รู้จัก Climate Visa โควตาลี้ภัยหนีโลกรวนให้สิทธิ์ ‘ตูวาลู’ ที่แรกในโลก

3 ก.ค. 2568 - 08:44

  • เชื่อหรือไม่? บางประเทศกำลังจะหายไปจากแผนที่โลก เพราะภัยจากโลกร้อน

  • Climate-Change Visa คืออะไร?

  • ชาวตูวาลู 1 ใน 3 ยื่นขอ Climate-Change Visa เพื่ออพยพลี้ภัยโลกร้อนอย่างถูกกฎหมาย แต่ออสเตรเลียรับได้ 280 ต่อปี

รู้จัก Climate Visa โควตาลี้ภัยหนีโลกรวนให้สิทธิ์ ‘ตูวาลู’ ที่แรกในโลก

เหตุการณ์สะเทือนใจจากภัยโลกรวนเกิดขึ้นแล้ว เมื่อชาวตูวาลู 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ แห่แหนไปสมัคร “Climate-Change Visa” เพื่อขอย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศออสเตรเลีย หลังประเทศของพวกเขาเสี่ยงจะจมน้ำหายไปจากแผนที่โลกภายใน 80 ปี เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพราะวิกฤตโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รู้จัก “Climate-Change Visa” วีซ่าลี้ภัยโลกรวนแห่งแรกของโลก

วันนี้เราเห็นแล้วว่า “โลกร้อน” ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องความอยู่รอดของมนุษย์ ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ อย่าง “ตูวาลู” เริ่มต้นก้าวแรกของการอพยพระดับประเทศสู่ทางรอดในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ภายใต้ข้อตกลงที่ลงนามระหว่างออสเตรเลียและตูวาลู ในปี 2024 รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกวีซ่าพิเศษจำนวน 280 ใบต่อปี ให้กับพลเมืองตูวาลูเพื่อย้ายถิ่นฐานมายังออสเตรเลียอย่างถูกกฎหมาย ในฐานะ “ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศ” โดยเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. -18 ก.ค. 2025 และจะรู้ผลคนที่ได้สิทธิ์ล็อตแลกในช่วงต้นปีหน้า

ชะตากรรมของ “ตูวาลู” ประเทศเล็กๆ ที่กำลังจะหายไป

ตูวาลู (Tuvalu) เป็นประเทศหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบด้วยเกาะปะการัง 9 เกาะ มีพื้นที่รวมเพียง 26 ตารางกิโลเมตร (10 ตารางไมล์) และมีจุดสูงสุดจากระดับน้ำทะเลเพียง 4.6 เมตร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภูมิประเทศต่ำสุดในโลก ทำให้เผชิญความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างรุนแรง

ตามรายงานระบุว่า หากภาวะโลกร้อนยังดำเนินต่อไปในอัตราเช่นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ภายใน 80 ปีข้างหน้า ตูวาลูอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป เกาะปะการังหลายแห่งกำลังถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง และ 2 ใน 9 เกาะของประเทศได้จมหายไปแล้วเกือบทั้งหมด

Climate-Change Visa คืออะไร?

Climate-Change Visa นับเป็นวีซ่าแห่งความหวัง และเส้นทางรอดที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเชิงนโยบายในสนธิสัญญา Falepili Union ที่ระบุว่า “ออสเตรเลีย” จะช่วยเหลือ “ตูวาลู” ในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ การแพร่ระบาดของโรคร้ายแรง หรือแม้กระทั่งการรุกรานทางทหาร นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังเปิดโอกาสให้พลเมืองตูวาลูที่สมัครและได้รับเลือก สามารถเข้ามาอยู่อาศัย เรียน ทำงาน และตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อย่างถูกกฎหมาย

โดยรอบแรกของการเปิดรับสมัคร มีพลเมืองตูวาลูกว่า 3,125 คนยื่นความจำนงเพื่อรับวีซ่า ซึ่งนับเป็นประชาการมากถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ โครงการนี้จึงนับเป็นโครงการรับผู้อพยพจากภัยโลกร้อนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก และอาจกลายเป็นต้นแบบสำหรับประเทศอื่นๆ ในอนาคต

ตูวาลู (Tuvalu)  ประเทศหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
ตูวาลู (Tuvalu) ประเทศหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

แล้วประเทศจะเหลือใคร?

แม้ว่าโครงการนี้จะได้รับการชื่นชมในระดับสากลว่าเป็น “ความร่วมมือเชิงมนุษยธรรมเชิงรุก” แต่ก็มีเสียงวิพากษ์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิด “ภาวะสมองไหล” ในตูวาลู

จอห์น คอนเนลล์ นักภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ให้ความเห็นว่า การอพยพจำนวนมากในระยะยาวอาจส่งผลให้ประเทศเล็กๆ อย่างตูวาลู สูญเสียประชากรวัยแรงงาน บุคลากรที่มีทักษะ และความรู้ดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งอาจกระทบต่อศักยภาพในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ประเทศอื่นกำลังตามหลัง

“ตูวาลู” อาจเป็นประเทศแรกที่บังคับใช้วีซ่า Climate-Change อย่างเป็นทางการ แต่ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญความเสี่ยง เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น คิริบาส มัลดีฟส์ หมู่เกาะมาร์แชลล์ และไมโครนีเซีย ต่างก็เริ่มหารือเรื่องการอพยพถาวรหากระดับน้ำทะเลยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง และหลายประเทศในแอฟริกา หรือเอเชียใต้เอง ก็เผชิญปัญหาอุณหภูมิที่ร้อนจัด น้ำท่วม และภัยแล้งรุนแรงต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ได้เผชิญภัยคุกคามแบบเดียวกับตูวาลูในตอนนี้ แต่หลายพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพฯ  สมุทรปราการ และจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทย ก็กำลังได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำเค็มรุกล้ำ

มีรายงานจาก Climate Central และ IPCC ระบุว่า หากไม่มีการปรับตัวเชิงโครงสร้าง กรุงเทพฯ อาจเผชิญน้ำท่วมถาวรในบางพื้นที่ภายในปี 2050

ประเทศไทยจึงควรจับตานโยบายด้าน Climate Migration อย่างใกล้ชิด และเริ่มวางแผนทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและประชากรศาสตร์รองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งจากภายในประเทศและการอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ การเปิดตัวโครงการ Climate-Change Visa ไม่ได้สะท้อนเพียงนโยบายการต่างประเทศของออสเตรเลีย แต่เป็นสัญญาณเตือนที่ส่งถึงโลกว่า ผลกระทบจากโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และการอพยพจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศกำลังกลายเป็นความจริงที่ต้องวางระบบรองรับอย่างจริงจัง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์