‘ปลาหมอคางดำ’ ร้ายนัก! แล้วใครจะรับผิดชอบ?

19 ก.ค. 2567 - 09:36

  • งานเสวนา ปลาหมอคางดำ ทำลายสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทย ใครรับผิดชอบ? เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะประชาคมคนรักแม่กลอง ที่กังวลว่า หากระบบนิเวศล่มสลาย ผู้ที่มีอาชีพล่างสุด จะไม่สามารถหาอยู่หากินในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งสะท้อนถึงความมี ‘ศักดิ์ศรี’ ความเป็นมนุษย์ ที่จะกระทบต่อการเมืองไทย

  • นอกจากนี้ คนในพื้นที่ยังมองว่า การรณรงค์เรื่องการกินปลาหมอคางดำ ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะ ‘ปลาพันธุ์นี้’ จะทำให้ปลาชนิดอื่นตายไปหมด แล้วสุดท้าย ‘คนไม่มีเงิน’ ต้องนั่งก้มหน้าก้มตากิน ‘ปลาหมอคางดำ’ อย่างเดียว

talk-blackchin-tilapia-19jul2024-SPACEBAR-Hero.jpg

ถือเป็นปัญหาระดับชาติไปแล้ว สำหรับการแพร่ระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ ซึ่งในงานเสวนา ปลาหมอคางดำ ทำลายสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทย ใครรับผิดชอบ? วันนี้ (19 ก.ค.67) ได้มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ทั้งต้นตอการแพร่ระบาด และการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

‘คัมภีร์ ทองเปลว’ ประชาคมคนรักแม่กลอง และเครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวในงานเสวนา ปลาหมอคางดำ ทำลายสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทย ใครรับผิดชอบ? ในฐานะที่เป็นเกษตรกร อยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยระบุว่า ที่ตั้งของฟาร์มอยู่ไม่ห่างจากบ้านของตนเอง ฟาร์มนี้ตั้งมานานตั้งแต่ตัวเองยังเด็ก แต่ไม่รู้ว่า ทดลองอะไรมาบ้าง แต่พี่น้องที่เพาะเลี้ยงก็ได้เห็นหน้าปลาหมอคางดำเมื่อปี 2555 พอเข้ามาอยู่ในบ่อธรรมชาติ มันมีปลาหมอตัวนี้เข้ามา แล้วกุ้งก็ได้น้อยลง จากนั้น ในปี 2556 และ 2557 ก็เริ่มหนักขึ้น ทำให้พันธุ์ปลาหมอเทศเริ่มหายไป มี ‘ปลาหมอคางดำ’ มากขึ้น แม่กลองมีคลองไม่ต่ำกว่า 600 คลอง และต่อเนื่องไปถึงเพชรบุรี การระบาดจึงไปทั่วหมด พอปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ลงมาตรวจสอบ แต่เสียดายอยู่นิดเดียว ถ้าองค์กรอิสระ เมื่อเริ่มทำงานให้ประชาชนแล้ว ควรทำให้ถึงจุดที่เรียกว่า สิ้นสงสัย โดยควรจะมีข้อสรุปตั้งแต่ปี 2560 แล้ว สังคมไทยชอบพูดคำว่า บทเรียนจนเอียน บทเรียนมีมาไม่รู้กี่บท แต่ไม่เคยรู้จริงจังสักที และนี่ก็ขอให้เป็นบทเรียนสุดท้ายจริงๆ

talk-blackchin-tilapia-19jul2024-SPACEBAR-Photo01.jpg

“สิ่งที่ผมอยากจะพูดอีกข้อหนึ่งคือ ผมไม่รู้หรอกตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเป็นหมื่นล้านอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่ผมจะย้ำ คือ ถ้าระบบนิเวศมันล่มสลาย นั่นคือท่านกำลังเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ชั้นล่างสุดไปด้วย คืออาชีพล่างสุดคือผู้ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง ถ้าเขาไม่สามารถจะหาอยู่หากินในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้ เขามีศักดิ์ศรีตรงไหน ต้องเป็นลูกจ้างในโรงงานใช่หรือไม่ เศรษฐกิจมันเริ่มต้นจากฐานราก คือฐานทรัพยากรที่สมบูรณ์ ตรงนั้นคือของจริง ท่านประเมินค่าไม่ได้เลย เพราะมันเกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยแท้ ถ้าฐานข้างล่างมันแน่น คนก็มีศักดิ์ศรี นักการเมืองที่เลวก็จะซื้อเสียงไม่ได้ เราก็จะได้ผู้แทนที่ดีเข้าสภา วงจรมันเป็นแบบนี้”

คัมภีร์ กล่าว

talk-blackchin-tilapia-19jul2024-SPACEBAR-Photo02.jpg

‘บุญยืน ศิริธรรม’ ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า การไปทดลองเลี้ยงของเขา มันไม่ประสบความสำเร็จเพราะเป็นปลาโตช้า ปลาเนื้อน้อยมันไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ เรารู้เอาก็ต่อเมื่อมันมาระบาดแล้ว “ไอ้นี่อะไร นิลก็ไม่ใช่ ปลาหมอไทยก็ไม่ใช่ ปลาหมอเทศก็ไม่ใช่ แล้วยิ่งมาเอ๊ะใหญ่ ปลาท้องถิ่นหายไปไหนหมด”

“รัฐพยายาม ก็พยายามรังสรรค์เมนูโน้เมนูนี้ ดูถูกมาก เราเป็นชาวประมง เรารู้ว่ากินได้ รู้ว่าทำได้ทุกอย่าง แล้วทำไมต้องกินปากคางดำด้วย ในเมื่อมีปลาอร่อยที่ฉันเคยกิน ถามว่ามันมีปลาหมอคางดำแล้วเกิดอะไรขึ้น ความหลากหลายของพันธุ์ปลามันหมดไปกับไอ้นี่ ฉันก็รู้ว่าปลาหมอคางดำมันกินได้ แต่ความรู้สึกของเรา ในพื้นที่ มันไม่น่ากิน มันมีปลาอื่นที่มีเนื้อเยอะกว่านี้ มันอร่อยกว่า มันน่ากิน เราไม่ใช่คนหมดทางเลือก จะต้องมากินปลาหมอสีคางดำ เมื่อวานก็คนโพสต์ขึ้นมาว่า ทำนู่นทำนี่อร่อยจังฮู้ ไม่ต้องกลัว เอ็งได้อร่อยแน่ อีกหน่อยก็ไม่มีปลาอื่นให้กิน”

บุญยืน กล่าว

บุญยืน ย้ำอีกว่า ปลาหมอคางดำอยู่ได้ทุกน้ำ ดอนหอยหลอดตอนนี้ แทบจะไม่เหลือหอยหลอดแล้ว เพราะปลาหมอคางดำ กินไข่หอยไข่ปลา ทุกอย่างกินหมด อีกหน่อยประเทศไทยจะได้กินแต่ปลาหมอคางดำ

“ถามว่า ประชาชนผิดอะไรจะต้องมานั่งกินตามหมอคางดำ ถามหน่อยนะ ที่รณรงค์ให้ชาวบ้านกินปลาหมอคางดำ พวกมีอำนาจกินไหม ก็ไม่กิน เพราะมีเงินก็ไปซื้ออย่างอื่นกิน แต่พวกเราไม่มีเงิน สุดท้ายก็ต้องนั่งก้มหน้าก้มตากินปลาหมอคางดำอย่างเดียว”

บุญยืน กล่าว

talk-blackchin-tilapia-19jul2024-SPACEBAR-Photo03.jpg

‘ชวลิต วิทยานนท์’ นักวิชาการอิสระ ด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ ระบุว่า ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่พบว่ามีการระบาดน่าจะรุนแรงที่สุดในโลก เท่าที่พบมา ซึ่งปลาหมอคางดำ มีผลกระทบรวดเร็วและรุนแรงที่สุด เพราะนิสัยของมัน ขี้ผสมพันธุ์ มันออกลูกเร็ว ตัวอ่อนของมัน ฝูงหนึ่งหลายพันตัวว่ายกระจายไปทั่วน่านน้ำไทยและชายฝั่ง ผมไปหัวหิน ไปว่ายน้ำเล่นกัน เห็นฝูงมันเป็นพันตัวตามปากคลอง แล้วเขาอยู่ได้ทุกน้ำ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย แม้แต่น้ำเน่าเน่า บึงมักกะสันเขาก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่า ปลาตัวนี้จะไม่อยู่รอด และ ที่น่ากลัวกว่าปลาอื่น ตรงที่ว่า เขาออกทะเลได้และน้ำจืดได้ เพราะฉะนั้น มันก็จะกระจายตัวไปทั่วตามภูมิภาคที่เขาว่ายน้ำไปถึง

talk-blackchin-tilapia-19jul2024-SPACEBAR-Photo04.jpg

‘ศยามล ไกรยูรวงศ์’ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เล่าย้อนเหตุการณ์ว่า ปี 2560 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งผู้ร้องคือเครือข่ายชาวประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ร้องมาว่า เจอปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ซึ่งตอนนั้น ได้กำหนดให้กรมประมง เป็นผู้ถูกร้อง เพราะยังไม่ทราบว่า บริษัทที่นำเข้าเป็นบริษัทใด ผลการตรวจสอบในปี 2561 ก็เลยพบว่า ในปี 2553 บริษัทนำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งเขาทดลองที่ตำบลยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม พอปลาทยอยตายใน 3 สัปดาห์ บริษัทก็ได้ทำลายและฝังกลบซาก และโรยด้วยปูนขาว และแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา แต่ไม่ได้จัดทำรายงานเป็นทางการและเก็บซากป่าส่งให้กรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC ซึ่งในเกณฑ์ที่เขาจะต้องทำรายงานมีความสำคัญว่า จะต้องทำให้กรมประมงรับทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งทาง กสม.ก็เลยมีข้อเสนอให้กรมประมงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด และในช่วงเวลานั้น กรมประมงก็ได้มีการดำเนินโครงการในการกำจัดปลาหมอคางดำที่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร และมีแผนกลไกการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น ซึ่งมีประกาศออกมาในเดือนมกราคม 2561 ซึ่งก่อนหน้านั้น ยังไม่มีประกาศในการห้ามนำเข้าปลาหมอคางดำ มาประกาศในปี 2561 ที่กำหนดชนิดสัตว์น้ำห้ามนำเข้า โดยมีปลาหมอคางดำ ด้วย แต่ในช่วงเวลานั้น จากการแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง และที่สำคัญคือในเครือข่ายชาวประมงที่ร้องมาว่า ในการจัดการปลาหมอคางดำ ขอให้นำความเห็นของชาวประมงในพื้นที่มาพิจารณาประกอบการในการจัดทำเรื่องนี้ด้วย แต่ตอนนั้น กรมประมงได้ชี้แจงว่าได้ดำเนินการไปแล้ว ต่อมาในปี 2567 กลุ่มเดิมก็มาร้องเรียนอีกครั้งหนึ่ง กับ กสม. แต่ กสม.ตรวจสอบจากข้อมูลเจ้าหน้าที่ที่เคยรับผิดชอบ เห็นว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบหาหลักฐานของปลาหมอคางดำ เนื่องจากชาวประมงในหลายพื้นที่ ก็คิดว่าควรรีบแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด และตอนนั้นเป็นประเด็นที่ชาวประมงพูดถึงมากว่า จะมีเงินค่าเยียวยาอย่างไร ก็เลยมีการถามถึงเกี่ยวกับเงินทดรองราชการ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ ปภ.ดูแลว่าใช้เงินทดรองราชการนี้ได้ไหม หากประกาศเป็นภัยพิบัติ แต่ทาง ปภ.ชี้แจงว่า ประกาศเป็นภัยพิบัติไม่ได้ เพราะไม่เหมือนเป็นภัยที่มีเหตุเกิดขึ้นฉับพลันทันใดแบบน้ำท่วม หรือเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ในประเทศไทย แต่นี่เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น ก็เป็นภารกิจของกรมประมงที่ต้องใช้งบประมาณในการเยียวยา และในส่วนนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ก็ได้พูดถึงข้อจำกัดที่ทางจังหวัดไม่สามารถใช้งบของจังหวัดมาจัดการได้ ก็ได้เสนอให้กรมประมงทำหนังสือไปสอบถามกรมบัญชีกลางว่าจะสามารถทำได้อย่างไร แต่กรมประมงก็ไม่ได้ชี้แจงมาให้ กสม.เป็นลายลักษณ์อักษร ทราบว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ อันนี้เป็นการเยียวยาเหตุเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น

talk-blackchin-tilapia-19jul2024-SPACEBAR-Photo00.jpg

ส่วนความรับผิดชอบของบริษัทนำเข้า กรมประมงจะทำอย่างไรนั้น กสม.ก็ได้เรียกประชุมด่วนกับทั้งกรมประมงและบริษัทนำเข้าว่า เรื่องนี้จะร่วมกันแก้ไขปัญหากันอย่างไร อีกประเด็นพบจากโมเดลที่กรมประมงทำที่จังหวัดสมุทรสาคร คือให้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกเว้นการใช้เครื่องมืออวนรุน เพื่อให้ชาวประมงเร่งจับปลาหมอคางดำอย่างเร่งด่วน และที่กรมประมงมีแผนจะเอาปลาคือปลากระพงไปล่า แต่พอเรามีหนังสือแจ้งผลประชุมวันนั้น เพื่อให้แต่ละจังหวัดได้มีการพูดคุยระหว่างชาวประมงในจังหวัดกับประมงจังหวัดเพื่อสำรวจความเสียหายของการแพร่ระบาด สำรวจแล้วก็ต้องคุยกันว่าจะใช้เครื่องมืออะไรที่เร่งจับ และจะมีมาตรการจูงใจอย่างไรที่จะทำให้ชาวประมงมาช่วยกันจับ ซึ่งชาวประมงก็พูดว่า ในยุคสมัยนี้ให้กิโลละ 5 บาทมันต่ำไป มันเป็นแรงจูงใจ ชาวประมงก็เลยบอกว่าต้องกำหนดราคาที่สูงกว่านั้น แต่ราคาจะต้องดูสถานการณ์เวลานั้นว่าจะใช้ราคากิโลละเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็ต้องมาจากคนในพื้นที่แต่ละจังหวัดที่ที่มีการแก้ปัญหาต่างกัน น่าจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาได้รวดเร็ว ถ้ารีบสำรวจปุ๊บ ชาวประมงเสนอปั๊บ ก็จะสู่แผนงานและงบประมาณ ซึ่งก็นำมาสู่การ กสม. กรมประมงและบริษัทนำเข้ามาคุยกันว่า เรื่องนี้เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนอย่างไร ซึ่งกรมประมงก็มีแผนและบวกกับที่ชาวบ้านไปร้องเรียนกับรัฐมนตรีธรรมนัส จึงได้เกิดการประชุมคณะกรรมการระดับชาติ แต่ที่สำคัญคือ เราต้องเร่งทำแผนและงบประมาณ ซึ่งทางอธิบดีกำลังดำเนินการหาข้อมูล

“เรื่องนี้มันไม่ใช่ภารกิจกรมประมงฝ่ายเดียว มันเป็นภารกิจของรัฐบาลด้วย เพราะการแก้ปัญหานี้ ถ้ารอแต่กรมประมง มันจะไม่ทันการ เพราะปลาหมอคางดำอาจจะไประบาดเขตพื้นที่ทางทะเลและทรัพยากรชายฝั่ง เพราะฉะนั้นจะต้องให้รัฐบาลบูรณาการหน่วยงานและประสานทางภาคเอกชน งบประมาณทางภาครัฐจากส่วนไหน และที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับองค์ความรู้ของเรา เพราะฉะนั้น มันอาจจะต้องมีการศึกษารวดเร็วที่เป็นผู้เชี่ยวชาญศึกษาว่า จะดำเนินการอย่างไร จะรองบประมาณของกรมประมงไม่น่ารอได้ เราควรจะให้ภาคเอกชนหรือบริษัทนำเข้าร่วมกันแก้ปัญหา”

ศยามล กล่าว

ศยามล กล่าวอีกว่า ส่วนจะหาความรับผิดจากใคร ชาวบ้านก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องคดีในส่วนของชาวบ้าน แต่ในส่วนของ กสม. ก็ช่วยประสานในการแก้ปัญหา ได้ประสานกับกรมประมงว่าขอให้มีการประชุมเร่งด่วนเมื่อมีแผนการและงบประมาณของทุกจังหวัดที่ปลาหมอข้างดำแพร่ระบาด และเปิดเผยข้อมูลและแผนทุกจังหวัดต่อสาธารณะ

talk-blackchin-tilapia-19jul2024-SPACEBAR-Photo05.jpg

‘ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์’ สส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ความเคลือบแคลงสงสัยของพี่น้องประชาชนก็ยังคงมีอยู่ ด้วยข้อมูลแตกต่างกันระหว่างบริษัทเอกชนนำเข้าและหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขของคณะกรรมการ IBC ในปี 2553 ในการอนุญาตนำเข้าแบบมีเงื่อนไข ซึ่งมีด้วยกัน 4 เงื่อนไข หมายความว่าถ้าทำผิดเงื่อนไข คือไม่อนุญาต แต่ในขณะนี้ เงื่อนไขทั้ง 4 เรายังไม่เห็นบริษัทเอกชนนั้นได้ดำเนินการหรือไม่ เนื่องจากทางกรมประมงยืนยันว่า ไม่ได้รับข้อมูล เมื่อวานที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมธิการได้เปิดประเด็นชิ้นใหม่ คือเรื่องของการอนุญาต บอกว่า ให้กรมประมงเป็นคนเก็บตัวอย่างครีบปลาจำนวน 3 ตัว แบบไม่ทำให้ปลาตาย เพื่อให้กรมประมงสามารถบันทึกข้อมูลดีเอ็นเอต่างๆ ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนเริ่มงานวิจัย นั่นหมายความว่า ระหว่างขนส่งมา จะเหลือปลากี่ตัวก็แล้วแต่ อย่างน้อยมากกว่า 3 ตัว สามารถดำเนินการได้ และหากไม่ส่งครีบปาน เพราะเหตุใดจึงไม่ส่งครีบปลาตามเงื่อนไข เพราะขออนุญาตมาแบบมีเงื่อนไข ถ้าเกิดงานศึกษาชิ้นนี้สำเร็จแล้วจะต้องส่งข้อมูลให้กับกรมประมงด้วย ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่วันนี้กรมประมงยังไม่มีรายงานฉบับใดที่เป็นการยืนยันถึงงานวิจัยชิ้นนี้

talk-blackchin-tilapia-19jul2024-SPACEBAR-Photo06.jpg

ณัฐชา กล่าวอีกว่า เมื่อบริษัทดังกล่าวไม่ใช้ปลาแล้ว ให้ทำลายปลาให้สิ้นซาก และส่งซากปลาให้กับกรมประมง ไม่ได้หมายความว่า ให้เอาไปฝังแล้วโทรบอกว่า ตายหมดแล้ว ฝังหมดแล้ว อันนี้ยังไม่ตรงเงื่อนไขการอนุญาต เพราะฉะนั้น เงื่อนไขในการอนุญาตมีชัดเจน หากไม่ทำตามเงื่อนไขในการอนุญาตเท่ากับคุณยังไม่ได้รับอนุญาต และอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของการแพร่ระบาด เรามีการพบปลาสายพันธุ์นี้ครั้งแรกในราชอาณาจักรไทยคือปี 2555 โดยพบในแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ในตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกันของศูนย์วิจัย เพราะฉะนั้นก็เป็นข้อสังเกตอีกหนึ่งข้อ เพราะเหตุใด ทำไมเริ่มเจอที่แรกที่นั่น

ณัฐชา กล่าวว่า มีการโต้แย้งในสังคมออกมาว่า ปลาสายพันธุ์นี้ อาจจะเป็นการลักลอบนำเข้าก็ได้ เพราะว่า ทำไมถึงมีข้อมูลในการส่งออกตั้ง 320,000 ราย ใน 17 ประเทศทั่วโลก 11 บริษัทเอกชนที่เป็นคนนำส่ง ส่วนตัวมองว่า ในข้อสันนิษฐานที่สามารถประเมินได้ คือปลาสายพันธุ์นี้พบในแหล่งน้ำธรรมชาติปี 2555 แต่เริ่มมีการส่งปลาสายพันธุ์นี้ครั้งแรกในปี 2556 , 2557 , 2559 ซึ่งระบาดไปแล้ว และมูลค่าในการส่งออก 320,000 ตัว ประมาณ 1.5 ล้านบาท นั่นหมายความว่าตัวหนึ่งอยู่ประมาณ 5-6 บาท ปลาสายพันธุ์นี้จะส่งได้ ต้องมี 2 ทาง คือ หนึ่งไม่พบเอกสารการขอนำเข้า นั่นก็คือแอบลักลอบนำเข้าหรือไม่ นี่คือข้อสันนิษฐานที่หนึ่ง และสอง ถ้าไม่มีการลักลอบนำเข้าคือการพบเห็นในพื้นที่แล้วนำมาขายต่อหรือไม่ มีสองทางเท่านั้น คือแอบนำเข้ากับพบเจอในพื้นถิ่นแล้วเอาไปขาย ฉะนั้นก็เอาไปดูต่อว่า เขาเอาปลาไปขายตัวละ 5-6 บาท คงไม่ลงทุนลักลอบนำจากประเทศกานา เพราะการลักลอบมีโทษสูง ได้ไม่คุ้มเสียกับการที่ไปขายตัวละ 5 บาท ต้นทุนในการนำมาจากประเทศกานาต้องเท่าไหร่ ถึงจะนำมาขายในจำนวนเท่านี้ได้ มันไม่คุ้ม ก็เป็นข้อสันนิษฐานที่สองว่า ถ้าไม่คุ้มทุนในการแอบแอบนำเข้ามา ถ้าอย่างนั้นเป็นการพบเจอในแหล่งน้ำพื้นถิ่นหรือเปล่า เพราะในขณะนั้น ในเอกสารยืนยันของกรมประมงที่มีการส่งออกปลาสายพันธุ์นี้ ยังใช้ชื่อว่า ‘ปลาหมอเทศข้างลาย’ หมายความว่า ยังไม่ใช้ชื่อนี้เลย เพราะปลาหมอคางดำ ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน เป็นปลาที่ไม่เคยเจอ ไม่อยู่ในสารระบบ จะห้ามก็ไม่ห้าม จะอนุญาตก็ไม่อนุญาต มันอยู่ตรงกลาง ทำให้เกิดสุญญากาศที่ช่วงปี 56-59 นั้น สามารถส่งออกได้ แต่ก็ไม่สามารถโต้แย้งได้ว่า มันไม่เกี่ยวกับการนำเข้า เพราะนั่นคือบันทึกเดียวที่ประเทศไทยมี ว่ามีการขนปลาสายพันธุ์นี้ ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศไทย

“ส่วนกระบวนการเป็นเรื่องที่เราต้องพิสูจน์ทราบว่า กระบวนการในการทำลาย ทดลอง วิจัยนั้นเป็นอย่างไร เราพยายามหาข้อมูล ข้อมูลตรงนี้จะช่วยทั้งบริษัทเอกชนที่ไม่ต้องเป็นข้อคอรหากับสังคม ถ้าคุณมีพยานหลักฐานทั้งหมด คุณเปิด แต่ถ้ายิ่งคุณปิดเท่าไหร่ ยิ่งทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัย และครหาคุณได้ สังคมอาจคิดได้ต่างๆ นานา”

ณัฐชา กล่าว

ณัฐชา กล่าวว่า สิ่งเดียวที่จะสามารถยืนยันได้ว่า เหตุการณ์ที่ชุลมุนวุ่นวายที่มีปลาอานุภาพทำลายล้างสูงเข้ามาอยู่ในประเทศไทย มันเกิดจากเหตุใด วันนี้เรามีนายกรัฐมนตรีที่แถลงที่ทำเนียบบอกว่าจะต้องหาต้นตอคนผิดให้ได้ จะต้องหาสาเหตุให้ได้ว่ามาจากไหน วันนี้เรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ออกมาพูดว่า จะต้องตั้งคณะทำงานสืบหาข้อเท็จจริง หมายความว่าทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ทุกฝ่ายกำลังหาสาเหตุต้นตอ แต่ทุกคนพูดหมดเลย เหลือแอ็คชั่นว่าจะทำอย่างไร มีความตั้งใจและมีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน อนุกรรมธิการก็ทำได้เต็มหน้าที่ของอนุกรรมธิการ แต่วันนี้การที่จะหาต้นตอสาเหตุให้ได้ ต้องได้รับกฎหมายคุ้มครอง แล้วก็ต้องได้รับเรื่องของการอำนวยความสะดวกต่างๆจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องใช้กลไกกรอบอำนาจหน้าที่ในการไปตรวจสอบว่า สามารถดำเนินการได้อย่างไร เพราะข้อโต้แย้งเป็นเพียงคำกล่าวอ้าง ทำแล้วส่งแล้วรายงานแล้ว แต่ยังไม่มีเอกสารบันทึกภาพถ่ายยืนยันใดๆ สังคมเลยตั้งข้อสันนิษฐานไปได้ วันอังคารนี้เราจะเดินทางไปยังกรมประมงเพื่อที่จะไปดูกรมประมงว่า กระบวนการขั้นตอนการนำเข้าสัตว์น้ำต่างประเทศนั้น มีกระบวนการติดตามมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเรานำเข้ามาแล้วในแต่ละสายพันธุ์มีอานุภาพการทำลายล้างสูง นั่นหมายความว่า การดูแล การควบคุมจะต้องมีประสิทธิภาพที่สุดเช่นกัน เพราะเมื่อเกิดความผิดพลาด ความเสียหายเราประเมินมูลค่าไม่ได้ เราไม่รู้ว่า เสียหายไปแล้วมูลค่าเท่าไหร่ เกษตรกรต้องเปลี่ยนอาชีพไปแล้วกี่ราย เรื่องนี้ต้องตามต่อ แล้ววันพฤหัสบดีหน้าก็ยังยืนยันที่จะเชิญบริษัทนำเข้า ไม่ได้เพื่อปรักปรำ แต่เพื่อถามข้อมูลต่างๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์