กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักสำหรับประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่งจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 265,286.58 ไร่ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) หลังช่วงปีที่ผ่านมา ในสมัยช่วงปลายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับแนวเขตใหม่ในโครงการ ‘วันแมป (One map)’ โดยแนวเขตใหม่นี้จะทำให้พื้นที่อุทยานฯ ทับลาน ลดลงไปประมาณ 2 แสนไร่

ล่าสุดช่วงวันที่ 4-5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566

ขณะที่ ทางฝั่งของ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายรวมทั้งภาคประชาชนอีกจำนวนหนึ่งได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพราะกังวลเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศสัตว์ป่า และกังวลว่าในอนาคตอาจมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่อื่นถูกเฉือนที่ดินไปทำเป็นพื้นที่การเกษตรเหมือนกับกรณีนี้
โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยโพสต์ข้อความแสดงจุดยืนคัดค้านและตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นว่า
“ กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจาการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 12 กรกฎาคม 2567
- ท่านเห็นชอบการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (ONE MAP) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน หรือไม่ อย่างไร
- เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็น ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะสามารถแก้ไขปัญหา ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน หรือไม่ อย่างไร
- มั่นใจหรือไม่ว่า ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาดั้งเดิมและจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือของนายทุน
- การใช้แนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่
- จะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่น ๆ อีกหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อื่น ๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน
- เป็นการขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หรือไม่ อย่างไร
- จะส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่
จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่ ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีข้อกังวลว่า การจัดการของภาครัฐในลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อแนวการเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า และเพิ่มความรุนแรงความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น ”
ทั้งนี้ ทุกท่านสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 12 กรกฎาคม 2567 ผ่านช่องทาง
👉https://docs.google.com/.../1FAIpQLSdOxZiTKKlqQF.../viewform