







‘ภาสกร บุญญลักษม์’ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานในการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ Cell Broadcast ระดับเล็ก พื้นที่ภายในอาคาร โดยจำลองสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งครอบคลุม 5 พื้นที่ คือ ศาลากลาง จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัด อุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A และ B โดยไล่เรียงเริ่มตั้งแต่ ที่หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รายงานผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการเตือนภัยด้วยวาจาเพื่อขออนุมัติแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast ไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทางกลุ่มไลน์ เพื่อส่งแจ้งเตือนให้ประชาชน เมื่ออนุมัติแล้ว ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ส่งข้อความตาม ข้อมูล แจ้งเตือนที่ได้เตรียมไว้ เมื่ออนุมัติให้ส่ง ก็ให้จ้างชุดเวรดำเนินการ จากนั้นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการเตือนภัย แจ้งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่ายเพื่อยืนยันการส่งข้อความแจ้งเตือน ก่อนที่ผู้ให้บริการจะส่งข้อความ ไปยัง 5 พื้นที่ทดสอบ โดยมีระยะเวลาแสดง 10 นาที
‘อธิบดีปภ.’ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการทดสอบระบบ Cell Broadcast อีก 2 ครั้ง ในวันที่7 พฤษภาคม เวลา 13.00 น. เป็นการทดสอบระดับกลาง ครอบคลุม 5 พื้นที่ อ.เมืองลำปาง อ.เมืองนครราชสีมา อ.เมืองนครสวรรค์ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง ของกรุงเทพฯ ส่วนครั้งที่ 3 ในวันที่ 13 พ.ค. เวลา 13.00 น.จะเป็นการทดสอบส่งแจ้งเตือนในระดับใหญ่สูงสุด เต็มพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร ขณะที่ปภ.จะดำเนินการทดลองระบบ 77 จังหวัดพร้อมกัน ทั่วประเทศอีกครั้ง ก่อนเดือน ก.ค.นี้ด้วย
‘ภาสกร’ กล่าวอีกว่า การทดสอบ Cell Broadcast ครั้งนี้ อาจมีสัญญาณล้ำออกไปรัศมี 1.5 กิโลเมตร นอกเหนือจากจุดเป้าหมาย ซึ่ง โทรศัพท์ประมาณ 3 ล้านเลขหมายที่ไม่รองรับจะมีการแจ้งเตือนทาง SMS หากเกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะจัดทำแบบสอบถามทาง Google form เพื่อจะวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการใช้ระบบCell Broadcastร่วมกับผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่ายด้วย
ทั้งนี้ เมื่อมีการทดสอบระบบCell Broadcast เสร็จสิ้น อธิบดีกรมปภ. ได้ไล่สอบถามในแต่ละจุดรวมทั้ง 5 จุดถึงการส่งสัญญาณเตือน ของเครือข่ายทั้ง 3 ค่าย ได้รับสัญญาณเตือนและข้อความในเวลาไล่เลี่ยกัน
‘ภาสกร’ กล่าวด้วยว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนและระบุว่า การทดสอบระบบครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ ประชาชนได้รับการแจ้งเตือน เวลาใกล้เคียงกันไม่ถึง 1 นาทีสัญญาณและน้ำเสียงชัดเจน ทั้งพื้นที่ 5 จุด และ 3 ค่ายโทรศัพท์มือถือ พร้อมขอให้ติดตามผลเพื่อทำการปรับปรุงประสิทธิภาพในการส่งต่อไป
สำหรับสัญญาณ CBS มีข้อเสียอย่างไรบ้างนั้น ‘อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย’ กล่าวว่า วันนี้เป็นการทดสอบระบบครั้งแรก สิ่งที่กังวลคือ คนที่ไม่เคยได้ยินเสียงแจ้งเตือน จะตกใจ แต่ได้ประชาสัมพันธ์ไปล่วงหน้าแล้ว มั่นใจว่า ประชาชนทุกคนจะรับทราบการส่งข้อมูลดังกล่าว แต่ระบบการส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูง จำเป็นต้องรองรับกับโทรศัพท์ที่อัพเดตเวอร์ชั่นโทรศัพท์ โดยแอนดรอยด์อัพเวอร์ชั่น เป็น 11 ที่มีคนใช้อยู่ 70 ล้านเลขหมาย และระบบ iOS ที่ต้องอัพเดตเวอร์ชั่นเป็น 18 มีผู้ใช้บริการ ประมาณ 50 ล้านเลขหมาย ส่วนประชาชนที่ยังใช้บริการเครือข่าย 2G และ 3G มีเพียง 3 ล้านเลขหมาย จะได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ไม่เกิน 10 นาที ซึ่งจะส่งการแจ้งเตือนผ่าน CBS และ SMS คู่ขนานกันไปเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลครบถ้วน และระบบเซลล์บอร์ดแคสจะสมบูรณ์ สามารถใช้งานได้ภายในเดือนกรกฎาคม และประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ทันสมัยไม่แพ้ประเทศใดในโลก
เมื่อถามว่า หากเกิดเหตุฉับพลันเช่น น้ำป่าไหลหลาก กระบวนการจะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ ‘ภาสกร’ กล่าวว่า เรามีข้อปฏิบัติหลักประจำคือ SOP ที่กำหนดไว้ว่าการได้รับข้อมูลข่าวสาร ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติตามพระราชบัญญัติการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ประกอบแห่งชาติ เป็นหน่วยกลางในการจัดการสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนภัยประชาชน ส่วนข้อมูลจะมาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เรื่องดินฟ้าอากาศ เป็นส่วนของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องแผ่นดินไหว เป็นส่วนของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังมีกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสทนช. กรมชลประธานที่จะมีทั้งผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเครื่องมือในการวัดมาตรน้ำ ซึ่งหน่วยราชการเหล่านี้เป็นหน่วยงานเบื้องต้นที่จะส่งข้อมูลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่วนทางปภ. มีหน้าที่ รับข้อมูลข่าว วิเคราะห์ข่าว และกระจายข่าว เพราะฉะนั้นปภ. เมื่อรับข้อมูลมาจะเร่งดำเนินการตามภายนั้นๆ ในกรณีที่ไม่รุนแรงถึงขนาดแจ้งเตือนประชาชน ก็จะเป็นลักษณะในการรายงานข่าวตามช่องทางต่างๆแต่หากเป็นกรณีที่มีความฉุกเฉิน หรือรุนแรง กรณีน้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมเฉียบพลัน ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จำเป็นที่จะต้องแจ้งเตือนประชาชนสามารถใช้ Cell Broadcast ส่งได้ทันที
‘ภาสกร’ กล่าวว่า ส่วนการทดสอบระดับแจ้งเตือนภัยทั้งประเทศ หลังจากที่ได้ดำเนินการไปทั้ง 3 ระดับ และดูความพร้อม กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จะเชื่อมระบบทั้งภาคส่ง คือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและภาครับ คือ ผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่าย ที่เรียกว่า Cell Broadcast เซ็นเตอร์ ซึ่งที่มีการทดลองสถานการณ์ระดับเล็กเป็นการส่งข้อความผ่านทางไลน์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเป็นคนกดส่ง แต่เมื่อระบบสมบูรณ์แล้วจะส่งที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเอง จะลดขั้นตอนของผู้ให้บริการ เมื่อเรากดส่งไปข้อมูลที่ส่งถึงประชาชน ในเวลาไม่เกิน 1 นาที
เมื่อถามย้ำว่า จะสามารถทดสอบระบบทั้งประเทศได้ทันภายในเดือนพ.ค.นี้หรือไม่ ‘ภาสกร’ คาดว่า หลังจากได้ดำเนินการครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ก่อนเดือนก.ค. จะมีการทดสอบระบบใหญ่ ทั้งประเทศอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งสุดท้าย