รู้หรือไม่? ปะการัง 84% ทั่วโลกกำลังเผชิญ “วิกฤตฟอกขาว” ครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และเราทุกคนอาจมีส่วนร่วมในหายนะครั้งนี้โดยไม่รู้ตัว
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โลกต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปีที่ผ่านมาก็ได้รับการบันทึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ปรากฏการณ์โลกร้อนขณะนี้ไม่เพียงทำให้ผู้คนรู้สึกร้อนระอุ แต่ยังส่งผลทำลายล้างสิ่งมีชีวิตใต้น้ำโดยเฉพาะ “แนวปะการัง” ซึ่งถือเป็นระบบนิเวศที่เปราะบางและทรงคุณค่าที่สุดระบบหนึ่งของโลก
84% ของแนวปะการังทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการฟอกขาว
ตามรายงานล่าสุดจาก International Coral Reef Initiative (ICRI) แนวปะการังทั่วโลกกว่า 84% ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาว ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงเกินค่าปกติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิด “การฟอกขาวระดับโลก ครั้งที่ 4” นับตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งครั้งนี้รุนแรงยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ขณะที่องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ของสหรัฐฯ ก็ออกมายืนยันว่าโลกกำลังเกิดมหาวิกฤตปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด โดยปะการังจากทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบราวๆ 83 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่รุนแรงที่สุดในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน้ำทะเลอาจมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสภายในทศวรรษหน้า และจะทำให้ปะการังกว่าร้อยละ 70-90 ทั่วโลก ฟอกขาวและตายแบบไม่สามารถฟื้นกลับมาได้อีกแล้ว

ปะการังฟอกขาว คืออะไร?
ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) เกิดจากการที่สาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเป็นสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังถูกขับออกเนื่องจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น
- เมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงเกินไป อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นเกินไปจากสภาวะที่ปะการังสามารถทนได้ ส่งผลให้สาหร่ายจะเริ่มตายหรือหลุดออกจากปะการัง เราจึงเห็นปะการังขาดสีสันและกลายเป็นสีขาวหรือซีด
- เมื่อน้ำจืดไหลลงทะเล การที่น้ำจืดจากแม่น้ำหรือฝนตกหนักไหลลงทะเล อาจทำให้ระดับความเค็มของน้ำทะเลลดลง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการดำรงชีวิตของสาหร่าย
- ตะกอนจากชายฝั่ง ตะกอนที่มาจากการกัดเซาะของฝั่งหรือจากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การก่อสร้างและการเกษตร สามารถปิดกั้นแสงแดดที่สาหร่ายต้องการในการสังเคราะห์แสง
- มลพิษจากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตราย และการทิ้งขยะลงทะเล ล้วนส่งผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกจากปะการังเพื่อความอยู่รอด
ทั้งนี้ การฟอกขาวนี้ไม่ใช่กระบวนการที่ปะการังสามารถฟื้นฟูได้เองง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อสภาวะแวดล้อมยังคงไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิสูงเกินไป ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ปะการังจะตายและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเส และแม้ว่าปะการังทั่วโลกจะครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรเพียง 1% แต่แนวปะการังกลับเป็นที่อยู่อาศัยของกว่า 1 ใน 3 ของสิ่งมีชีวิตในทะเล และเป็นแหล่งพึ่งพิง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งรายได้ และแหล่งอาหารของผู้คนกว่าพันล้านทั่วโลก
สถานการณ์ปะการังไทยบางส่วนเริ่มฟื้นตัว แต่ภาพรวมยังน่าเป็นห่วง
สำหรับประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยไทยมีแนวปะการังประมาณ 149,182 ไร่ พร้อมรายงานว่าแนวปะการังไทยอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีถึงดีมาก 53% และอีก 24% อยู่ในสถานภาพเสียหาย
ข่าวดีคือการสำรวจในช่วงต้นปี 2568 พบว่า ปะการังฝั่งอันดามันฟื้นตัว 60-70% และอ่าวไทยฟื้นตัว 40-60% ซึ่งแสดงถึงสัญญาณที่ดีว่าการดำเนินมาตรการร่วมของหลายภาคส่วน เช่น ปิดแหล่งท่องเที่ยว เช่น อ่าวมาหยา การเก็บขยะในทะเล และรณรงค์งดใช้ครีมกันแดดที่มีสารอันตรายกำลังเริ่มได้ผล
ไลฟ์สไตล์ของเรา คือตัวแปรสำคัญของปัญหา
นอกจากปัญหาโลกร้อนที่ต้องแก้ไขในเชิงนโยบายแล้ว “พฤติกรรมของมนุษย์” โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชายทะเล ก็เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ปะการังฟอกขาวเร็วขึ้น โดยหนึ่งในภัยเงียบที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงคือ “ครีมกันแดด”
ครีมกันแดดทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?
ครีมกันแดดบางชนิดมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับแนวปะการังในทะเล สารเคมีเหล่านี้ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC), และ Butylparaben ซึ่งการปนเปื้อนของสารเหล่านี้ในทะเลสามารถทำให้ปะการังเสื่อมโทรมและฟอกขาวได้ โดยรบกวนการเจริญเติบโตของปะการัง และสามารถทำลาย DNA ของปะการังได้ ส่งผลให้ปะการังตายหรือเกิดการผิดรูปของตัวอ่อนปะการัง
งานวิจัยชี้ว่า ทุกปีมีครีมกันแดดถึง 14,000 ตัน ที่ถูกปนเปื้อนในน้ำทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเล่นน้ำ และน้ำเสียที่ไหลลงทะเล ซึ่งไม่เพียงแต่ปะการังที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีสัตว์ทะเลอื่นๆ เช่น สาหร่ายทะเล หอยแมลงภู่ เม่นทะเล ปลา และแม้กระทั่งโลมา
แม้ว่าการหลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่มีสารเคมีเหล่านี้อาจทำได้ยาก เนื่องจาก Oxybenzone เป็นสารที่พบมากในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดทั่วโลก (มากกว่า 3,500 ยี่ห้อ) หลายประเทศเริ่มตื่นตัวและออกกฎหมายห้ามใช้สารเหล่านี้ เช่น ฮาวาย และ ปาเลา
แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้าง?
แม้จะรู้สึกว่าปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าจะจัดการได้ แต่ความจริงคือทุกคนสามารถเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ได้ เช่น
- เลือกใช้ครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการัง เช่น ครีมกันแดดที่ใช้ Zinc Oxide หรือ Titanium Dioxide โดยสามารถมองหาคำว่า “reef safe” บนบรรจุภัณฑ์ได้ หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
- สวมเสื้อป้องกัน UV แทนการทาครีมเมื่อลงเล่นน้ำทะเล
- ไม่ให้อาหารปลา หรือเหยียบแนวปะการัง
- งดใช้พลาสติกที่อาจหลุดไปในทะเล
- สนับสนุนแคมเปญอนุรักษ์ และกระจายความรู้เรื่องปะการังให้มากขึ้น
เพราะทะเล...ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
ในยุคที่โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาทะเลไม่ใช่แค่หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ หรือภาครัฐเท่านั้น แต่คือความรับผิดชอบร่วมกันของ “มนุษย์ทุกคน” ในการลดการปล่อยมลพิษจากกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การพัฒนาที่ยั่งยืน และการสนับสนุนงานวิจัยและการอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการัง สุดท้ายหากเรายังนิ่งเฉยต่อเสียงร้องของท้องทะเล วันหนึ่งอาจไม่มีทะเลเหลือให้เราฟังเสียงอีกเลย