3 กรกฎาคม เปลี่ยน ‘วันปลอดถุง’ เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตปลอดพลาสติก

3 ก.ค. 2568 - 06:11

  • เดือนกรกฎาคมทั่วโลกมีแคมเปญ Plastic Free July กระตุ้นให้ผู้คนหันมาตั้งคำถามและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติก

  • 3 กรกฎาคม “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” ชวนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ลาขาดจากพลาสติก

  • เทคนิคบอกลาถุงก๊อบแก๊บ ก้าวเล็กๆ เพื่อโลกยั่งยืน รับ International Plastic Bag Free Day

3 กรกฎาคม เปลี่ยน ‘วันปลอดถุง’ เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตปลอดพลาสติก

วันที่ 3 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” (International Plastic Bag Free Day) ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบของถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง หรือ Single-use Plastic Bags ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่คุกคามระบบนิเวศอย่างรุนแรง นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา แคมเปญนี้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อโลกที่สะอาดและปลอดภัยยิ่งขึ้น

ที่มา “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” และภารกิจเพื่อโลกไร้พลาสติก

จุดเริ่มต้นของวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลลัพธ์จากความตระหนักที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับภัยคุกคามของถุงพลาสติกที่ถูกผลิตออกมามากกว่าหลักล้านล้านใบต่อปี เกิดเป็นวัฒนธรรม “ใช้แล้วทิ้ง” ที่ใช้ทรัพยากรไปอย่างสิ้นเปลืองภายในเวลาอันสั้น แต่กลับมีอายุการย่อยสลายนานนับร้อยปี พร้อมแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกและทิ้งร่องรอยทำลายทั้งระบบนิเวศทะเลและแหล่งน้ำ จนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 หลายประเทศเริ่มลุกขึ้นมาออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และมีองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่ผลักดันให้เกิดวันสำคัญนี้ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการลดใช้ถุงพลาสติก และส่งเสริมการเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืนกว่า เช่น ถุงผ้า หรือวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้

การกำหนดวันที่ 3 กรกฎาคม เป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล จึงนับเป็นจุดเชื่อมโยงให้ทั่วโลกได้ร่วมมือกันรณรงค์ ลดการผลิตและใช้ถุงพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็น พร้อมเร่งผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคในยุคที่ “การรักษ์โลก” เป็นเรื่องเร่งด่วนและไม่อาจมองข้าม เพื่อโลกที่สะอาดกว่า และอนาคตที่ปลอดภัยกว่าสำหรับคนรุ่นต่อไป

ความจริงยิ่งเจ็บ! เมื่อตัวเลขไม่เคยโกหก

...ประเทศไทยใช้ถุงพลาสติก 45,000 ล้านใบต่อปี

สถิติการใช้ถุงหูหิ้วในประเทศไทย ปี 2016 โดยกรมควบคุมมลพิษ
สถิติการใช้ถุงหูหิ้วในประเทศไทย ปี 2016 โดยกรมควบคุมมลพิษ

กรมควบคุมมลพิษ เคยเก็บสถิติการใช้ถุงหูหิ้ว ปี 2016 พบว่าคนในประเทศไทยใช้ถุงพลาสติก 45,000 ล้านใบต่อปี โดย 40% (18,500 ล้านใบ) มาจากตลาดสดและร้านค้าแผงลอย อีก 30% (13,500 ล้านใบ) มาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ส่วน 30% ที่เหลือ (13,500 ล้านใบ) มาจากร้านขายของชำทั่วไป

ประเทศไทยจึงออกกฎหมายบังคับใช้ควบคู่การรณรงค์ให้ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ งดแจกถุงพลาสติก (อยากได้ต้องซื้อ!) เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ดีเดย์เริ่มต้นใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2020 ซึ่งปีนั้นปีเดียวคนไทยสามารถลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วรวม 11,958 ล้านใบ หรือกว่า 108,220 ตัน ทว่า ผ่านมา 5 ปี ทำไมตอนนี้ยังมีถุงแจก!!

ปัจจุบันมีถุงพลาสติกมากกว่า 5 ล้านล้านใบถูกใช้ในแต่ละปีทั่วโลก หรือคิดเป็นประมาณการใช้ 160,000 ใบต่อวินาที ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่ง 79% ของพลาสติกทั้งหมดถูกทิ้งเป็นขยะ และเพียง 9% เท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี

ข้อมูลจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UNEP) ระบุ

ทั้งนี้ มีการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่าถุงพลาสติก 1 ใบ ใช้งานโดยเฉลี่ยไม่เกิน 12 นาที แต่ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานเป็นร้อยปี ส่งผลให้มีขยะพลาสติกสะสมในธรรมชาติมากถึง 9,200 ล้านตันทั่วโลกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปีมีปริมาณประมาณ 8 ล้านตัน ซึ่งสร้างอันตรายต่อสัตว์ทะเลนับล้านล้านชีวิต และขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทางอ้อมจากการบริโภคสัตว์เหล่านี้

“ไมโครพลาสติก” ซึ่งเกิดจากการแตกตัวของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ ถูกตรวจพบในน้ำดื่มบรรจุขวดมากถึง 240,000 ชิ้นต่อลิตร และยังพบในเลือดและอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ งานวิจัยชี้ว่าการสะสมสารเคมีจากพลาสติกเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมน รวมถึงน่าจะเกี่ยวพันกับการเกิด “มะเร็ง”

การผลิตพลาสติกยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปี 2020 การผลิตและการเผาพลาสติกปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 3% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก ซึ่งหากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง ปริมาณขยะพลาสติกทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในปี 2060

Plastic Free July เดือนแห่งการปลอดพลาสติก

ตลอดเดือนกรกฎาคมทั่วโลก จึงมีแคมเปญ “Plastic Free July” เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาตั้งคำถามและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติก ด้วยการลด ละ เลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติก แก้วน้ำ หลอด และบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก

แคมเปญนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 250 ล้านคน จากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในชุมชนและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง

sustainability-plastic-bag-free-day-into-a-plastic-free-life-SPACEBAR-Photo02.jpg

ข้อเรียกร้องและแนวทางแก้ไข

การแก้ปัญหาพลาสติกต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและนโยบายระดับประเทศ รวมถึงการพัฒนาวัสดุทางเลือกและระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ องค์การสหประชาชาติ แนะนำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันนำแนวทาง “Lifecycle Approach” มาใช้ ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การลดใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น และการพัฒนาระบบรีไซเคิลที่เข้มแข็ง เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

โดยระหว่างวันที่ 5–14 สิงหาคม 2025 ณ สำนักงานสหประชาชาติ (Palais des Nations) ในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปของสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty)ซึ่งเป็นข้อตกลงทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มุ่งลดและควบคุมมลพิษจากพลาสติกตลอดวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงปลายทางการจัดการขยะพลาสติก โดยเน้นไปที่การลดการผลิตพลาสติกชนิดที่ไม่จำเป็น การยกเลิกการใช้พลาสติกและสารเคมีที่เป็นอันตราย และการส่งเสริมการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลได้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการจัดการปัญหานี้อย่างยั่งยืน

จะเริ่มต้นอย่างไร หากเราไม่อยากใช้ถุงพลาสติก?

1.พกถุงผ้า ถุงผ้าพับได้ หรือถุงซิลิโคนติดตัวเสมอจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ไม่พึ่งพลาสติก คือการพกถุงผ้าเล็กๆ ติดตัวไปเวลาช็อปปิ้ง จะช่วยลดการรับถุงพลาสติกจากร้านค้าได้ทันที แถมถุงผ้ายังสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้งและทำความสะอาดง่าย

2.เลือกซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หลีกเลี่ยงสินค้าที่ใช้ถุงพลาสติกห่อหุ้ม เช่น ผักผลไม้สดที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์พลาสติก หรือเลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติและรีไซเคิลได้

3.ลดการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic)
เมื่อจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกจริงๆ ควรเก็บถุงนั้นไว้ใช้ซ้ำให้คุ้มค่ามากที่สุด หรือหาวิธีนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี

4.สนับสนุนร้านค้าที่ไม่แจกถุงพลาสติก หรือมีนโยบายรักษ์โลก
การเลือกซื้อจากร้านค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ร้านค้าอื่นๆ เปลี่ยนแปลงนโยบายเช่นกัน

5.สร้างนิสัยและให้ความรู้กับคนรอบตัว
การลดใช้ถุงพลาสติกไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือในครอบครัว ชุมชน และสังคม การพูดคุย แบ่งปันความรู้ และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างจึงสำคัญมาก

sustainability-plastic-bag-free-day-into-a-plastic-free-life-SPACEBAR-Photo03.jpg

เริ่มต้นที่ “ตัวเรา”

เพราะถุงพลาสติกที่เรายอมรับรับมาในแต่ละวันจะกลายเป็นขยะในสิ่งแวดล้อมในอีกไม่ช้า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่างการพกถุงผ้า หรือปฏิเสธถุงพลาสติกเมื่อซื้อของ จะส่งผลสะสมใหญ่หลวงต่อโลกใบนี้ในระยะยาว วันนี้หากเราเริ่มต้นลดใช้ถุงพลาสติก เรากำลังช่วย “รักษ์โลก” และลดขยะมหาศาลที่กำลังเป็นภัยต่อสัตว์ทะเล ระบบนิเวศ

สุดท้ายอยากฝากแนวทางแห่งความยั่งยืนของเรื่องนี้ สำหรับภาพใหญ่การลดใช้ถุงพลาสติกคงไม่ใช่การมาเสนอแคมเปญแจกถุงผ้า การบังคับซื้อถุงพลาสติก หรือการผลิตถุงรักษ์โลก แต่แท้จริงแล้วมันคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเองให้หันมา “ใช้ซ้ำ” (Reuse is The Best Solution) เพราะ “เรา” คือผู้กำหนดอนาคต (ไม่ใช่ถุง) 

แค่...ผู้ขาย “ลดให้”

ผู้ใช้ “ลดรับ”

ทุกคน “เลิกใช้ Single-Use”

แล้ว Reuse อย่างจริงจัง

...ความขลังของ “ถุง” ก็บังเกิด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์