พลวัตรของ ‘เด็กแว้น’ ศีลธรรมตีกรอบ - สังคมแบ่งชนชั้น

29 พ.ย. 2567 - 04:59

  • สังเคราะห์พลวัตรจากปลายท่อ เรื่องราว ‘เด็กแว้น’ วัฒนธรรมที่สังคมตีกรอบ

The-dynamics-of-moral-racers-define-class-divisions-SPACEBAR-Hero.jpg

จักรยานยนต์วิ่งรวมหมู่ เรียบถนนแบบสวนเลน ความเร็วไม่ต่ำกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นอัตราเร่งต่อเนื่อง ที่เร็วและอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ มิใช่น้อย ยิ่งประกอบการขับขี่ในช่วงกลางคืน ที่มีเพียงแสงไฟริมถนนคอยให้ความสว่าง

‘แว้นๆๆๆ’

เสียงเครื่องยนต์และท่อไอเสีย ทั้งแบบเดิมๆ และชนิดดัดแปรง กลายเป็นเอกลักษณ์ที่สังคมจับต้องได้ เรามักเรียกเขาด้วยคำพูดลำลอง ตามเสียงที่ได้ยินว่า ‘เด็กแว้น’

“บางทีการยกล้อ มันก็ไม่ได้ทำเพราะโชว์เท่ แต่เพราะเครื่องกำลังมันเยอะ บางครั้งมันจึงเป็นจังหวะรอบสูง ผมไม่ได้ตั้งใจให้เกิดท่าทางหวาดเสียว แต่ถ้าสมัยก่อนก็ยอมรับว่าทำเพราะโชว์สาว แต่ตอนนี้มันก็แค่โชว์พวกกันเองบ้างนานๆ ครั้ง (ฮา)”

เด็กแว้น 0.jpg

เป็นคำอธิบายและการยอมรับอย่างตรงไปตรงมาของ ‘ปีใหม่’ สิงห์ความเร็ววัย 19 ปี ที่ใช้ชีวิตบนท้องถนนมาไม่ต่ำกว่า 4 ปี เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ธรรมชาติของผู้หลงไหลในความเร็ว เป็นปกติสามัญที่จะต้องมีการปรับแต่งเครื่องยนต์ ให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันการมีรถจักรยานยนต์เป็นของตัวเอง เปรียบเสมือนการเติมเต็มความฝัน ที่สภาพแวดล้อมของพวกเขาจะเอื้ออำนวย

สอดคล้องกับ ‘น้ำปั่น’ เด็กแว้นรุ่นพี่ ที่ขยายถึงภูมิหลังทางครอบครัวได้อย่างเห็นภาพ ลำพังแค่หาเงินมาจุนเจือคนในบ้านก็ลำบากแล้ว การจะมีงานอดิเรกที่ใช้ต้นทุนสูง อย่างการรวมตัวเพื่อนๆ ไปทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างการเข้าคอร์สเรียนดนตรี หรือเช่าสนามฟุตบอลเพื่อเล่นกีฬา เป็นเรื่องห่างไกลตัว แต่การซื้อรถมอเตอร์ไซต์ (น้ำปั่นพูดในเชิงขบขันว่า ‘รถแม่บ้าน’) ก็สามารถใช้หารายได้เสริม หรือใช้ขับขี่เอาสนุกได้ แม้บางขณะจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายก็ตาม

เด็กแว้น 1.jpg

“ต้นทุนชีวิตพวกผมไม่ได้เยอะ การมีมอเตอร์ไซต์สักคัน ก็เหมือนๆ กับการที่เด็กๆ อยากได้รถจักรยาน แต่วัยเยาว์ของพวกผมอย่าว่าแต่รถจักรยานเลย แค่มีเงินซื้อขนมก็นับว่าดีใจแล้ว การมาขับรถของพวกผมมันก็เป็นกิจกรรมหนึ่ง ไม่ใช่ไม่รู้ว่ามันสร้างความรำคาญให้กับผู้คน อีกนัยมันก็ผิดกฎหมายหลายข้อด้วย แต่ผมไม่มีทางเลือก จะให้เข้าไปขับในสนามแข่งรถเอกชน พวกผมก็ไม่มีเงินมากพอ”

น้ำปั่น กล่าว

‘สิงห์นักบิด’ นักกิจกรรมฉายภาพ ‘ชนชั้น’

‘รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ’ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สังเคราะห์พฤติกรรมของเด็กแว้นผ่านงานวิชาการของ ‘ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข’ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เผยแพร่ในปี 2551 ความน่าสนใจของรายงานชิ้นนี้ คือ ‘การศึกษาเรื่องเด็กแว้น’ ซึ่งมีความสอดคล้องกับเรื่อง 'วัฒนธรรมวัยรุ่น' ด้วย

“จริงๆ วัยรุ่นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การต่อต้าน การทำเรื่องนอกกรอบ และการแสวงหาอัตลักษณ์ของตัวเอง หากมองในมุมสังคมวิทยาการบิดมอเตอร์ไซต์ อาจไม่ใช่แค่การสร้างความบันเทิงเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือของวัยรุ่นในสังคมหลายแห่ง ได้ใช้ในการเปิดประตูสู่โลกกว้าง เด็กเมืองหลวงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี อาจไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซต์ แต่ต่างจังหวัดหรือคนที่มีฐานะยากจน เขามีความจำเป็นที่จะต้องใช้มัน คล้ายๆ กับการอวดความร่ำรวยผ่านมือถือนั่นแหละ” เก่งกิจ อธิบาย 

ดังนั้น หากจะมองภาพเด็กแว้น อาจต้องมองในมิติที่ซ้อนทับ ทั้งเรื่อง ‘ช่วงวัย’ และ ‘สถานะทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ เก่งกิจ เสนอแนะให้ทำความเข้าใจ ว่าทุกคนเคยผ่านชีวิตวัยรุ่น เคยมีความคิดต่อต้านสังคม หรือระบบปกครองกันอยู่แล้ว ทว่าการแสดงออกของเด็กแว้น มักถูกสื่อในมุม ‘นักป่วนเมือง’ ตามสายตาของกลุ่มคนที่มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่า โดยเฉพาะจากกลุ่มชนชั้นกลาง และชนชั้นนำ 

เก่งกิจ อธิบายว่า มันเรื่องนี้มันคาบเกี่ยวกับเรื่องของ ‘ชนชั้นทางสังคม’ และ ‘รสนิยมส่วนตัว’ อาทิ คนที่ไม่นับถือศาสนา มักรำคาญเสียงการประกอบพิธีกรรม ที่ดังมาจากศาสนสถาน เด็กแว้นก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน แต่อาจจะถูกมองอย่างกดขี่มากหน่อย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในชนชั้นที่มีปากเสียง สะท้อนได้จากถนนสาธารณะของประเทศไทย ถูกควบคุมโดยรัฐ ที่ออกแบบให้เกิดความเรียบร้อย หากมีเสียงดังต้องอยู่ในระดับ ที่รัฐและผู้คนส่วนมากยอมรับได้ มันจึงฉายภาพการออกแบบพื้นที่สาธารณะ ถูกผูกขาดด้วยคนจำนวนหนึ่ง

“เด็กแว้นก็ขับรถเสียงดัง แต่กลับกันเวลามีการจัดงานคอนเสิร์ต หรือปิดงานวิ่งมาราธอน ในที่สาธารณะมันก็ดังและสร้างอุปสรรคให้กับคนใช้ถนนเหมือนกันไม่ใช่หรือ แต่มันเป็นเรื่องที่คนหมู่หนึ่งยอมรับได้ มันจึงสะท้อนภาพการผูกขาดของคนจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีทรัพยากรทางเศรษฐกิจสูง อย่างถนนก็ไม่ได้ถูกออกแบบให้มอเตอร์ไซต์หรือรถจักรยานด้วยซ้ำ แต่มันถูกสร้างมาเพื่อรถยนต์วิ่ง เราจึงรู้เลยว่าถนนเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีอคติ และรองรับคนบางชนชั้นเท่านั้น เด็กแว้นจึงต้องใช้ช่วงกลางคืนในการแข่งรถ มันกำลังฉายภาพการช่วงชิงการใช้ถนน เพราะเขาไม่สามารถใช้ทรัพยากรส่วนกลางได้อย่างเต็มที่ในช่วงกลางวัน”

เก่งกิจ กล่าว

เด็กแว้น 2.jpg

อนึง กรณีของเด็กแว้น อาจเป็นรูปแบบหนึ่งที่สะท้อนภาพของ ‘เด็กวัยรุ่นชนชั้นล่าง’ ที่ไม่มีพื้นที่สาธารณะให้พวกเขาได้แสดงตัวตนในสังคม (จริงๆ)

ความอันตราย อาจเป็นทางเลือกเดียว ที่ ‘เด็กแว้น’ จะพิสูจน์ตัวเอง

เสียงบังโคนและตัวถังรถมอเตอร์ไซต์กระทบกับพื้นคอนกรีตดัง ‘โครม’ ในช่วงจังหวะที่ผู้เขียน ชวนเด็กวัยรุ่นสนทนาถึงภาวะความเสี่ยงของกิจกรรมพอดิบพอดี

เด็กแว้น 3.jpg

“ไอ้xxx กูว่าแล้ว พี่เขายังถามไม่ทันจบประโยค พวกมึงก็ล้มกันซะแล้ว”

‘พีพี’ รีบร้องทักอย่างตกใจ ก่อนจะเดินปรี่ออกวงสัมภาษณ์ไปยังจุดเกิดเหตุ โชคดีที่เพื่อนของเขาไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรมาก มีเพียงแผลถลอกที่เกิดขึ้นบริเวณข้อศอกและหัวเข่า เด็กหนุ่มวัย 18 ปี คลายความกังวล ก่อนจะหย่อนก้นลงริมฟุตปาธ ด้วยสีหน้าครึ่งยิ้มครึ่งสลด 

เขายอมรับกับผู้เขียนตรงๆ ว่า เด็กแว้นทุกคนล้วนต้องเคยประสบอุบัติเหตุในลักษณะนี้ ตัวเขาเองก็เช่นกัน บางคนอาจลุกขึ้นมาพร้อมเสียงหัวเราะที่รอดจากความตาย แต่บางคนอาจนอนแน่นิ่งไปพร้อมๆ กับเสียงของรถกู้ภัยที่จะมาในอีกไม่ช้า

นี่จึงเป็นสาเหตุให้เขา เริ่มหวาดกลัวต่อการขับมอเตอร์ไซต์ผาดโผน การร่วมกลุ่มในช่วงกลางคืนส่วนใหญ่ จึงเป็นแค่การพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง มากกว่าการ ‘โชว์กายกรรม’

“ไม่มีใครอยากล้อเล่นกับความตายครับ แต่ทำไงได้พวกผมมีกำลังในการสร้างความสนุกแค่นี้ เอาจริงๆ มันไม่ใช่แค่เด็กแว้นหรอกที่สร้างความเดือดร้อน แต่ลูกหลานคนรวยบางคน ขับรถหรูไปชนคนตาย เขายังรอดลอยนวลเลย ลองตัดภาพมาที่พวกผม หากไปชนคนตายบ้างก็คงติดคุกหัวโต เพราะจะเอาเงินที่ไหนสู้คดี”

การที่ได้มานั่งพูดคุยกับกลุ่มวัยรุ่น ทำให้ได้เห็นภาพเป็นจริงเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ผ่านรถมอเตอร์ไซต์คู่ใจของพวกเขา พีพี ชี้ไปที่รถจักรยานยนต์ ก่อนจะอธิบายถึงเหตุผลในการแต่งรถ ว่าการที่สังคมวิจารณ์ ส่วนประกอบที่แต่งเติมต่างๆ ว่า ‘เสี่ยว’ นั้น มันมาจากของต้นทุนราคาถูก ที่พวกเขาพอจะนำค่าแรงเสริมสมรรถนะให้กับสองล้อคู่ใจ ได้วิ่งด้วยความเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนล้อ ถังรถ หรือแม้แต่กระจกมองข้างที่จำเป็นต้อง ‘ถอด’ เพื่อลดน้ำหนักและไม่ให้ต้านแรงลม

“พวกผมมีปัญญาจะซื้อมอเตอร์ไซต์ได้แค่นี้ ทำได้แค่โมเครื่องกับถอดอุปกรณ์ไม่จำเป็นออกไปแค่นั้น ผมไม่ได้มีบิ๊กไบท์ที่มีทั้งความเร็วและความสวยงามแบบคนอื่น ถ้ามีแบบนั้นผมก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรกับรถเลยด้วยซ้ำ อีกอย่างการแต่งรถแบบเด็กแว้น มันก็เป็นการโชว์อัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของเราเองด้วย ใครจะมาหาว่าผมเสี่ยว ผมก็จะอธิบายให้เขาเห็นภาพเช่นนี้”

ปีใหม่ กล่าวเสริม

‘วัฒนธรรมเด็กแว้น’ ที่ถูกมองข้าม

“เวลาเราพูดถึงเด็กแว้น จริงๆ มันมีพลวัตรนะ อย่างเช่นกลุ่มน้ำไม่อาบ การรวมตัวนับหมื่นๆ คน กับรถมอเตอร์ไซต์กว่า 6,000 คัน มันคืออีเวนต์ ไม่ใช่งานแข่งรถกเฬวราก แต่มันคือมหกรรมที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดจุดเช็กพ้อยเพื่อถ่ายรูป คล้ายๆ กับการจัดงานวิ่งมาราธอน นี่มันไม่ใช่การรวมตัวกันอย่างคึกคะนอง - หนีพ่อแม่ไปแข่งรถ ซึ่งผมเชื่อว่ามีส่วนสัมพันธ์มาจากวัฒนธรรมวัยรุ่นของเด็กแว้น ที่ต่อยอดมาจนเกิดงานแบบนี้”

อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา อธิบายความเป็นพลวัตรจากวัฒนธรรมวัยรุ่น (เด็กแว้น) ผ่านการสังเคราะห์ปรากฏการณ์ ‘ทริปน้ำไม่อาบ’ โดยเขาเชื่อว่า แม้กลุ่มที่ทำกิจกรรมอาจไม่ได้นิยามตัวตนว่าเป็นเด็กแว้น แต่คิดว่าวัฒนธรรมของกลุ่มดังกล่าว เป็นการหยิบยืมวัฒนธรรมของเด็กแว้น หรือเติบโตมาจากกิจกรรมขับมอเตอร์ไซต์ พวกเขาไม่ได้ทำกิจกรรมในลักษณะของการ ‘ปั่นป่วนสังคม’ แต่เป็นการจัดการท่องเที่ยวลักษณะกลุ่มใหญ่

เด็กแว้น 4.jpg

“ผมคิดว่ากรณีนี้มันทำให้เราเห็นพลวัตรของวัฒนธรรมเด็กแว้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องตลาดล่าง แต่ถูกยกระดับให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ แม้จะมีอายุหรือสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น พวกเขาไม่ได้ป่วนสังคม แต่พวกเขาแค่ใช้ชีวิต เหมือนๆ การไปดูคอนเสิร์ตของคนชนชั้นกลางทั่วไป”

เก่งกิจ กล่าวทิ้งท้าย

เก่งกิจ อธิบายอีกมุมหนึ่ง ว่าสังคมมักจะเลือกวิจารณ์ในมุมที่ตัวเองไม่ชอบ อย่างหลายครั้ง กิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มที่มีทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ก็มักส่งผลกระทบและสร้างความปั่นป่วนสังคมไม่ต่างกัน แต่คนมักเลือกโฟกัสความผิดพลาดของกลุ่มคนที่มีฐานรากทางเศรษฐกิจต่ำ อย่าง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ในระหว่างการทำกิจกรรมของทริปน้ำไม่อาบ มันเกิดจากการเดินทางไปเป็นแบบคาราวาน (รถมอเตอร์ไซต์ 6,000 คัน) ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องดี แต่คนในสังคมมักพูดในเชิงอคติ

ทั้งนี้ สังคมควรร่วมกันตั้งคำถามว่า 'ทำไมผู้คนถึงมีวัฒนธรรมแบบนี้' และสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องถอดเรื่องราว และขยายผลต่อเพื่อ 'ลดช่องว่างทางสังคม' ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตราการเฉพาะหน้า (ซึ่งมีอยู่แล้วในรูปแบบของกฎหมาย) แต่เรื่อง 'ความเหลื่อมล้ำ' คือประเด็นใหญ่ หากมีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ย่อมทำให้สังคมไม่ติดว่าจะคอยแต่ลงโทษคนอื่น (ชนชั้นล่าง) อย่างไร...

เด็กแว้น 11.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์