ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง Google เปิดเผยรายงานผลการศึกษา AI Works ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในสหราชอาณาจักร พบว่าหากนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้จะช่วยให้พนักงานประหยัดเวลาในการทำงานได้มากถึง 122 ชั่วโมงต่อปี
รายงานดังกล่าวที่ Google จัดทำร่วมกับ Public First ยังระบุว่า การส่งเสริมให้พนักงานใช้ AI และจัดการฝึกอบรมเพียงไม่กี่ชั่วโมง สามารถเพิ่มอัตราการนำ AI ไปใช้งานจริงได้ถึง 2 เท่า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าสหราชอาณาจักรอาจมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 4 แสนล้านปอนด์ หากมีการฝึกอบรมทักษะ AI ให้กับแรงงานอย่างทั่วถึง
โครงการนำร่อง AI Works ที่ทดลองในเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็ก สถาบันการศึกษา และสหภาพแรงงาน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ในการลดภาระงานที่ไม่จำเป็น
— เด็บบี้ ไวน์สตีน ประธาน Google ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา (EMEA) กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังพบอุปสรรคสำคัญคือ พนักงานจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุมาก และยังไม่เคยใช้ Generative AI ในการทำงาน ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลว่าการใช้ AI เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับหน้าที่ แต่เมื่อพนักงานได้รับอนุญาตและผ่านการอบรมสั้นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ พวกเขามีแนวโน้มใช้ AI เพิ่มขึ้น และยังคงใช้งานต่อเนื่องแม้เวลาผ่านไป
หนึ่งในผลสำรวจที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป ก่อนการอบรมมีเพียง 17% ที่ใช้ AI รายสัปดาห์ และ 9% ใช้รายวัน แต่ 3 เดือนหลังการอบรม ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 56% และ 29% ตามลำดับ ซึ่งช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงและใช้งาน AI ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ AI ยังมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีและช่วยเปิดโอกาสให้กับคนทุกวัย
ทั้งนี้ Google ในฐานะผู้พัฒนา Gemini AI เชื่อมั่นว่าการสนับสนุนง่ายๆ เช่น การให้สิทธิ์และการฝึกอบรมพื้นฐาน เป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของ AI เพื่อเพิ่มผลิตภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวงกว้าง

ยิ่งฉลาด...ยิ่งสูบน้ำ
แม้ว่า AI จะมีประโยชน์มากมายทั้งช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่การใช้งาน AI ก็กำลังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความกดดันต่อการใช้ทรัพยากรน้ำทั่วโลก โดย AI ใช้นํ้าใน 3 วัตถุประสงค์หลักคือ ใช้น้ำเพื่อระบายความร้อน เพื่อผลิตไฟฟ้าขับเคลื่อนดาต้าเซ็นเตอร์ และการใช้นํ้าในห่วงโซ่อุปทานของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการพัฒนา AI
ข้อมูลจากศูนย์รักษาความปลอดภัยด้านนํ้า แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ในสหรัฐฯ ระบุว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วของดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีมากกว่า 11,000 แห่งทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการใช้ AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และการเติบโตดังกล่าวมาพร้อมกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการใช้นํ้าจำนวนมหาศาล
มีการศึกษาพบว่าศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ อาทิ Google ซึ่งให้บริการหลักอย่าง Gmail และ Google Drive ใช้นํ้าเฉลี่ยสูงถึง 550,000 แกลลอนต่อวัน (ประมาณ 2.1 ล้านลิตรต่อวัน) ขณะที่ศูนย์ข้อมูลขนาดเล็กโดยทั่วไปใช้นํ้าน้อยกว่ามาก โดยเฉลี่ยประมาณ 18,000 แกลลอนต่อวัน (ประมาณ 68,100 ลิตรต่อวัน) เมื่อเทียบกับการใช้นํ้าเฉลี่ยต่อหัวของชาวอเมริกันที่ 132 แกลลอนต่อวัน จะเห็นได้ว่าศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวใช้นํ้าเทียบเท่ากับการบริโภคของประชากรถึง 4,200 คน ทำให้ภาคส่วนนี้กลายเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่ใช้นํ้ามากที่สุดในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจที่น่าสนใจพบว่า ChatGPT มีการใช้น้ำ 500 มิลลิลิตร หรือครึ่งลิตร ต่อทุกๆ 20-50 Prompts ขึ้นอยู่กับว่าใช้โมเดลเอไอที่ไหน เมื่อไร และเป็นที่คาดว่าแชตบอตรุ่นใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพอย่าง GPT-4 จะยิ่งใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก
นักวิจัยเตือนว่าหาก Water Footprint ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเจน AI ยังสูงขึ้นต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข สถานการณ์นี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องการใช้งาน AI อย่างยั่งยืนในอนาคต
แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของ AI ส่งผลให้ความต้องการใช้นํ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2027 การใช้นํ้าของ AI ทั่วโลกจะสูงถึง 6,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้นํ้าตลอดทั้งปีของประเทศเดนมาร์ก สถานการณ์ดังกล่าวจึงถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อทรัพยากรนํ้าจืดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนนํ้าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ
ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยี เช่น Google, Microsoft และ Amazon เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ และตั้งเป้าหมายจะเป็น Water Positive ภายในปี 2030 โดยการเติมน้ำกลับคืนสู่ระบบมากกว่าที่ใช้จริงผ่านโครงการรีไซเคิลน้ำ และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้น้ำ
หากมองหลายมุมจะเห็นว่า AI มีทั้งแง่บวกและลบ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่าง “เทคโนโลยี” กับ “ธรรมชาติ” ถ้าเราออกแบบให้มันไปด้วยกัน และใช้งานแบบตะหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายหากจะให้ยั่งยืน ครั้งต่อไปเมื่อเราพิมพ์ Prompt คำสั่งถาม AI ทุกคำถามอาจต้องคิดสักนิดว่า “คำถามนี้มันคุ้มค่ากับน้ำที่ใช้ไปหรือไม่?”