รู้หรือไม่ ปี 2024 เพียงปีเดียว โลกต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ ผู้คนต้องอพยพพลัดถิ่นมากกว่า 19 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้เทียบเท่ากับประชากรทั้งประเทศของเนเธอร์แลนด์ ฟลอริดา หรือโซมาเลีย และกำลังสะท้อนให้เห็นว่าภัยพิบัตินี้ไม่ได้เลือกประเทศ ความเจริญ หรือระดับรายได้อีกต่อไป
เมื่อภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ข่าว “น้ำท่วม” “อุทกภัย” เรื่องเหล่านี้กำลังกลายเป็นความปกติใหม่ที่โลกต้องเผชิญ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
แม้ภัยน้ำท่วมจะไม่น่าตกใจเท่าคลื่นความร้อนหรือไฟป่า แต่มันคือ “ภัยเงียบ” ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วง ยาวนาน และร้อยเรียงเป็นห่วงโซ่ เพราะชีวิตผู้คนไม่ได้พังทลายแค่ตอนน้ำหลาก แต่ยังเชื่อมโยงด้วยสิ่งต่างๆ ที่ต้องรับมือ ทั้งภัยสุขภาพ โรคติดต่อ โรคที่มากับน้ำ การแพร่กระจายของน้ำเสียและสารปนเปื้อน ความเสียหายด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ปศุสัตว์ล้มตาย ติดโรค การขาดแคลนอาหาร และความยากจนที่ซ้ำเติมหลังเหตุการณ์สิ้นสุด
ย้อนหลังไปเพียง 10 ปี การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลร้ายแรง แม้ในประเทศที่ไม่เคยโดนมาก่อน อย่างในประเทศสโลวีเนีย ซึ่งแม้จะมีระบบพื้นฐานที่มั่นคงยังต้องเผชิญน้ำท่วมฉับพลันที่สร้างความเสียหายคิดเป็น 16% ของ GDP ทั้งประเทศ
ในปี 2025 หลายเมืองในจีน ปากีสถาน และล่าสุดในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ ต้องอพยพประชาชนครั้งใหญ่จากภัยน้ำท่วม ซึ่งคร่ากว่า 120 ชีวิต และยังมีผู้สูญหายอีกเกือบ 200 ราย ขณะที่พายุและฝนหนักทำให้แม่น้ำล้นตลิ่ง น้ำทะเลหนุน และระบบป้องกันที่เคยเชื่อมั่นถูกเจาะทะลวงภายในไม่กี่ชั่วโมง
รายงาน Climate Risk Index 2025 ระบุว่า ในช่วงปี 1993-2022 ภัยพิบัติทางธรรมชาติคร่าชีวิตคนกว่า 765,000 คน และสร้างความเสียหายเกือบ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลโดยตรงจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 9,400 ครั้ง ซึ่งผลกระทบที่สำคัญที่สุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ได้แก่ พายุ (35%) คลื่นความร้อน (30%) และอุทกภัย (27%)
...“อุทกภัย” ส่งผลกระทบต่อประชากรมากที่สุด คิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด
— รายงาน Climate Risk Index 2025
ขณะที่พายุก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุด คิดเป็น 56% ของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งหมด หรือประมาณ 2.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และรองลงมาคือ “อุทกภัย” คิดเป็น 32% หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายงาน State of the Climate in Asia 2024 ที่จัดทำโดย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) พบทวีปเอเชียกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงเกือบ 2 เท่า ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา และในปี 2024 ที่ผ่านมา เอเชียประสบกับปีที่ร้อนที่สุด หรืออันดับสองในประวัติการณ์ ความร้อนนี้เร่งการละลายของธารน้ำแข็ง ทำให้ฤดูฝนรุนแรงและคาดการณ์ยากมากขึ้น และนั่นคือรากฐานของ “ปัญหาน้ำท่วม” ที่ไม่ใช่กลไกธรรมชาติ แต่เป็นผลจากความไม่สมดุลของระบบโลกที่มนุษย์มีส่วนสร้าง
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ก็ไม่น่าวางใจเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศเสี่ยงน้ำท่วมสูงมาก จากข้อมูลของ Statista ในเดือนมีนาคม ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลล่าสุด) ด้วยคะแนนดัชนี 9.8 จาก 10 เป็นรองจากเวียดนาม อียิปต์ และบังกลาเทศ ที่ได้คะแนนดัชนี 9.9 โดยการจัดอันดับนี้อิงจากประชากรที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ โครงสร้างพื้นฐาน และภูมิศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มต่ำ
สถิติในปีที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย (เฉพาะระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม-29 กันยายน) mujเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 37 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 219 อำเภอ 940 ตำบล 5,002 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 181,870 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 49 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 28 คน
โดยผลการประเมินจาก Krungsri Research พบว่าน้ำท่วมในปี 2024 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกว่า 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 43,000 ล้านบาท และกระทบ GDP ถึง 0.27% ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมรวมอยู่ที่ 6,000–8,000 ล้านบาท

เอเชียอ่วม เสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ซ้ำซาก
สถานการณ์ในเอเชียยิ่งตอกย้ำว่าเราอยู่ในจุดศูนย์กลางของภัยพิบัติโลก โดยปากีสถาน คาซัคสถาน อินเดีย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ต่างก็เผชิญน้ำท่วมฉับพลันรุนแรงในปีเดียวกัน โดยเฉพาะจีนตอนใต้ซึ่งมีประชากรหนาแน่น ต้องอพยพหลายแสนคน
ส่วนในประเทศไทยไทย ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2025 หลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และลุ่มน้ำโขงที่ระดับน้ำอาจสูงถึงจุดวิกฤตช่วงปลายฤดูฝน ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานอย่างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งอาจไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ทั้งหมด
เราจะอยู่กับน้ำท่วมได้อย่างไร?
เมื่อโลกเผชิญกับน้ำท่วมที่เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น คำถามสำคัญคือ “เราจะอยู่กับมันอย่างไร?” ในหลายประเทศ แนวทางอย่างระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก การแจ้งเตือนล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังไม่เพียงพอในหลายประเทศที่ไม่มีระบบสื่อสารหรือไม่มีระบบข้อมูลที่แม่นยำ สำหรับประเทศไทยมีระบบแจ้งเตือน Cell Broadcast ที่มีประสิทธิภาพและใช้ได้จริง

แนวทางการปรับตัวอื่นๆ ได้แก่ การสร้างเขื่อน คันดิน พื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับน้ำ การใช้เทคโนโลยีพยากรณ์อากาศ หรือแม้แต่การวางผังเมืองใหม่ที่สอดคล้องกับธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่กรุงเทพมหานคร ยึดหลักคิด Smart Enough City เมืองอัจฉริยะอย่างพอดี เมืองที่ใช้เทคโนโลยีอย่างพอเหมาะ
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเตือนว่าการปรับตัวมีขีดจำกัด หากโลกร้อนขึ้นต่อเนื่องเกิน 2 องศาเซลเซียส พื้นที่ชายฝั่งหลายแห่งอาจต้องเผชิญน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แนวคิดใหม่อย่าง “การถอยกลับอย่างมีการจัดการ” (Managed Retreat) จึงถูกพูดถึงมากขึ้น หมายถึงการย้ายชุมชนหรือกิจกรรมเศรษฐกิจออกจากพื้นที่เสี่ยงถาวร แม้จะเป็นแนวทางที่ยากและเจ็บปวด แต่มันอาจเป็นทางออกสุดท้ายในบางพื้นที่ เช่น รัฐเกาะเล็กๆ ที่อาจถูกกลืนหายทั้งประเทศ เช่น ในกรณีของตูวาลู ที่สมัคร Climate-Change Visaเพื่อขอย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
บทสรุปของวิกฤตครั้งนี้คือ โลกไม่สามารถหลีกเลี่ยงน้ำท่วมได้อีกต่อไป แต่เราสามารถ “ลดผลกระทบ” และ “เพิ่มความยืดหยุ่น” ได้ หากมีการลงทุนในระบบเตือนภัย การวางแผนเมืองอย่างชาญฉลาด และการสร้างนโยบายที่ไม่เพียงรับมือเมื่อภัยมา แต่เตรียมพร้อมก่อนที่มันจะเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และสภาพอากาศสุดขั้ว ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดในอนาคตอีกต่อไป ...แต่มันกำลังเกิดขึ้นแล้ว และน้ำที่หลากในวันนี้อาจเป็นคำเตือนสุดท้ายก่อนที่ทั้งเมือง ทั้งชีวิต และทั้งประเทศ จะอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร