การจำลองเหตุการณ์คดีการเสียชีวิตของ ‘แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์’ ขณะตกจากเรือสปีดโบ๊ตของกลุ่ม ‘อ.ปานเทพ พัวพันธ์พงษ์’ ที่ร่วมกับมิสแกรนด์ไทยแลนด์ วันนี้ (16 ม.ค.) มีเป้าหมายสำคัญคือต้องการชี้ให้เห็นว่าแตงโมไม่ได้เสียชีวิตจากการตกเรือ หรือได้รับบาดเจ็บจากใบพัดเหมือนอย่างที่คนบนเรืออ้าง แต่เป็นการเสียชีวิตด้วยเหตุผลอื่นเพื่อนำสนับสนุนสมมติฐานว่าแตงโมถูกฆาตกรรมอำพรางจากคนกลุ่มหนึ่ง

ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทั้งจากกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการจำลองเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะ ‘ปอ ตนุภัทร’ และ ‘แซน วิศาพัช’ หนึ่งในแก๊งคนบนเรือ ที่มองว่าการจำลองเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเหมือนการแสดงละครที่ควรดูไว้เพื่อเป็นความบันเทิงเท่านั้น เพราะลักษณะการตกเรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำเพื่อหวังดิสเครดิตพวกเขา

- การค้นหาความจริงที่ถูกมองว่าเป็นเพียง ‘การละคร’
ข้อวิจารณ์ที่ว่าการจำลองเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหมือนการแสดงละคร ในมุมมองของ กมลวรรธ สุจริต อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มองว่า คดีการเสียชีวิตของแตงโมในปัจจุบันได้รับความสนใจน้อยลงกว่าช่วงแรกๆ ที่เกิดเหตุ ดังนั้นการดึงคนให้กลับมาสนใจประเด็นนี้อีกครั้ง จึงถูกนำเสนอคล้ายกับโชว์หรือซีรีส์ ที่จะเล่าแบบเร้าอารมณ์เพื่อให้คนหันมาสนใจ ซึ่งการจำลองเหตุการณ์เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้คนดูรู้สึกคล้อยตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
ส่วนเป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่ อ.กมลวรรธ มองว่า ควรดูที่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายว่าเหตุใดเขาถึงไม่ยอมรับกระบวนการพิสูจน์ของตำรวจที่มีหลักฐานทางการแพทย์ เพราะจุดนี้สะท้อนได้ว่า สิ่งที่เขากำลังท้าทายไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม แต่เป็นเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ
“ ปลายทางไม่ใช่การประท้วงศาล แต่เขากำลังไม่เชื่อในกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งทางการแพทย์ และข้อมูลที่ตำรวจส่งให้ศาลให้พิจารณา ”
กมลวรรธ กล่าว
นอกจากนี้ อ.กมลวรรธ ยังเตือนว่า คนที่ติดตามเรื่องนี้ต้องพิจารณาข้อมูลให้ดี เพราะถ้าเป็นข่าวคนจะเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริง แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมันมีกลิ่นอายของความเป็นโชว์มากกว่าเป็นข่าว แต่ทั้งนี้เชื่อว่าศาลคงพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน เพราะเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ
สอดคล้องกับความเห็นของ รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงศ์ ภูตระกูล หรือ อาจารย์โต้ง นักอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มองว่า สิ่งสำคัญของการจำลองเหตุการณ์ อยู่ที่เป้าหมายว่าทำไปเพื่ออะไร หากทำไปเพื่อหวังให้เกิดการปรับปรุง หรือแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ถ้าทำไปเพื่อให้สังคมเกิดความสับสน อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง แต่เชื่อว่าทุกคนหวังดี อยากให้นำไปสู่การรื้อคดี
ส่วนจะรื้อคดีได้หรือไม่ ต้องดูกันที่พยานหลักฐาน เช่น มีคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์ได้ว่าแตงโมถูกทำให้ตกจากเรือ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนการรื้อคดีคงเป็นไปได้ยาก แม้หลายคนจะมองว่าการที่แตงโมไปปัสสาวะที่ท้ายเรือเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเกิดขึ้นก็ตาม
พร้อมมองว่า ปรากกฎการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่เห็นว่ามีปัญหาตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง โดยเฉพาะเรื่องการวิเคราะห์คดีที่ตำรวจไม่ควรคิดว่าเป็นแค่เหตุการณ์ตกเรือ แต่ต้องคิดว่าเป็นอุบัติเหตุจริงหรือไม่ หรือเป็นการฆาตกรรมอำพราง เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
“คดีแบบนี้มันส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ถ้าคนไม่เชื่อในระบบ ปัญหาที่ตามมาคือเกิดศาลเตี้ย คนตัดสินใจลงมือทำร้ายกันเอง เพราะมองว่าเข้าสู่กระบวนการไปก็เท่านั้น เพราะไม่ศรัทธาไม่เชื่อมั่น สุดท้ายสังคมจะเกิดความไม่สงบสุข”
กฤษณพงศ์ กล่าว
- นับเวลาถอยหลัง .. การเดิมพันครั้งสุดท้ายก่อนศาลมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ คดีการเสียชีวิตของแตงโม ที่คนบนเรือถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ‘ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์’ ทนายความของแม่แตงโม เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดนนทบุรี นัดสืบพยานครั้งสุดท้ายในวันที่ 29 มกราคม 2568 จากนั้นประมาณ 2 เดือนครึ่ง ศาลจึงจะมีคำพิพากษาออกมา
หมายความว่า หากอัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการสั่งฟ้องใหม่ ไม่มีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อสั่งฟ้องคนบนเรือในข้อหาร่วมกันฆ่าอำพรางได้ทันก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ความหวังของกลุ่ม อ.ปานเทพ ที่ต้องการเอาผิดคนบนเรือในข้อหานี้มีอันต้องจบลงไปโดยปริยาย