เด็กตีกัน-ไม่ใช่เด็กเรียน เพิ่มวิชาเรียนก็ช่วยไม่ได้

15 พ.ย. 2566 - 15:57

  • คุยกับ ‘เต้ บุรณพนธ์’ หรือ ‘อัคราวุธ ไกรศรีสมบัติ’ อดีตเด็กช่างหัวโจก ที่ผ่านการตีรันฟันแทงกับคู่อริจนนำมาสู่บทเรียนชีวิตครั้งใหญ่

  • มองภาครัฐกำลังปัญหาเด็กตีกันไม่ถูกจุด เพราะเด็กตีกัน ไม่ใช่เด็กเรียน เพิ่มวิชาเรียนก็ช่วยไม่ได้

tae-buranaphon-guidelines-for-resolving-conflicts-among-vocational-children-SPACEBAR-Hero.jpg

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนักเรียนอาชีวะต่างสถาบัน กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง หลังเกิดเหตุกลุ่มนักเรียนช่างกลไล่ยิงคู่อริ บริเวณหน้าธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ สาขาคลองเตย แล้วมีกระสุนพลาดไปโดน ‘ครูเจี๊ยบ’ หรือ ‘ศิรดา สินประเสริฐ’ ครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ที่กระทุ้งให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาทางแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ออกมาจากปากของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีลูกพรรคดูแลกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คือ นำวิชาประวัติศาสตร์ จริยธรรมศึกษา และหน้าที่พลเมือง กลับมา เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของนักเรียนใหม่ เพื่อหวังแก้ปัญหาดังกล่าว 

แต่ในมุมมองของ ‘เต้ บุรณพนธ์’ หรือ ‘อัคราวุธ ไกรศรีสมบัติ’ อดีตเด็กช่างที่เคยผ่านการตีรันฟันแทงกับนักศึกษาที่เป็นคู่อริมาก่อน มองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด แล้วปัญหาและแนวทางแก้ไขที่แท้จริงคืออะไร สเปซบาร์ชวนหาคำตอบเรื่องนี้กับ  ‘เต้ บุรณพนธ์’

— ศักดิ์ศรี รุ่นพี่ และสีเสื้อ —

เด็กอาชีวะตีกันเพราะอะไร?  ‘เต้ บุรณพนธ์’ อธิบายว่า มันเป็นเรื่องของคำว่า ‘ศักดิ์ศรี รุ่นพี่ และสีเสื้อ’ ที่ไม่เหมือนกัน พร้อมเล่าย้อนให้ฟังว่า สมัยที่เขาเรียนอยู่โรงเรียนช่างกลบุรณพนธ์ เดินไปไหนก็มีศักดิ์ศรีของโรงเรียน พอเราพลาดหรือโดนโรงเรียนอื่นเล่น เราจะเสียศักดิ์ศรี รุ่นพี่จะคอยเช็กและมากดดันว่ายอมได้ไง ต้องไปเอาคืน กลายเป็นว่าเอาคืนกันไปมาไม่จบไม่สิ้น 

ดังนั้นปัญหาหลักๆ คือรุ่นพี่ แต่ไม่ใช่รุ่นพี่ทุกคนจะเป็นเหมือนกันหมด มีทั้งรุ่นพี่ที่เกเรและรุ่นพี่ที่ตั้งใจเรียน ถ้าเป็นเด็กเรียนจะไม่สนใจเรื่องตีกันเลย แต่รุ่นพี่ที่เกเรจะคอยคุมทั้งหมด ทั้งเด็กเรียนและเด็กไม่เรียน แต่สิ่งที่เล่าไม่ได้เป็นภาพใหญ่ของนักเรียนที่ศึกษาอยู่ มันเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ 

— เด็กทุกคนอยากมีตัวตนและได้รับการยอมรับ —

จากอดีตที่เคยเป็นเด็กหัวโจก ทำให้ ‘เต้ บุรณพนธ์’ เข้าใจดีว่า เด็กทุกคนอยากเฟี้ยว อยากเท่ และอยากได้รับการยอมรับ และเขาเองก็เคยเดินในเส้นทางที่ทำให้ต้องตัดสินใจทำผิดพลาดครั้งใหญ่ แม้ตอนแรกจะได้รับการยอมรับจากหลายคน แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว พ่อแม่ คนรัก และอนาคตของตัวเอง ทั้งไปเรียนไม่ได้ อยู่บ้านไม่ได้ เพราะต้องหลบหนี แต่เมื่อหนีไม่ได้ พ่อที่มีอาชีพหาเช้ากินค่ำ ต้องไปกู้เงินมาช่วยแก้ปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่รุ่นพี่ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออะไร

— สถานการณ์รุนแรงขึ้น —

‘เต้ บุรณพนธ์’ ยังมองว่าปัญหาเด็กตีกันในยุคนี้ แย่ลงกว่ายุคที่ผ่านมา เพราะเด็กเข้าถึงอาวุธได้ง่ายขึ้น และอาวุธมีการพัฒนามากขึ้นด้วย เมื่อก่อนใช้มือ ใช้มีด เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว และเด็กคิดว่าจะหนีตำรวจรวจ แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้นตำรวจตามจับได้แน่นอน เพราะขนาดในยุคของเขาที่ยังไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีโทรศัพท์ ตำรวจยังตามจับได้ ดังนั้นในยุคนี้จึงเชื่อว่ายังไงก็หนีไม่รอด อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘ครูเจี๊ยบ’ เขาก็เชื่อว่าผู้ก่อเหตุอย่างไร ก็ต้องถูกตำรวจจับ สิ่งที่อยากบอกคือน้องเลือกได้ แต่ต้องรับผลการกระทำที่ตามมาด้วย ว่ามันคุ้มกับสิ่งที่เสียไปหรือไม่

— เด็กตีกัน ไม่ใช่เด็กเรียน เพิ่มวิชาเรียนก็ช่วยไม่ได้ —

ส่วนประเด็นที่ภาครัฐมีแนวคิดนำวิชาประวัติศาสตร์ จริยธรรมศึกษา และหน้าที่พลเมือง กลับมา เพื่อหวังแก้ปัญหาเด็กตีกัน ในมุมมองของคนที่เคยเดินบนเส้นทางนี้ ‘เต้ บุรณพนธ์’ มองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะแม้วิชาประวัติศาสตร์จะสำคัญ แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับการตีกัน ถ้าคิดแบบวิชาการจะได้แค่วิชาการ และในความเป็นจริงแล้ว เรื่องพวกนี้สอนได้แค่เด็กเรียน แต่เด็กที่ตีกันมันคือเด็กเก ไม่ใช่เด็กเรียน 

“ ผมพูดจริงๆ นะ วิชาการที่คุณเอาเข้าไป คุณจะได้แค่วิชาการ แต่เด็กที่ตีกันมันก็ตีกันวันยันค่ำ มันไม่ได้มานั่งฟังหรอกวิชาการอะไร แค่คุณพูดมาว่าเพิ่ม 3 วิชาเรียน ทุกวันนี้เด็กยังเครียดไม่พอเหรอ แล้วจะมาเอาวิชาการ ถ้าแบบนั้นคุณเจอภาพแบบเดิม 

พร้อมแนะนำว่าสิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ จัดกิจกรรมกระชับมิตรให้แต่ละสถาบัน ได้ทำร่วมกัน เช่น ปลูกป่า ช่วยเหลือชุมชน เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กได้ปรับความเข้าใจกัน และทำให้เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะตีกัน แล้วสร้างเครือข่ายนี้ให้เข้มแข็ง

— บทเรียนจากความผิดพลาด —

อดีตที่ผ่านมา ‘เต้ บุรณพนธ์’ ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่กลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาพอทำได้คือทำยังไงก็ได้ให้เด็กวัยรุ่น และเยาวชนรับรู้ถึงผลกระทบที่ตามมา  เพราะตอนที่เขาเป็นวัยรุ่น ใครบอกให้เลิกก็ไม่เลิก จนกระทั้งเกิดเหตุการณ์ที่เขาทำผิดพลาดครั้งใหญ่ไป และนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาอยากทำให้เด็กคนอื่นกลับมาอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง เพราะรู้ดีว่าเรื่องนี้ไม่สามารถบอกให้เด็กเลิกตีกันได้ทันที แต่เราต้องทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้ว่าผลกระทบที่ตามมาคืออะไร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน และจะทำให้เด็กอยากเลิกเอง

สิ่งที่เขาและเครือข่ายพยายามทำตอนนี้และเริ่มทำไปแล้ว คือ การจัดฟุตบอลกระชับมิตร เพื่อให้สถาบันที่มีปัญหากันได้มาเล่นฟุตบอลด้วยกันสิ่งที่ตามมา คือ พวกเขาได้คุยกันมากขึ้นและวันนี้ไม่ตีกันแล้ว หรือการจัดคอนเสิร์ต 4 King ที่มี 4 โรงเรียนอาชีวะ ที่ประกอบด้วย โรงเรียนกนกอาชีวศึกษา โรงเรียนอินทรอาชีวศึกษา โรงเรียนเทคโนโลยีประชาชื่น และโรงเรียนเทคนิคบุรณพนธ์ (เดิมชื่อโรงเรียนช่างกลบุรณพนธ์)  นอกจากนี้ยังได้เชิญสถาบันอีก 37 มาร่วมด้วย เพื่อลดละเลิกความรุนแรง

S__22347823.jpg
Photo: กิจกรรมฟุตบอลกระชับมิตร ที่ ‘เต้ บุรณพนธ์’ และเครือข่ายร่วมกันจัด

‘เต้ บุรณพนธ์’ ยอมรับว่าแม้มุมหนึ่งเขาจะเคยออกมาเคลื่อนไหวในกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน แต่เนื่องจากมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ตอนนี้เขาได้แยกออกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่แล้วคือกลุ่มอาชีวะราชภักดี เป็นกลุ่มที่ไม่อิงการเมือง และทำกิจกรรมแนวจิตอาสาเป็นลักษณ์ จึงอยากขอโอกาสให้มองเขาในอีกแง่มุมหนึ่ง 

พร้อมชวนร่วมกิจกรรมปั่นจักรยาน ‘Bike to Memorial รำลึกไท้ ภูมิพล องค์ราชัน’ ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ โดยกิจกรรมจะเริ่มในเวลา 05.00 น. เริ่มต้นออกตัวจากหอประชุมกองทัพเรือ ขึ้นสะพานพระราม 8 มุ่งหน้าไปอุทยานเฉลิมพระเกียรติ (นางเลิ้ง) และไปสิ้นสุดที่สนามหลวง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : แนะรัฐคุมเข้มอาวุธ ลดความรุนแรงเด็กตีกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์