ไทยประกาศแผนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ รับมือโลกร้อนอย่างยั่งยืน

21 พ.ค. 2568 - 09:49

  • ไทยทำแผน NAP เน้นสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเปราะบาง และเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ

  • ครอบคลุม 6 สาขาหลักที่มีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • แผนการปรับตัวโลกร้อนถูกออกแบบให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนใน 3 ระยะ วางอนาคตถึงปี 2580

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประกาศประเทศไทยใช้ “แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” หรือ  Thailand’s National Adaptation Plan: NAP อย่างเป็นทางการ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากโลกรวนอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเปราะบาง และเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ

โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานหลักในการผลักดันนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้จัดทำแผน NAP ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการบูรณาการประเด็นการปรับตัวเข้ากับแผนพัฒนาในระดับชาติและระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

แผน NAP สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ

สำหรับแผน NAP มีความสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาของประเทศหลายฉบับ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580), แผนการปฏิรูปประเทศ, Thailand 4.0, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558–2593 ตลอดจนแผนสิ่งแวดล้อมระดับชาติและแผนเฉพาะด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

แผน NAP  ฉบับนี้จึงทำหน้าที่เป็นกรอบการดำเนินงานร่วมที่เอื้อต่อการบูรณาการนโยบาย มาตรการ และโครงการต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันวิชาการ

sustainability-thailand-national-adaptation-plan-SPACEBAR-Photo01.jpg

 ครอบคลุม 6 สาขาหลักที่มีความเสี่ยง

แผน NAP มุ่งเน้นการดำเนินงานใน 6 สาขาหลักที่มีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่

  1. การจัดการทรัพยากรน้ำ
  2. เกษตรและความมั่นคงทางอาหาร
  3. การท่องเที่ยว
  4. สาธารณสุข
  5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
  6. การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์

พร้อมทั้งมีการพิจารณาประเด็นข้ามสาขา (Cross-cutting Issues) เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงได้อย่างยืดหยุ่น

เป้าหมายระยะสั้น กลาง และยาว

แผนการปรับตัวฯ ถูกออกแบบให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนใน 3 ระยะคือ

  • ระยะสั้น (พ.ศ. 2566–2570) เน้นสร้างความตระหนักรู้ พัฒนาเครื่องมือและฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และวางรากฐานสำหรับการดำเนินงานในอนาคต
  • ระยะกลาง (พ.ศ. 2571–2575) เสริมสร้างกลไกเชิงนโยบาย บูรณาการการดำเนินงานรายสาขา และพัฒนาระบบติดตามความก้าวหน้า
  • ระยะยาว (พ.ศ. 2576–2580) มุ่งเน้นการตรวจสอบความสามารถในการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับปรุงแผนและนโยบายตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง

เครื่องมือขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง

แผน NAP ยังให้ความสำคัญกับกลไกสนับสนุน เช่น ข้อมูล วิจัย เทคโนโลยี การเงิน และการสร้างขีดความสามารถของบุคลากร ตลอดจนเปิดโอกาสในการรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความสูญเสียจากภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ การมีแผน NAP อย่างเป็นทางการนับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการรับมือกับวิกฤตภูมิอากาศ ซึ่งไม่เพียงเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว

สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) ฉบับเต็ม ได้ที่เว็บไซต์ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) หรือคลิ๊ก แผน NAP ฉบับเต็ม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์