในฐานะที่คลุกคลีกับนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เล่าว่า สำหรับโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ยอมรับว่า เด็กมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
เด็กแต่ละคนมีปัญหาที่หลากหลาย เป็นปัญหาทับซ้อนที่ทำให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบ คือ เริ่มจากปัญหาจากการติดโทรศัพท์มือถือ ติดโซเชียลมีเดีย ปัญหายาเสพติด การกลั่นแกล้ง การบูลลี่ของกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนส่งผลกระทบทางจิตใจ ทำให้เด็กตัดสินใจไม่ไปโรงเรียน สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เอื้อกับการเรียน ภาวะเศรษฐกิจของพ่อแม่ และเงื่อนไขชีวิตที่ไม่ตอบโจทย์กับระบบการศึกษาหลัก
อังคาร ชัยสุวรรณ รอง ผอ.โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น

ที่ผ่านมา ทำงานกับเครือข่ายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามาโดยตลอด จึงพยายามออกแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก ไม่เน้นวิชาการอย่างเดียว แต่จะเน้นทำกิจกรรมอื่นๆเพื่อค้นหาความชอบของเด็ก เช่น ลงแขกดำนา เกี่ยวข้าว ปลูกผัก ศิลปะ ดนตรี สร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลาย จึงพบว่าเด็กกลุ่มนี้ทำได้ดีในสิ่งที่เขาสนใจ เขาหาอยู่หากินเก่ง มีไหวพริบในการเอาตัวรอดสูง ขอให้ครูช่วยกันค้นหาให้เจอว่าเขาชอบอะไร เพื่อจะได้สนับสนุนและชี้ให้เขาเดินไปตามทางนั้น เป้าหมายสำคัญคือสร้างความสนใจดึงเด็กให้อยู่ระบบการศึกษาให้นานขึ้น
อังคาร ชัยสุวรรณ รอง ผอ.โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น
จากข้อมูลของเครือข่ายเสียงเยาวชน จ.ขอนแก่น ในประเด็นสิทธิการเข้าถึงระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 2565 พบว่า กลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา อายุตั้งแต่ 13-25 ปี เกิดจากสาเหตุสำคัญที่เป็นความเสี่ยงทำให้ต้องหยุดเรียนกลางคัน หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างถาวร สาเหตุอันดับ 1 คือ ปัญหาเศรษฐกิจความยากจนของครอบครัว จนส่งผลให้สถานภาพครอบครัวไม่พร้อมส่งเรียน

ขณะที่ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. พบว่า มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 - 18 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา หรือคิดเป็น 8% ของจำนวนเด็กไทยวัยเรียนทั้งหมด 12.2 ล้านคน
โดยในจำนวน 1.02 ล้านคนนี้ กลับมีถึง 3.94 แสนคน (หรือคิดเป็น 38% ของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา) และมีอายุอยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (6 - 14 ปี) ขณะที่ช่วงวัยอนุบาล (3 - 5 ปี) และช่วงวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย (15 - 18 ปี) มีจำนวนเด็กนอกระบบอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ 31% เฉลี่ยชั้นปีละ 1 แสนคน

และปัจจุบัน ยังพบว่ามีเด็กอีก 2.8 ล้านคน ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา สาเหตุสำคัญมาจากความไม่พร้อมของฐานะครอบครัวและอุปสรรคในชีวิตอื่นๆ ที่ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ไม่ได้ไปต่อในชั้นเรียน
โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนเด็กนอกระบบการศึกษามากที่สุด คือ จ.ตาก (33%) อันดับที่ 2 คือ จ.สมุทรสาคร (24%) และอันดับที่ 3 คือ จ.แม่ฮ่องสอน (24%)