ปี 2567 เป็นอีกปีที่เรื่องราวของการฉ้อโกงและแชร์ลูกโซ่ ยังคงตามหลอกหลอนสังคมไทย ดิไอคอน กรุ๊ป (The iCON GROUP) หนึ่งในมหากาพย์คดีดังที่สะเทือนวงการธุรกิจเครือข่าย บทเรียนราคาแพงของ กลลวงที่แฝงมากับความโลภและความหวัง
จุดเริ่มต้นของกระแส :
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 67 ดิไอคอน กรุ๊ป เริ่มกลายเป็นที่สนใจของสังคม หลัง กรรชัย กำเนิดพลอย ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 ออกมาเปิดเผยในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ว่า มีบริษัทขายตรงชื่อดังแห่งหนึ่ง ใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และชักชวนให้คนมาร่วมลงทุน แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้
นำมาสู่การขุดคุ้ยข้อมูลบนโลกโซเชียล จนกลายเป็นกระแสร้อนแรง ขณะที่ผู้เสียหายจำนวนหนึ่งเริ่มออกมาโพสต์บอกใบ้ด้วยการติดแฮชแท็ก #ขยันผิดที่10ปีก็ไม่รวย ซึ่งเป็นวลีเด็ดของ บอสพอล วรัตน์พล วรัทย์วรกุล บอสใหญ่แห่ง ดิไอคอน กรุ๊ป

การดำเนินการทางกฎหมายและคำชี้แจง :
ต่อมาวันที่ 9 ต.ค. 67 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.ท.อัครเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานตรวจสอบเครือข่ายธุรกิจดังกล่าว พร้อมแย้มว่าอาจมีดาราถูกดำเนินคดีด้วย แต่ยังไม่ฟันธงว่าเข้าข่ายฉ้อโกง
ขณะที่ บอสพอล โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจง ยืนยันไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่หนี พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ด้าน บอสแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนของบริษัท และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การขาย เป็นเพียงพรีเซนเตอร์ พร้อมเรียกร้องให้ผู้บริหารดิไอคอนออกมาชี้แจง ย้ำว่าไม่รู้มาก่อนว่ามีผู้เสียหาย
ผู้เสียหายจากเครือข่ายดิไอคอนจำนวนหนึ่ง เข้าร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบแผนการดำเนินธุรกิจของดิไอคอน

11 ต.ค. 67 ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด พาผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ในความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ (แชร์ลูกโซ่) และข้อหาฟอกเงิน โดยเบื้องต้นมีผู้เสียหายประมาณ 90 คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 30 ล้านบาท
ด้าน บอสมิน พีชญา วัฒนามนตรี แถลงข่าวชี้แจง ยืนยันเป็นเพียงพรีเซนเตอร์ ไม่ใช่ผู้บริหาร และขอยุติสัญญากับดิไอคอน พร้อมเตรียมรวบรวมหลักฐานนำไปมอบให้กับตำรวจเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ย้ำว่าไม่รู้มาก่อนว่ามีผู้เสียหาย

ขณะที่ บอย ปกรณ์ หนึ่งในนักแสดงที่เป็นพรีเซนเตอร์ ออกรายการโหนกระแส และชี้แจงว่าเป็นเพียงพรีเซนเตอร์สินค้าเท่านั้น และไม่มีรู้ว่ามีผู้เสียหายมาก่อน พร้อมยอมรับผิดที่มีส่วนทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน
12 ต.ค. 67 บอสพอล เข้าพบตำรวจสอบสวนกลาง หลังมีข่าวตำรวจเตรียมออกหมายจับ พร้อมย้ำว่าการดำเนินธุรกิจของ ดิไอคอน กรุ๊ป ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ บอสกันต์ กันต์ กันตถาวร แถลงชี้แจง ยืนยันเป็นเพียงลูกจ้างของดิไอคอนเท่านั้น โดยทำหน้าที่เป็นพิธีกรและพีอาร์สินค้า ไม่ได้เป็นผู้บริหาร และขอยุติสัญญากับดิไอคอน ย้ำว่าไม่รู้มาก่อนว่ามีผู้เสียหาย
14 ต.ค. 67 บอย ปกรณ์ พาผู้เสียหายประมาณ 40 ที่ร่วมเครือข่ายธุรกิจดิไอคอน เข้าร้องทุกข์กับตำรวจสอบสวนกลางเพิ่มเติม
โซเชียลเริ่มเผยแพร่ โพสต์คลิปเสียงการพูดคุยระหว่างบอสพอลกับนักการเมืองคนหนึ่ง ในทำนองเรียกรับเงินเพื่อเคลียร์คดี โดยบอสพอลยอมรับว่าเป็นเสียงตัวเองจริง

บอสพอล ออกรายการโหนกระแสร่ำไห้บอกไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีผู้ลงทุนได้รับผลเสียหาย ตัดพ้อไม่รู้ตัวเองสู้อยู่กับอะไร ยันไม่ใช่แชร์ลูกลูกโซ่ แต่พร้อมชดใช้จนตาย พร้อมชี้แจงว่าจ้าง บอย ปกรณ์ เป็นพรีเซนเตอร์สินค้าตัวเดียว จ่ายค่าจ้างเป็นรายปี ส่วน 3 บอสดารา เป็นสัญญา 5 ปี จ้างเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าทุกตัว โดยจ่ายค่าตอบแทนแบ่งเป็นรายเดือนตามยอดขาย แต่ทั้งแซมและมินจะได้น้อยกว่ากันต์
ด้าน สามารถ เจนชัยจิตวนิช รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในขณะนั้น ยืนยันว่าคลิปเสียงนักการเมือง ที่พูดคุยกับบอสพอล ไม่ใช่เสียงของตัวเอง
15 ต.ค. 67 ทนายดังแท็กทีมพาผู้เสียหายกว่า 100 ราย แจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อขอให้เอาผิดผู้บริหารดิไอคอนทุกคน ในข้อหาแชร์ลูกโซ่ , ฉ้อโกงประชาชน , พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดฐานฟอกเงิน


16 ต.ค. 67 สคบ.เรียก บอสพอล ไปชี้แจงเรื่องธุรกิจดิไอคอนในช่วงเช้า แต่บอสพอลส่งทนายมาขอเลื่อนขอเข้าพบเป็นช่วงบ่าย ต่อมาตำรวจสอบสวนกลางได้นำหมายจับมาแสดงต่อหน้าบอสพอลที่ สคบ. เพื่อทำการจับกุม
ขณะเดียวกัน ตำรวจสอบสวนกลางอีกชุด เริ่มปฏิบัติการ หนุมานถล่มกรุง ดิ ไอคอน รวบกลางวงเทวดา โดยเข้าจับกุม บอสดิไอคอนคนอื่นๆ รวมทั้งหมด 18 คน ก่อนนำตัวมาสอบปากคำที่สอบสวนกลาง ด้าน ดีเอสไอ ลงพื้นที่อายัดทรัพย์สินของดิไอคอนในพื้นที่ จ.ปทุมฯ
17 ต.ค. 67 ผู้เสียหายจากเครือข่ายธุรกิจดิไอคอนหลายร้อยคน ทยอยเข้าแจ้งความที่สอบสวนกลาง ขณะที่ช่วงบ่ายตำรวจคุมตัว 17 บอส ไปฝากขังต่อศาลอาญา ส่วนบอสพอล ที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ ถูกนำตัวส่งศาลฝากขังในวันที่ 18 ต.ค. โดยตำรวจคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาหมด

ทั้งนี้ แม้ 3 บอสดาราจะยื่นขอประกันตัวในชั้นศาล แต่ศาลคัดค้านการประกัน โดยผู้ต้องหาหญิงถูกนำตัวไปฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนผู้ต้องหาชายถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
หลังจากนั้น ตำรวจสอบสวนกลาง ได้ส่งมอบสำนวนคดีดิไอคอนให้ ดีเอสไอ รับไปดำเนินการต่อ เนื่องจากเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ในวันที่ 29 ต.ค.
กระทั้ง วันที่ 23 ธ.ค. ดีเอสไอ ได้ส่งมอบสำนวนคดีดิไอคอนให้อัยการคดีพิเศษ โดยดีเอสไอ เห็นควรสั่งฟ้อง 18 บอส และ 1 นิติบุคคล ใน 4 ข้อหา คือ ฉ้อโกงประชาชน ,ข้อหาแชร์ลูกโซ่ (พ.ร.ก. กู้ยืมเงินเพื่อการฉ้อโกงประชาชน) , พ.ร.บ.ขายตรงฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แย้มหลังปีใหม่อาจมีการอายัดทรัพย์ และออกหมายจับผู้ต้องหาดิไอคอนเพิ่มเติม


ด้าน นาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษจะนัดฟังคำสั่งภายในวันที่ 8 ม.ค. 68 พร้อมขอให้มั่นใจว่าอัยการสำนักงานคดีพิเศษจะเร่งทำสำนวนคดีนี้รอบคอบและทันกรอบเวลา (เหลือฝากขังอีก 1 ฝาก ไม่เกิน 20 วัน)
ทั้งนี้ ระหว่างที่ ดีเอสไอ ดำเนินการสอบสวนคดีหลักของดิไอคอน ในส่วนของตำรวจสอบสวนกลาง ได้มีการขยายผลเอาผิดกับนักร้องเรียนที่ตบทรัพย์บอสดิไอคอน และสามารถ ในข้อหาฟอกเงิน ปมพัวพันกับเงินของบอสดิไอคอน
อีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ คลิปเสียงเทวดา สคบ. ที่มีประเด็นเกี่ยวกับการติดสินบนเจ้าหน้าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับดิไอคอน ล่าสุด จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า คดีนี้ไม่เงียบ และตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องกว่า 10 คน จึงต้องใช้เวลานิด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


เบื้องหลังและโมเดลธุรกิจ :
ดิไอคอน กรุ๊ป เป็น บริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายปลีกผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีผลิตภัณฑ์หลักเป็นกลุ่มอาหารเสริมและเครื่องสำอาง เช่น Boom Collagen ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงปีแรกๆ ของการดำเนินธุรกิจ
จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ในช่วง 5 ปีแรก ดิไอคอน กรุ๊ป มีรายได้รวมทั้งหมดมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยรายได้เกือบครึ่งหนึ่ง เป็นรายได้จากปี 2564 เพียงปีเดียว
โดย บริษัท ใช้กลยุทธ์ในการจำหน่ายสินค้าหลายประการ เช่น จำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายโดยที่ไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้เอง และเปิดสอนการขายออนไลน์ให้แก่ตัวแทนจำหน่ายและผู้ที่สนใจ มีการนำ ศิลปิน นักแสดง และบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าในเครือ และสร้างภาพลักษณ์การใช้ชีวิตที่หรูหรา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ


บทเรียนของโลภและความหวัง :
กรณีของ ดิ ไอคอน กรุ๊ป ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนถึงอันตรายของกลลวงที่แฝงมากับความโลภและความหวัง และเปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนความเปราะบางในจิตใจมนุษย์ ความหวังที่อยากมีชีวิตดีขึ้น ถูกหลอกล่อด้วยค่าแทนที่สูงเกินจริง จนลืมไปว่า ความสำเร็จในช่วงแรก ไม่ได้การันตีว่าจะสำเร็จตลอดไป
"การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดี ก่อนตัดสินใจลงทุน"
