เชื่อหรือไม่ว่า ถ้าอาหารไม่ถูกทิ้ง โลกก็ไม่ถูกทำร้าย!!
ย้อนภาพกลับไปที่บ้าน ทุกครั้งที่เปิดตู้เย็นแล้วเจอกับผักเหี่ยวๆ หรือกล่องอาหารเหลือจากมื้อก่อน หลายคนอาจจะพูดกับตัวเองเบาๆ ว่า “เอาไว้ก่อน เดี๋ยวกิน หรือเดี๋ยวค่อยตัดใจทิ้ง” จนในที่สุดสิ่งที่ควรเป็นมื้อถัดไปก็กลับกลายเป็นของเสียที่ถูกเทลง “ถังขยะ” ซ้ำร้ายอาจไม่ได้แยกขยะอีกต่างหาก…มันก็แค่ทิ้งไปง่ายๆ จบ
ทว่า ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ อาหารที่เราทิ้งเหล่านี้ ไม่ได้จบแค่ในถังขยะ แต่มันกลายเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของวิกฤตสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ทิ้งอาหารมากที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยทิ้งอาหารมากถึง 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 79 กิโลกรัม สถิตินี้อาจฟังดูน่าตกใจ แต่ยิ่งน่าตกใจกว่าเมื่อเรารู้ว่าอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ยัง “กินได้” เพียงแค่ไม่สวย ตกเกรด หรือถูกลืมไว้จนหมดอายุ
วันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันหยุดขยะอาหารโลก” หรือ Stop Food Waste Day โดยมีจุดเริ่มต้นจากองค์กร Compass Group USA ในปี 2017 เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักว่า “ขยะอาหาร” ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กในครัว แต่มันคือเรื่องใหญ่ของโลกทั้งใบ

อาหารเหลือไม่ใช่ขยะ แต่คือทรัพยากรที่เราทิ้งไปโดยสมัครใจ
อาหารที่ถูกทิ้งส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากการเน่าเสียหรือกินไม่ได้จริงๆ แต่เกิดจากเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น รสชาติไม่ถูกปาก ปริมาณมากเกินไป ไม่สวยงามตามมาตรฐาน หรือหมดอายุตามฉลาก ทั้งที่ยังปลอดภัยอยู่
แม้กระทั่งเศษเปลือก เศษวัตถุดิบที่ยังสามารถนำไปใช้ได้ก็ถูกโยนทิ้ง เพราะขาดการวางแผน หรือไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรต่อ อาหารเหล่านี้เมื่อถูกทิ้ง มักจบลงที่หลุมฝังกลบ ซึ่งเป็นวิธีจัดการขยะอินทรีย์ที่ง่ายที่สุด แต่เต็มไปด้วยผลกระทบ เพราะในสภาพแวดล้อมที่ไร้ออกซิเจน การย่อยสลายจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ พร้อมทั้งปล่อย “ก๊าซมีเทน” หรือ CH4 ออกมาในปริมาณมหาศาล ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งใน “ก๊าซเรือนกระจก”ที่ทรงพลังมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า
ขยะอาหารเพียงอย่างเดียวมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 8-10% ของโลก มากกว่าภาคการบินทั้งโลกถึง 4 เท่า และหากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซของ “ขยะอาหาร” เป็นประเทศ มันจะกลายเป็น “ประเทศขยะเปียก” ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและสหรัฐฯ เท่านั้น

ในขณะที่บางคนอิ่มเกินไป อีกหลายร้อยล้านคนกำลังหิวโหย
ใช่แล้ว ขณะที่เราทิ้งอาหารเพียงเพราะไม่อร่อยหรือกินไม่หมด ทั่วโลกยังมีประชากรกว่า 282 ล้านคนใน 59 ประเทศ ที่เผชิญกับภาวะอดอยาก และกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก ที่ยังไม่มีอาหารพอสำหรับหนึ่งวัน ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องของปริมาณอาหารไม่เพียงพอ แต่เป็นปัญหาของการกระจายอาหารและพฤติกรรมการบริโภคที่ขาดความยั่งยืน
หากเราสามารถลด Food Waste ได้ อาหารที่เคยลงถังขยะอาจกลายเป็นมื้ออาหารที่ช่วยชีวิตใครบางคนไว้ได้จริงๆ
ถ้าไม่มี Food Waste โลกจะดีขึ้นแค่ไหน?
หากจินตนาการถึงโลกที่ปราศจากขยะอาหาร จะเห็นว่าโลกทั้งใบสามารถเปลี่ยนแปลงในระดับระบบได้ ไม่ใช่แค่ในครัวหรือครอบครัว แต่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในภาพรวม อาทิ
อาหารเพียงพอสำหรับทุกคน เมื่อไม่มีอาหารที่ถูกทิ้งเปล่า โลกจะสามารถเลี้ยงดูผู้คนได้อย่างทั่วถึง ลดความหิวโหย และความเหลื่อมล้ำทางอาหารลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขยะอาหารเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ ถ้าเราจัดการขยะอาหารได้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกจะลดลงทันทีถึงเกือบ 10%
ใช้ทรัพยากรอย่างพอดี ปัจจุบัน 70% ของน้ำจืดที่มนุษย์ใช้ทั่วโลก ถูกใช้เพื่อการเกษตร เมื่อผลิตอาหารเกินแล้วถูกทิ้ง ก็เท่ากับเรากำลังใช้น้ำ ดิน พลังงาน และแรงงานอย่างสูญเปล่า
ลดต้นทุนในการจัดการขยะ ค่ากำจัดขยะอาหารในแต่ละปีทั่วโลกสูงถึงหมื่นล้านดอลลาร์ หากลดปริมาณขยะอาหารได้ เงินจำนวนนี้สามารถนำไปพัฒนาโรงเรียน โรงพยาบาล หรือโครงการช่วยเหลือต่างๆ ได้
สร้างวัฒนธรรมการบริโภคที่ใส่ใจมากขึ้น เมื่อเราตระหนักว่าอาหารทุกคำมีคุณค่า พฤติกรรมการกินและการซื้อของเราจะเปลี่ยนไปอย่างยั่งยืน “กินอย่างรู้คุณค่า” จะไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่จะกลายเป็นพื้นฐานของวิถีชีวิตใหม่
เริ่มเปลี่ยนโลกได้จากจานข้าวตรงหน้า
ขยะอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของวัตถุดิบที่เหลือ แต่คือผลจากการขาดการวางแผน ตั้งแต่การซื้อ การเก็บ การปรุง และการบริโภค
การเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ สามารถช่วยลด Food Waste ได้อย่างมาก เช่น
- วางแผนก่อนซื้อ เขียนลิสต์ของที่จะซื้อ หมั่นตรวจของที่มีอยู่ในบ้าน ใช้ของเก่าให้หมดก่อน ของใหม่ค่อยซื้อทีหลัง
- จัดการของเหลืออย่างมีระบบ แช่แข็งอาหารที่เหลือ แบ่งเก็บเป็นส่วนๆ ติดป้ายระบุวันหมดอายุไว้ชัดเจน เพื่อลดโอกาสลืม
- สร้างสรรค์เมนูจากของเหลือ เปลี่ยนเศษผัก เศษเนื้อในตู้เย็นให้เป็นเมนูใหม่ เช่น ซุป ข้าวผัด หรือสตูว์
- กินให้พอดีกับวัยและความต้องการของร่างกาย รู้ว่าตัวเองควรกินเท่าไหร่ ช่วยลดการซื้อเกินและลดขยะจากจานอาหาร

ทุกคำที่กินหมด คือคะแนนที่ให้โลก
ในทุกๆ ปี โลกผลิตอาหารมากกว่าความต้องการถึง 1 ใน 3 ซึ่งหมายความว่าเรากำลังทิ้งอาหารที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับการโยนแอปเปิ้ลทิ้งถึง 3.7 ล้านล้านลูกในแต่ละปี
#StopFoodWasteDay จึงไม่ควรเป็นเพียงแค่แฮชแท็กเก๋ๆ หรือวันรณรงค์ประจำปี แต่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจริงจัง เพราะทุกคำที่เรากินให้หมด ไม่เพียงช่วยลดขยะอาหาร แต่ยังเป็นการเลือกอยู่บนโลกใบนี้อย่างรับผิดชอบ และยั่งยืนมากขึ้น
โลกแบบที่ไม่มี Food Waste อาจยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่เราเริ่มสร้างมันได้ทันที ด้วยคำถามง่ายๆ ในมื้อหน้าว่า...“เรากินหมดจานหรือยัง?”