‘เด็ก Dropout’ สุดเรื้อรัง! เร่งหยุดวิกฤตการศึกษาไทย

4 ก.ค. 2567 - 07:31

  • เปิดบทสัมภาษณ์ ‘โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ’ กับปัญหาเรื้อรังของ ‘วงการการศึกษาในประเทศไทย’ คือ ‘เด็ก Dropout’ หรือ เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ที่ตัวเลขจริงอาจไม่สูงถึง ‘1.02 ล้านคน’

siripong-4july2024-SPACEBAR-Hero.jpg

‘เด็กหลุดจากระบบการศึกษา’ กลายเป็นปัญหาใหญ่กับ ‘วงการการศึกษาไทย’ ซึ่งไม่กี่วันมานี้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี ถึงขั้นออกมาสั่งการเร่งแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่หลุดระบบการศึกษา จำนวน 1.02 ล้านคน ให้เป็นศูนย์

ทีมข่าว SPACEBAR ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ถึงสถานการณ์ในตอนนี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้รับรายงานเด็กหลุดออกจากระบบโดยข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในปีนี้เป็นจำนวน ‘2 หมื่นกว่าคน’ ตั้งแต่ช่วงการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการพยายามติดตามเด็กให้กลับมาเข้าสู่ระบบ เช่น ในช่วงก่อนเปิดเทอม มีประกาศอยู่ 3 ครั้ง ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ปลายเดือนเมษายน และต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กจำนวนมากผิดหวังจากการเข้าโรงเรียนที่แข่งขันกันสูง ขณะนั้นจึงได้มีประกาศว่า ยังมีโรงเรียนที่ว่างอยู่ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ให้โรงเรียนลักษณะที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ไปตามเด็กว่า มีเด็กหลุดออกจากระบบหรือไม่ ซึ่งปีนี้โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มีเด็กมาเรียนเพิ่มในโรงเรียนถึง 2,000 กว่าคน ทำให้เห็นถึงความพยายามของการติดตามเด็ก ยอมรับว่า ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ และยังหามาตรการที่ดีกว่านี้ เพราะเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ ‘Zero Dropout’ คือ ไม่มีเด็ก Dropout อีกเลย

‘สิริพงศ์’ เล่าว่า โดยปกติการเรียนจะเหมือนกับเป็นฐานปีระมิด เด็กประถมจะเป็นฐานที่มีคนเรียนเยอะ พอมัธยมจะแคบลง ก็จะมีเด็กบางส่วนที่เขาหลุดออกไป แล้วพอมัธยมปลายก็จะแคบลงอีก เพราะว่า มีเด็กบางส่วนที่อยู่ทั้งในระบบ หรือออกไปศึกษาต่อ หรือเขาอาจจะหยุดเรียนตอน ม.3 และเด็กบางส่วนก็ไปเรียนสายอาชีพ ‘ซึ่งช่วงที่มีเด็กหลุดจากระบบมากที่สุดคือช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 3’

สาเหตุใหญ่ที่สุดที่ ‘เด็กหลุดจากระบบการศึกษา’

“มันก็มีทางเลือกให้เด็กเยอะ บางคนคิดว่า เขามีวุฒิการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็โอเคแล้ว พอมันพ้นภาคบังคับ เขาก็โอเคแล้ว บางคน เขาก็ไปต่อสายอาชีพ บางคนก็อาจจะเรียนไป ทำงานไป”

สิริพงศ์ กล่าว

‘สิริพงศ์’ บอกอีกว่า การศึกษาของไทยขณะนี้มี 3 ระบบ ได้แก่ 1.การศึกษาในระบบ คือการศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน 2.การศึกษานอกระบบ เช่น วิทยาลัยที่สอนทักษะเสริมต่างๆ การศึกษาที่เขาอาจจะจัดการเรียนการสอนเอง 3.การศึกษาตามอัธยาศัย เช่น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) 

เหตุใด? ข้อมูลเด็กหลุดออกจากระบบ 1.02 ล้านคน จึงไม่ตรงกับ สพฐ.

‘โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ’ ชี้แจงว่า คิดว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลจาก กสศ. โดย กสศ.เทียบจากทะเบียนราษฎร์ เข้าใจว่า เทียบจากจำนวนเด็กเกิดในแต่ละช่วงปี และในแต่ละปี มีเด็กที่ได้รับการศึกษาอยู่เท่าไหร่ ซึ่งอาจจะเป็นหลักคิดว่า ‘เด็กเกิดในปีนี้ ถึงปีนี้ มีจำนวนเท่าไหร่ แล้วมาลบออกด้วยจำนวนของเด็กในระบบการศึกษา’ แต่พอเช็คตัวเลขมาในแบบนี้ ก็เป็นไปได้ที่จะ Error หรือจำนวนเด็กซ้ำกันสูง ซึ่งตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังให้ สพฐ.เป็นเจ้าภาพ ในการรวมตัวของเด็กในระบบทั้งหมด และมาทบทวนใหม่ เนื่องจากเราก็เคยได้ข้อสังเกตจากสภาการศึกษามาว่า 

“ทำความเข้าใจกับเขาหน่อยว่า ตัวเลขที่เราส่งไปให้ คือตัวเลขนักเรียนในระบบ แต่ในความเป็นจริงมีทั้งในระบบและนอกระบบระบบ และตามอัธยาศัย ซึ่งตัวเลขมันอาจจะไม่ตรงกัน และบางคนไปสื่อสารว่า เด็กเรียนอยู่แล้วออกจากระบบ มันก็ไม่ใช่ ซึ่งในความเป็นจริง เขาอาจจะอยู่ในการศึกษาพิเศษก็ได้ อะไรแบบนี้ หรืออาจจะไปเรียนต่างประเทศ หรืออาจจะไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ มันแค่ไม่ได้อยู่ในระบบของกระทรวงศึกษาธิการ“ 

‘สิริพงศ์’ ย้ำว่า ในส่วนของ สพฐ.นับว่า ฐานเด็ก ป.6 ปีนี้ เทียบกับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 1 ดูว่า ต่างกันเท่าไหร่ และฐานเด็ก ม.3 ปีที่แล้ว เทียบกับเด็ก ม.4 ต่างกันเท่าไหร่ ก็จะสันนิษฐานได้ว่า มีเด็กหลุดออกจากระบบจำนวนเท่าไหร่ ยอมรับว่า ก็มีเด็กที่หลุดกลางคันที่ไม่ใช่ช่วงรอย  ปกติในการจัดการเรียนการสอน ก็จะมีความจำเป็นของผู้ปกครอง บางคนประสบปัญหาครอบครัว มีการย้ายถิ่นฐานหรือมีเหตุอื่น ที่อาจจะทำให้เด็กหลุดออกจากระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม มันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้หมด

“คือถ้าเป็นสมัยก่อนเราก็จะเห็นว่า สมมุติว่าพ่อแม่เป็นข้าราชการ ลูกเรียนอยู่ แล้วย้ายถิ่นฐานไป แล้วพอย้ายถิ่นฐานไปแล้ว ย้ายโรงเรียนไปแล้ว แล้วเด็กเกิดอยากเรียนนอกระบบ หรืออาจจะอยากเรียนโรงเรียนอะไรที่เขาไม่ได้แจ้งผล ก็กลายเป็นเด็กหลุด เป็นต้น คือมันเกิดขึ้นได้ตลอด แต่จะมีการมอนิเตอร์ของโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องยอมรับว่า สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนขนาดเล็กทำคือ พยายามหาเด็กมาเรียน เพราะหมายถึงเงินอุดหนุนรายหัว ฉะนั้นประเภทที่บอกว่าโรงเรียนปล่อยปละละเลยให้เด็กหลุดนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะทุกวันนี้โรงเรียนต้องแข่งกันหาเด็ก หรือแม้กระทั่งโรงเรียนเอกชน ถึงขนาดต้องทำรถรับส่งไปรับส่งเด็กต่างอำเภอ อย่างที่ผ่านมาก็เคยมีข่าวว่า โรงเรียนเล็กบ่นว่า จะตายแล้ว เพราะเด็กในชุมชนโดนรถมารับหมด ฉะนั้นภาวะการแข่งขันกันสูงมาก”

สิริพงศ์ กล่าว

‘สิริพงศ์’ บอกกับเราอีกว่า ตอนนี้สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการพยายามทำเพิ่มเติม คือเด็กที่เขามีความจำเป็นและไม่สามารถมาโรงเรียนได้ เราก็ร่วมกับ กสศ. ในการทำ ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ คือ 1. ระบบที่มาเรียนตามปกติ 2.เรียนเองแล้วส่งงาน 3.ไปทำงาน แต่อาจจะมาร่วมกิจกรรมบ้าง เพื่อเรียนรู้ทักษะการเข้าสังคม ซึ่งแนวทาง ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ ส่วนมากเป็นโรงเรียนตามชายแดนตามชายขอบ ชนบท ที่บุตรหลานเค้าอยู่ตามเศรษฐสภาพ บางคนก็ต้องไปทำงานช่วยพ่อแม่ แต่เขาก็ไม่ได้หลุดออกไปจากระบบ

มาตรการอื่นๆ ที่จะแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบ?

‘สิริพงศ์’ เล่าว่า เราพยายาม ‘ปิดรูรั่ว’ เช่น คุณอาจจะมีปัญหาเรื่องเศรษฐสภาพ การถูกบูลลี่ในสถานศึกษา เรื่องเศรษฐสภาพ อย่างเช่น ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศว่า กรณีเด็กที่ไม่ได้จ่ายค่าเทอม แล้วโรงเรียนจะไม่ออกใบเกรดให้เรียนต่อ ก็ออกคำสั่งมาว่า “คุณไม่มีสิทธิ์นะ คุณต้องออกใบเกรดให้เขา ส่วนเรื่องการค้างชำระ คุณก็ไปผ่อนจ่ายกัน”

“และอีกเรื่องที่เห็น คือการยกเว้นผ่อนผันชุดนักเรียน เพราะเรากังวลว่าเด็กจำนวนหนึ่งที่อุปกรณ์การเรียนไม่ครบแล้วเมื่อไปโรงเรียนกลับถูกบูลลี่ ถูกครูถาม ถูกห้ามเข้าห้องเรียน หรือแม้กระทั่งการที่ครูต้องช่วยเหลือเด็กให้จบ เช่นที่เห็นข่าว เราพยายามไม่ให้เด็กหลุด จนบางครั้งมีคำถามว่าแล้วเรื่องคุณภาพจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องแยกกัน เพราะคุณภาพเราจะต้องไม่ตก แต่เด็กที่เขาเรียนไม่ได้ เราก็ทำคุณภาพให้ดีที่สุด ให้เหมาะสมกับตัวเขา”

สิริพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ การมี ‘ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่’ ก็จะช่วยแก้ปัญหาในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย สังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งตอนนี้เราก็แก้หลายอย่าง ระหว่างที่จะรอ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ เช่น สถานศึกษาตามมาตรา 12 ซึ่งจะมี 3 แบบ ที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ชุมชน การจัดการศึกษาของชุมชน การจัดการศึกษาของเอกชนในสถานประกอบการประกอบ เดิมทีอยู่ในมาตรา 12 ซึ่งก็เป็นประเด็นหนึ่งที่พูดในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ตอนนี้เรากำลังหาวิธีการที่อาจจะให้ สกร. เป็นคนอนุมัติ หรือว่า เรื่องหลักสูตร ที่ตัวชี้วัดเยอะเกินไป เราจะปรับเปลี่ยนอย่างไร คือต้องยอมรับว่าจากปี 2542 มาถึงวันนี้ โครงสร้างเปลี่ยนไปเยอะ ฉะนั้นการเปลี่ยนรูปแบบของ พ.ร.บ. ก็จะเหมือนกับว่าเป็นการมัดรวมเอาทุกปัญหาที่ผ่านมาแก้ใหม่ และทำกฏหมายให้ก้าวหน้ามากขึ้น แต่แนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าเป็นร่างใหม่เลยต้องใช้เวลา ฉะนั้น กระทรวงศึกษาธิการคงไม่ร่างใหม่ แต่ใช้ร่างเดิม และให้เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการสองสภาไปแก้ไขกัน ซึ่งจะมีผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการ สส.ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนขององค์กรต่างๆ มาแก้กันอยู่แล้ว เพราะเราดูเวลาแล้ว ถ้าร่างใหม่ เอาเข้าสภา ผ่านกรรมาธิการ น่าจะนาน 

จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเลยหรือไม่?

‘สิริพงศ์’ ยอมรับว่า “เราก็หวัง แต่มันไม่มีอะไรยั่งยืนหรอก” เพราะสุดท้าย เวลาเปลี่ยน โลกเปลี่ยน ปัจจัยเปลี่ยน มันก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าทำได้คือ มันจะคล่องตัวขึ้น เพราะแนวทางใหม่ ก็คุยกันไว้คร่าวๆว่า อยากจะให้ลงรายละเอียดเยอะ คือลักษณะของการเขียนกฎหมาย เขียนกว้างกว้างแล้วไปออกกฎระเบียบ หรือกฎหมายกำกับ กฎหมายระดับชั้นรองลงมา ที่ไม่ยุ่งยากในการปรับเปลี่ยน ก็ต้องเอากฎหมายลักษณะนั้นมา เพราะถ้าไปเขียนรายละเอียดทั้งหมดในกฎหมายชั้น พ.ร.บ. เวลาโลกเปลี่ยน ก็จะเปลี่ยนไม่ทันโลกอีก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์