คริสต์มาสฤดูร้อน? อากาศหนาวที่ไม่เหมือนเดิม

28 พ.ย. 2567 - 09:59

  • ฤดูหนาวแล้ว แต่ทำไมยังร้อน? แล้วช่วงคริสต์มาสและปีใหม่นี้มีโอกาศหนาวแค่ไหนกันนะ ร่วมไขคำตอบนี้กับ ‘ดร.สนธิ คชวัฒน์’ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย

  • กรุงเทพฯ ไม่หนาว ผลกระทบจากตึกสูงและโลกร้อน ขณะที่ภูมิภาคอื่นมีลุ้นหนาวกว่าปีก่อนๆ

  • สัญญาณเตือนจากธรรมชาติ : ฝนกระหน่ำ-น้ำท่วมหนักปีนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

  • รัฐยังล่าช้า : ภัยพิบัติซ้ำรอย กฎหมายโลกร้อนไม่คืบหน้า

  • สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แค่หนาวๆ ร้อนๆ ก็ใกล้ตัวแล้ว!

sonthi-kotchawat-unpredictable-weather-28-nov-2024-SPACEBAR-Hero.jpg

คำกล่าวที่ว่าประเทศไทย มี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนจนเรือหาย! ดูเหมือนว่าจะไม่เกินความจริงสักเท่าไหร่ เมื่อฤดูหนาวปีนี้ หลายพื้นที่ยังคงบ่นว่าร้อนตับแตก แม้กรมอุตุฯ จะประกาศว่าไทยเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม

สภาวะที่เกิดขึ้นจึงยิ่งเป็นการย้ำเตือนว่า ภาวะโลกร้อน ที่ทวีความรุนแรงจนกลายเป็น ภาวะโลกเดือด ได้ส่งผลให้ทั่วโลกร่วมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับ ความแปรปรวนของอากาศ 

แล้ว ฤดูหนาวแล้วปีนี้ ประเทศไทยจะมีโอกาศหนาวแค่ไหนกันนะ? สเปซบาร์ชวนไขคำตอบนี้กับ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย

SPACEBAR (6).jpg
Photo: ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย
  • ฤดูหนาวแล้ว แต่ทำไมยังร้อน?

ดร.สนธิ เริ่มต้นการอธิบายว่า ฤดูหนาว ตามนิยามของกรมอุตุฯ เริ่มขึ้นเมื่อ อุณหภูมิต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน และมีปริมาณฝนลดลงอย่างชัดเจน

แม้ตอนนี้บนยอดดอย ยอดภูเขาสูง จะมีอุณหภูมิประมาณ 7-10 องศา ซึ่งถือว่าหนาวแล้ว แต่ กรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยรู้สึกหนาว เป็นเพราะปัญหาเชิงพื้นทั้งปัจจัยภายในและภายนอก 

  • กรุงเทพฯ ไม่หนาว ผลกระทบจากตึกสูงและโลกร้อน ขณะที่ภูมิภาคอื่นมีลุ้นหนาวกว่าปีก่อนๆ

เนื่องจาก กรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ และมีตึกสูงเกือบ 2,000 แห่ง ทำให้เมื่อมวลอากาศเย็นจากแผ่นดินใหญ่พัดมา ลมจากตะวันออกเฉียงเหนือพัดมาแม้ขังอยู่ในแอ่ง แต่พวกตึกทั้งหลายและถนนต่างๆ ที่มันดูดความร้อนเอาไว้ เมื่อคลายความร้อนออกมา จึงทำให้อากาศร้อนขึ้น และไม่หนาวเท่าที่ควรจะเป็น แม้ตามทฤษฎีมันควรจะหนาวแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากการเกิดปรากฏการณ์ อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น เมื่อมันคลายความร้อนออกมาเยอะ และมาปะทะกับมวลอากาศเย็นจึงกลายเป็นเหตุที่ทำให้อากาศไม่หนาวเท่าที่ควรจะเป็น 

แต่ถึงอย่างนั้น ดร.สนธิ ก็เชื่อว่า ในช่วงคริสต์มาสช่วงปีใหม่อากาศจะหนาวขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าปีนี้ประเทศไทยน่าจะหนาวขึ้นกว่าปีก่อนๆ เพราะมีความชื้นในอากาศเยอะ และอีกเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าปีนี้อากาศจะหนาวกว่าปีก่อนๆ คือ การเกิดปรากฏการณ์หิมะตกหนักในรอบ 50 ปี ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 

ประกอบกับข้อมูลจาก กรมอุตุฯ ได้พยากรณ์ว่า วันนี้ (28 พ.ย.) อุณหภูมิในประเทศไทยจะลดลงประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ส่งผลให้อากาศเย็นลงในหลายภูมิภาค 

แต่ถึงอย่างนั้น ดร.สนธิ ย้ำว่าคงต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้โลกอยู่ในสภาวะอากาศแปรปรวนจนทำจับทางไม่ถูก ส่วนจะหนาวนานหรือไม่ คงต้องรอดูกัน เพราะอาจมีหนาวบ้างไม่หนาวบ้าง 

โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพฯ ที่มีตึกสูง มีพื้นที่สีเขียวน้อย และมีการจราจรเยอะทำให้มีการคลายความร้อนเยอะ และอีกสาเหตุหนึ่งคือตึกสูงไปบังลมหนาวอีก แต่คงไม่ถึงขั้นว่าจะเป็นคริสต์มาสในฤดูร้อน

“แค่ไหนถึงเรียกว่าหนาว เพราะฤดูหนาวคือ 23 องศาเซลเซียส แต่ในความหนาวของเราคือ อุณหภูมิสัก 27 องศาเซลเซียส เราก็จะบอกว่าหนาว ก็พอเป็นไปได้”

ดร.สนธิ กล่าว

  • สัญญาณเตือนจากธรรมชาติ : ฝนกระหน่ำ-น้ำท่วมหนักปีนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ดร.สนธิ ยังชี้ให้เห็นว่าการที่ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนที่บอกว่าภาวะโลกร้อนกำลังทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ที่ทำให้ฝนตกเยอะ 

และการที่น้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนนี้ มันคือร่องความกดอากาศต่ำที่เดิมมันอยู่ภาคเหนือ และได้พาดผ่านลงสู่ภาคกลาง ก่อนไล่ลงไปภาคใต้ เมื่อเจอลมทะเลเลยเกิดน้ำท่วมหนักกว่าปกติ  

ดังนั้น การที่น้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคใต้จึงเป็นสัญญาณเตือนว่าภาวะโลกร้อนกำลังรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งที่ปีนี้ประเทศไทยไม่มีพายุเข้าเต็มๆ ลูก เจอแค่หางพายุ ยังทำให้เกิดความเสียหายหนัก ประกอบกับเจอ เลนส์บอมบ์ (Rain Bomb) หรือฝนตกหนักเฉพาะจุด และปัญหาการปลูกพืชบนภูเขาหัวโล้น จึงทำให้เกิดความเสียหายค่อนข้างมาก

  • รัฐยังล่าช้า : ภัยพิบัติซ้ำรอย กฎหมายโลกร้อนไม่คืบหน้า

สำหรับแผนการรับมือผลกระทบจากภาวะโลกร้อนของรัฐบาล ทั้งการรับเมืองเรื่องน้ำท่วม หรือการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ดร.สนธิ มองว่า หากพูดกันตรงๆ ตอนนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรที่เป็นรูปธรรม มีเพียงการบอกว่าจะถอดบทเรียน แต่ยังไม่เห็นว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาอย่างจริงจัง ขณะที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็เตรียมจ่อเป็นปัญหาในช่วงปลายปีนี้อยู่

แม้แต่ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.โลกร้อน ก็ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ด้วยซ้ำ

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ไปรับปากใน COP 29 ที่อาเซอร์ไบจาน เมืองบากู ว่าเราจะทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ยังไม่เห็น รับปากว่าจะป้องกันแบบนั้นแบบนี้ แต่กฏหมายยังไม่ออกจะไปทำได้ยังไง”

ดร.สนธิ กล่าว

  • สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แค่หนาวๆ ร้อนๆ ก็ใกล้ตัวแล้ว!

ช่วงท้ายของการพูดคุย ดร.สนธิ ยอมรับว่า แม้เขาจะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่สังคมไทยยังมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว พร้อมมองว่ารัฐบาล ควรเป็นหัวหอกและเป็นผู้นำในการกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องนี้ และมีช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ผมพูดมา 10 ปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังพูดเหมือน ฝุ่น PM2.5 เรื่องภัยพิบัติทั้งหลาย โลกร้อน ตั้งแต่ COP24 จนถึง COP 29 ก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น ผมมองว่ารัฐบาลยังไม่ค่อยจริงใจหรือตั้งใจจริงในการแก้ปัญหานี้เท่าที่ควร”

ดร.สนธิ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้เขียนคิดว่า คริสต์มาสฤดูร้อน หรือการที่ฤดูหนาวกลายเป็นฤดูร้อนในบางพื้นที่ แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ จากผลพวงของภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

ไม่ใช่แค่เทศกาลคริสต์มาสเท่านั้น แต่ทุกเทศกาล ทุกฤดูกาล หรือแม้แต่วันธรรมดาทั่วไปของเราต่อจากนี้ก็อาจต้องเจอกับโลกที่ผิดปกติ และไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากทุกคนยังมองว่าโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว และยังไม่เริ่มทำอะไรเพื่อหยุดวิกฤตนี้  

อย่าลืมว่า สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แค่หนาวไม่หนาวก็เปลี่ยนชีวิตเราได้ และหากเราไม่เริ่มแก้ไขวันนี้ พรุ่งนี้เราอาจไม่มีโลกที่เหมือนเดิมให้แก้ไขอีกแล้ว

ร่วมกันเซฟโลกได้ง่ายๆ เพียงแค่ ลดการใช้พลาสติก ปลูกต้นไม้ หรือสนับสนุนกฎหมายสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้อาจเป็นก้าวแรกที่ช่วยหยุดวิกฤตนี้ได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์