อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไม่ได้เป็นเพียงนักฟิสิกส์ผู้ปฏิวัติความเข้าใจเรื่องเวลา พลังงาน และจักรวาลด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพและควอนตัมเท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้ตระหนักถึงความสัมพันธ์อันเปราะบางระหว่าง “มนุษย์” กับ “ธรรมชาติ” โดยเฉพาะเมื่อเขาตั้งข้อสังเกตว่า
“เมื่อใดที่ผึ้งหมดไปจากพื้นผิวโลก เมื่อนั้นมนุษย์เหลือเวลาเพียง 4 ปีที่จะมีชีวิต เพราะจะไม่มีการถ่ายเรณูอีกต่อไป ดังนั้น โลกใบนี้จะไม่มีพืช ไม่มีสัตว์ และไม่มีมนุษย์”
— อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
ข้อความนี้อาจดูเกินจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ในเชิงปรัชญาและระบบนิเวศ กลับชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งระหว่างสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่าง “ผึ้ง” กับการอยู่รอดของโลกทั้งใบ

การหายไปของผึ้ง ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาทางชีววิทยา แต่เป็นสัญญาณของความล้มเหลวทางระบบนิเวศ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมี การทำเกษตรอุตสาหกรรม หรือการเร่งเร้าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความ “ไม่สมดุลของธรรมชาติ” ซึ่งกำลังสะท้อนกลับมาผ่านวิกฤตต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งภาวะโลกร้อน การละลายของธารน้ำแข็ง และสภาพอากาศแปรปรวน
บทสนทนาเรื่อง “ผึ้ง” ของไอน์สไตน์ จึงไม่ใช่เรื่องของ “แมลง” แต่คือการกระตุ้นเตือนมนุษย์ให้ตระหนักถึงพฤติกรรมของตนเอง และความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศที่เชื่อมโยงทุกชีวิตเข้าด้วยกัน ทั้งพืช สัตว์ ดิน น้ำ ลม และมนุษย์ ซึ่งล้วนหลอมรวมอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน และไม่มีส่วนใดที่แยกตัวอยู่ได้โดยลำพัง

20 พฤษภาคม “วันผึ้งโลก”
ทุกวันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันผึ้งโลก” (World Bee Day) เพื่อยกย่องบทบาทสำคัญของผึ้งและแมลงผสมเกสรชนิดอื่นๆ ที่มีต่อระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดวันสำคัญนี้ขึ้นครั้งแรกในปี 2018 เพื่อเป็นการระลึกถึงวันเกิดของ อันตอน ยานชา ผู้บุกเบิกการเลี้ยงผึ้งในสโลวีเนีย บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของการอนุรักษ์ผึ้ง และวันผึ้งโลกเป็นหนึ่งในความพยายามของ UN ในการสร้างโลกที่สมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ “ผึ้ง” เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน
ผึ้ง: ฮีโร่ตัวน้อยที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศและมนุษยชาติ
วิมลศิริ สิงหะ ผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เผยว่า “ผึ้ง” อาจเป็นเพียงแมลงตัวเล็กๆ ที่บินว่อนอยู่ในสวนหรือทุ่งดอกไม้ แต่บทบาทของพวกมันในธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ผึ้งเป็นหนึ่งในแมลงผสมเกสรที่สำคัญที่สุดของโลก และมีอิทธิพลโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิตอาหาร และสุขภาพของระบบนิเวศทั่วโลก
ผึ้งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผสมเกสรให้แก่พืชผลการเกษตรและพืชป่า มากกว่า 75% ของพืชอาหารที่มนุษย์บริโภคต้องพึ่งพาการผสมเกสรโดยแมลง ซึ่งส่วนใหญ่คือ “ผึ้ง” ...หากไม่มีผึ้ง โลกจะสูญเสียพืชอาหารจำนวนมาก รวมถึงผลไม้ ผัก เมล็ดพืช และถั่วต่างๆ
แม้ผึ้งจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในระบบนิเวศและการผลิตอาหาร แต่ในปัจจุบันพวกมันกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับที่น่าตกใจ และมีอัตราการสูญพันธุ์สูงกว่าค่าปกติถึง 100 ถึง 1,000 เท่า

สถานการณ์ผึ้งในประเทศไทย
แม้ไม่มีข้อมูลระบุแน่ชัดว่าจำนวนผึ้งลดลงมากน้อยขนาดไหน แต่ประเทศไทยผึ้งพื้นเมืองบางชนิดก็ใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะผึ้งพื้นเมืองอย่างผึ้งมิ้ม (Apis florea) และชันโรง ที่กำลังเผชิญกับการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การใช้สารเคมีทางการเกษตร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะมีความพยายามในการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองแต่ยังขาดองค์ความรู้ การคัดเลือกสายพันธุ์ และการจัดการที่เหมาะสม การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้ง รวมถึงมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เช่น น้ำผึ้ง ไขผึ้ง และผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผึ้งและแมลงผสมเกสรต่อระบบนิเวศ จึงได้ส่งเสริมการอนุรักษ์แนวทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ความหลายทางชีวภาพ ด้วยรูปแบบแนวปฏิบัติ อาทิ เกษตรนิเวศ (agroecology) การเกษตรป่าไม้ (agroforestry) รวมทั้งส่งเสริมลดการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวันและการเกษตร เพื่อช่วยให้ผึ้งและแมลงผสมเกสรสามารถอยู่รอดได้ ลดการขาดแคลนอาหาร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
.png&w=3840&q=75)
วันผึ้งโลกจึงเป็นโอกาสอันดีในการกระตุ้นให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม หันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ผึ้งและระบบนิเวศ โดยสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ เช่น
- ปลูกดอกไม้พื้นถิ่นหรือพืชที่เป็นมิตรกับผึ้งในสวนบ้าน
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร
- สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์และน้ำผึ้งจากแหล่งผลิตที่อนุรักษ์ธรรมชาติ
- ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของผึ้งและบทบาทของผึ้งในระบบนิเวศ
ร่วมมือกันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
การดูแลและปกป้องผึ้งจึงเปรียบเสมือนการปกป้องแหล่งอาหาร สุขภาพของโลก และคุณภาพชีวิตของเราเอง “วันผึ้งโลก” จึงไม่ใช่เพียงวันเฉลิมฉลอง แต่เราอยากส่งเสียงเรียกร้องให้เราทุกคนร่วมมือกันสร้างโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ ซึ่งมีบทบาทยิ่งใหญ่ต่อความสมดุลของธรรมชาติ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) , National Geographic