หนึ่งในข่าวใหญ่ที่ทั่วโลกจับตาวันนี้คือ สถานการณ์ตึงเครียดของ “อินเดีย” และ “ปากีสถาน” ที่หลายฝ่ายหวั่นเกิดสงครามนิวเคลียร์! หลังจากก่อนหน้านี้มีสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่ทำเศรษฐกิจโลกทรุด และสงครามจริงระหว่างรัสเซีย–ยูเครน, ปาเลสไตน์-อิสราเอล แม้บางเหตุการณ์จะเบาบางลงจนเกือบยุติแล้ว แต่ผลพวงของการกระทำยังอยู่
วันที่เสียงระเบิดดังกว่าความยั่งยืน เป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อก็ไร้ซึ่งความหมาย หากมนุษย์โลกยังไม่สามารถบรรลุข้อที่ 16 “สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง”
สิ่งหนึ่งที่บางคนหลงลืมไปคือ สงครามกำลังทำลายอนาคตของโลกใบนี้อย่างเงียบๆ และทำให้เป้าหมายด้านความยั่งยืนที่นานาประเทศร่วมกันตั้งปณิธานไว้ห่างไกลออกไป เพราะเมื่อระเบิด 1 ลูกดังขึ้น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อก็เงียบลง
“สงคราม” เป็นภัยคุกคามที่ครอบคลุมและลึกซึ้งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกด้าน ทุกเป้าหมายใน Sustainable Development Goals (SDGs) ล้วนได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้หลายคนจะเข้าใจว่าเรื่องโลกร้อน สิ่งแวดล้อม เป็นหัวใจของ SDGs แต่ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “ความร่วมมือ” ดังนั้นการสร้างสันติภาพจึงไม่ใช่เพียงแค่เป้าหมายหนึ่งของ SDGs ข้อที่ 16 เท่านั้น แต่เป็น “เงื่อนไขพื้นฐาน” ที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ทั้งหมด
ลองจินตนาการภาพโลกในวันที่เราไม่ต้องพูดถึง “ขยะพลาสติก” “โลกร้อน” “น้ำแข็งขั้วโลกละลาย” “ไฟป่า” เพราะทุกคนกำลังพูดถึง “ระเบิด” และ “ขีปนาวุธ”…ไม่ใช่เพราะมันน่าตื่นเต้น แต่เพราะมันกำลังเกิดขึ้นจริงบนโลก
สงครามไม่ใช่แค่เรื่องของอาวุธ
แต่เชื่อมโยงธรรมชาติ การดำเนินชีวิต และความร่วมมือระดับโลก
เรามักพูดถึงสิ่งแวดล้อมในบริบทของพลาสติก ป่าไม้ หรือการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ในความเป็นจริง กิจกรรมทางทหารเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดประเภทหนึ่งของโลก แค่การซ้อมรบครั้งใหญ่ก็สามารถปล่อยคาร์บอนเทียบเท่ากับการเดินทางของคนทั้งเมือง แถมสงครามยังทำลายสิ่งที่ธรรมชาติต้องใช้เวลาสร้างมานับพันปี แม่น้ำต้องปนเปื้อนด้วยน้ำมันจากรถถัง ป่าถูกถางเพื่อสร้างฐานทัพ และสัตว์ป่าถูกพรากถิ่นที่อยู่อาศัยเพราะสนามบินทหารแห่งใหม่ เราเสียทั้งต้นไม้ เสียดินดี และเสียเวลาในการฟื้นฟูโลกไปพร้อมๆ กัน
ขณะเดียวกันทั้งการศึกษา การแพทย์ น้ำสะอาด อาหารปลอดภัย ความเท่าเทียม ความสงบสุข ทุกระบบถูกบดขยี้จนแหลกละเอียด เด็กหยุดเรียนเพราะโรงเรียนถูกทำลาย หญิงสาวต้องละทิ้งการศึกษาหรืออาชีพเพื่อเอาตัวรอดจากการล่วงละเมิดทางเพศ คนหนุ่มสาวในวัยทำงานกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือเสียชีวิตก่อนที่จะได้สร้างอนาคต และเมื่อความหวังหายไป โอกาสที่ “ความยั่งยืน” จะเกิดขึ้นก็ริบหรี่ตาม
หนึ่งในเป้าหมายของ SDGs คือการสร้าง “ความร่วมมือระดับโลก” เพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น แต่ทุกครั้งที่มีสงคราม สิ่งที่หายไปก่อนคือความไว้ใจและความร่วมมือ เพราะการเจรจาระหว่างประเทศหยุดชะงัก การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การแบ่งปันเทคโนโลยีสะอาด หรือการช่วยเหลือประเทศยากจนเพื่อรับมือกับโลกร้อน ทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องรองในวันที่รัฐบาลต่างทุ่มงบประมาณไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และโลกต้องเปลี่ยนเป้าหมายจาก “การลดโลกร้อน” เป็น “การรักษาอำนาจ”
![[object Object]](/_next/image?url=%2Fapi%2Fmedia%2Ffile%2Fsustainability-1-war-the-world-17-sdgs-shattered-SPACEBAR-Photo01.jpg&w=3840&q=75)
สงครามกับผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ
1. ขจัดความยากจน (No Poverty) สงครามทำให้ประชาชนต้องอพยพ สูญเสียที่อยู่อาศัย อาชีพ และทรัพย์สิน คนจำนวนมากกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือพลัดถิ่นภายในประเทศ ซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตอย่างมั่นคงได้ รายงานของ UNHCR ระบุว่าปี 2023 มีผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั่วโลกถึง 117.2 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้ง ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการประท้วง ทำให้สถานการณ์ความยากจนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
2. ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) พื้นที่เกษตรกรรมและระบบการผลิตอาหารมักถูกทำลายจากการสู้รบ หรือไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ห่วงโซ่อาหารหยุดชะงัก ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างเฉียบพลัน ข้อมูลใน UN Sustainable Development Goals Report 2023 เผยว่าในปี 2023 ประมาณ 733 ล้านคน ทั่วโลกเผชิญกับความหิวโหย และ 2,300 ล้านคน ประสบภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารระดับปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์นี้แย่ลง
3. สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) สงครามทำให้โรงพยาบาลถูกโจมตีหรือใช้งานไม่ได้ ขาดบุคลากรทางการแพทย์และยารักษาโรค นอกจากนี้ยังเกิดการบาดเจ็บ โรคระบาด ความเครียดทางจิตใจ และความทุกข์ทรมานทางกายและใจอย่างรุนแรง
4. การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) สงครามทำให้โรงเรียนต้องปิด เด็กและเยาวชนพลัดถิ่น ขาดครู ขาดอุปกรณ์การเรียน ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ขาดโอกาสในการศึกษาและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
5. ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ผู้หญิงและเด็กหญิงมักได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษในช่วงสงคราม ทั้งจากการล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ การถูกใช้เป็นเครื่องมือในสงคราม รวมถึงการสูญเสียโอกาสในการศึกษาและทำงาน
6. น้ำสะอาดและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) การโจมตีโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งยังทำให้สุขาภิบาลขั้นพื้นฐานเสื่อมถอย ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำอย่างแพร่หลาย
7. พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) โรงไฟฟ้าและระบบส่งพลังงานมักเป็นเป้าหมายโจมตีในสงคราม ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่มีไฟฟ้าใช้ อีกทั้งความพยายามในการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดหยุดชะงัก
8. การงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth) สงครามทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก โรงงานและธุรกิจถูกทำลาย การจ้างงานลดลงอย่างมหาศาล นอกจากนี้การลงทุนภายในประเทศและจากต่างประเทศก็หายไป
9. อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure) สงครามมักทำลายถนน สะพาน ระบบสื่อสาร และโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่หยุดลง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงอย่างรุนแรง
10. ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality) ความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้นในภาวะสงคราม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มผู้มีอำนาจกับประชาชนทั่วไป กลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ เด็ก และผู้หญิง ยิ่งตกอยู่ในภาวะเสี่ยงและถูกละเลย
11. เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) เมืองและชุมชนที่เคยมีชีวิตชีวาถูกเปลี่ยนเป็นสมรภูมิรบ โครงสร้างพื้นฐานเสียหาย ประชาชนหนีภัย ส่งผลให้เมืองสูญเสียความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน
12. การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) การใช้ทรัพยากรในสงครามมีลักษณะสิ้นเปลืองและไร้ประสิทธิภาพ ทั้งยังทิ้งสารพิษและของเสียที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
13. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) กิจกรรมทางทหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็หยุดชะงักเพราะความขัดแย้ง
14. การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรอย่างยั่งยืน (Life Below Water) สงครามที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือหรืออาวุธใต้น้ำ ทำลายระบบนิเวศทางทะเล และปล่อยสารพิษลงในมหาสมุทร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและรายได้สำคัญของมนุษย์
15. การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน (Life on Land) การใช้อาวุธ การวางกับระเบิด และการรุกล้ำเข้าไปในป่าเพื่อการทหาร ทำให้ระบบนิเวศป่าไม้เสียหาย สัตว์ป่าถูกคุกคามอย่างรุนแรง
16. สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง (Peace, Justice and Strong Institutions) สงครามคือการล่มสลายของเป้าหมายข้อนี้โดยตรง เพราะแสดงถึงการขาดสันติภาพ ความยุติธรรม และหลักนิติธรรม อีกทั้งยังทำให้สถาบันรัฐอ่อนแอหรือถูกครอบงำด้วยอำนาจเผด็จการ
17. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals) สงครามทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศหยุดชะงัก ทรัพยากรที่ควรใช้เพื่อการพัฒนาถูกเบนไปใช้ในกิจกรรมทางการทหาร ส่งผลให้การพัฒนาโดยรวมชะงักงัน
เส้นบางๆ ระหว่างความคิดที่ใครบางคนอาจหลงทาง
- เราปลูกต้นไม้...แต่ลืมว่าสงครามเผาทำลายมันภายในพริบตา
- โลกใช้เวลากว่าหลายร้อยปีในการฟื้นฟูธรรมชาติ...แต่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการลบมันให้หายไปในควันไฟ
- ทุกการสู้รบไม่เพียงแต่ปล่อยคาร์บอนในระดับอุตสาหกรรม...แต่ยังทำลายป่า แหล่งน้ำ ดิน และความเชื่อมโยงของระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อน ไม่ต่างจากการทำลายโครงสร้างของชีวิตอย่างเงียบๆ
- เราชวนกันลดใช้ถุงพลาสติก... แต่ละเลยว่าเครื่องบินรบลำหนึ่งใช้เชื้อเพลิงมากกว่าที่คนธรรมดาใช้ทั้งปี
ดังนั้น ความยั่งยืนต้องเริ่มจาก “ความสงบสุข” เพราะคงไม่มีวันที่เราสามารถปลูกต้นไม้ให้รอดได้ ถ้าดินยังสั่นเพราะแรงระเบิด ไม่มีวันที่น้ำจะใสถ้าท่อระบายน้ำยังเต็มไปด้วยเศษซากของอาวุธ จะไม่มีวันที่โลกจะสงบได้ถ้าความยั่งยืนยังไม่เคยอยู่ในกลยุทธ์ของการเจรจาสันติภาพ

เราจึงเชื่อว่าเป้าหมายทั้ง 17 ข้อของ SDGs จะไร้ซึ่งความหมาย หากมนุษย์โลกยังไม่สามารถบรรลุข้อที่ 16 “สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง” และเป้าหมายทั้ง 17 ข้อ จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเป้าหมายแห่งสันติภาพ ยังเป็นเพียงข้อท้ายๆ ที่ถูกพูดถึง
นี่อาจเป็นเวลาที่เราต้องเลิกมองคำว่า “สันติภาพ” เป็นคำที่สวยงาม แต่มองมันเป็น “เงื่อนไขจำเป็น” ที่จะทำให้โลกใบนี้รอด เพราะสุดท้ายแล้ว “ความยั่งยืน” ไม่ใช่แค่เรื่องของดิน น้ำ หรืออากาศ แต่มันคือเรื่องของ “คน” ที่จะอยู่บนโลกร่วมกันอย่างสงบสุขและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อร่วมกันส่งต่อโลกที่ดีกว่าให้คนในรุ่นถัดไป