ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เผยว่า จากกรณีเหตุแผ่นดินไหวศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ลึก 10 กิโลเมตร ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค. ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รับรู้แรงสั่นสะเทือน
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้สั่งการให้มีการรวบรวมข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นและประสานการปฏิบัติเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนทันที โดยขณะนี้ มีจังหวัดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวแล้ว จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่
- สมุทรสาคร
- เชียงใหม่
- เชียงราย
- แพร่
- แม่ฮ่องสอน
- ลำปาง
- ชัยนาท
- ลำพูน
- เลย
- กำแพงเพชร
- กรุงเทพมหานคร
ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายและรายงานข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับกรุงเทพมหานครมีรายงานอาคารร้าวและถนนทรุดตัว และมีอาคารถล่มจำนวน 1 จุด โดยเป็นอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ซึ่งจากรายงานเมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 28 มี.ค.
- มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 9 ราย
- เสียชีวิต 8 ราย
- สูญหายอีก 101 ราย
จากเหตุอาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่ม, ทาง กทม. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้ว
เหตุการณ์สาธารณภัยเป็นเหตุการณ์ภัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ในครั้งนี้เป็นภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภัยที่ไม่สามารถทำการแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ สิ่งที่ทำได้คือการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ การลดผลกระทบให้มีน้อยที่สุด และการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเอง ทันทีที่ทราบว่ามีเหตุการณ์อาคารถล่มในเขตกรุงเทพมหานคร ได้สั่งระดมทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ กทม. ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างในอาคารที่ถล่ม และสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ใกล้เคียงเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการให้พร้อมออกปฏิบัติการทันที โดยกำหนดให้สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต.บางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี เป็นจุดระดมทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัย (Staging Area) ในการปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยเมื่อช่วงเย็น ทีม USAR ปภ. ได้ไปสมทบกับทีม USAR กทม. และร่วมปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในอาคารที่ถล่ม ขณะนี้อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ หากมีความคืบหน้ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะรายงานข้อมูลให้สาธารณชนทราบเป็นระยะ
ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดี ปภ.
สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อื่น ได้สั่งการให้จังหวัดเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินโดนด่วน พร้อมประสานทุกภาคส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างครอบคลุมทุกมิติ โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด
ภาสกรกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากจังหวัดต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน และประสานการให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จะปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง
โดยในช่วงเวลา 09.30 น. จะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลืออีกครั้ง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ร่วมประชุม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
ขอให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง และขอให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทุกเขตเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธาารณภัยพร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติการในพื่้นที่ข้างเคียงและกรุงเทพมหานคร โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะปักหลักติดตามสถานการณ์และประสานการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดี ปภ.