เชื่อว่าหลายคน มีภาพจำกับ ‘เหตุแผ่นดินไหว’ ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาหลายภาพจำ อาจเป็นประสบการณ์ชีวิต ที่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนอย่างชัดเจนครั้งแรก หรือปรากฏการณ์ด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นจังหวะต่อเนื่อง ในลักษณะต่างกรรมต่างวาระ
แต่เชื่อว่าไม่มีใครไม่ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘ตึก สตง.’ และชะตากรรมของคนงานนับร้อยชีวิตที่ติดอยู่ใน ‘ซากตึกถล่ม’ จวบจนเวลาผ่านล่วงเลยมาได้นับเดือน มียอดสรุปตัวเลขล่าสุด พบซากผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 88 คน และยังอยู่ในระหว่างค้นหาอีก 12 คน
ในส่วนการกู้ร่าง ยังคงเป็นภารกิจของเจ้าหน้าที่หน้างาน ทำกันอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับคำตอบที่ยืนยัน ‘ความโปร่งใส’ จาก ‘สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน’ ก็ยังไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่เริ่มมีการตั้งคำถาม และตรวจสอบแล้ว พบพิรุธหลายประการ จนหลายคนมองว่าไร้วี่แววที่หน่วยงานระดับชาติอย่าง ‘สตง.’ จะต้องรับผิดชอบกับมูลค่าความเสียหาย ต่อชีวิตและทรัพย์สินที่ถูกสังเวยไป
การเคลื่อนไหวในมิติต่างๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการ ‘ลงโทษคนผิด’ มีให้เห็นออกมาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นจากปากรัฐบาล หรือจากการตรวจสอบโดยกระบวนการรัฐสภา กระนั้น ยังมีอีกหลายแนวทางที่ผู้คนพยายามจะกระทุ้งเรียกร้องคืนความยุติกรรม ให้กับความเสียหายทั้งหมด
‘อนุสรณ์สถานแห่งความน่าละอาย’
“เหตุตึก สตง. ถล่มถือเป็นเรื่องใหญ่ มันไม่ควรเกิดขึ้นเลย แล้วยิ่งหน่วยงานถูกครหาเรื่องความโปร่งใส และมีทีท่าจะลอยนวลไปดื้อๆ ผมจึงได้เสนอไอเดียการสร้าง ‘อนุสรณ์สถาน’ ขึ้นมา เพื่อรำลึกและสร้างความตระหนักให้กับผู้คนและรัฐ ให้คำนึงถึงความซื่อตรงในการบริหารโครงการ และเกิดความละอายใจ ในสิ่งที่ไม่โปร่งใส”
เป็นมุมมองของ ‘ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ’ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เสนอแนวคิดในการสร้าง ‘อนุสรณ์สถานแห่งความน่าละอายของรัฐราชการไทย’ ณ ตำแหน่ง สตง. Ground Zero เพื่อเป็นการสะท้อนภาพความล้มเหลว ที่มีต่อระบบรัฐราชการของไทย ในการทุจริต บริหารงานอย่างไม่เป็นธรรม ต่อการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งคอนเซ็ปต์ดังกล่าว ไม่ได้อ้างอิงเพียงแค่ปรากฏการณ์ ‘ตึก สตง.’ เท่านั้น แต่อาจสะท้อนไปถึงภาพรวมหลายๆ โครงการที่ล้มเหลว อาทิ การก่อสร้างถนนพระราม 2 หรือ กรณีการใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชน ที่ไม่สมเหตุสมผล จากการฉ้อราษฎร์บังหลวง
แต่กรณี ‘ตึก สตง. ถล่ม’ เปรียบเหมือน ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่สังคมจะต้องลุกขึ้นเพื่อหยุดความล้มเหลว แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เกิดขึ้นจาก ‘ระบบรัฐราชการไทย’ ซึ่งที่ผ่านมามีอีกหลายโครงการที่ ‘คนผิดลอยนวล’ ทั้งๆ ที่หลักฐานเพียบพร้อม - กระแสสังคมตอบรับให้ลงทัณฑ์ โปรเจ็กต์ดังกล่าว จึงมีแนวคิดริเริ่มจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยระบบไทยๆ ที่ไร้สำนึกและความรับผิดชอบ
ความล้มเหลวของระบบรัฐราชการไทย
จากผลสำรวจดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ที่ใช้วัดความโปร่งใสของภาครัฐทั่วโลก ประจำปี 2567 ประเทศไทยได้คะแนนเพียง 34 คะแนน อยู่ในอันดับ 107 ของโลก และเป็นคะแนนที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี เป็นข้อมูลที่ ‘ชาตรี’ นำมาสะท้อนภาพความล้มเหลวของระบบรัฐราชการไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อการจัดการด้านต่างๆ ของประเทศมาอย่างยาวนาน เขาเชื่อว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทย ยังเป็นประเทศที่เกิดการทุจริตคอรัปชันอย่างต่อเนื่อง คือ ‘ไร้ความรับผิดชอบ’ และ ‘ไม่รู้สึกละอายในสิ่งที่ทำ’ ทุกอย่างเริ่มตั้งแต่ ‘หลังม่าน’ การจัดการความรู้สึกกับผลประโยชน์อันยั่วยวน สู่ ‘หน้าฉาก’ ที่ถูกจับได้ว่าทุจริต
ตัวอย่างที่ยกมาสอดคล้องกับแนวคิดของ ‘สมชาย ปรีชาศิลปกุล’ ที่เคยให้มุมมองว่า ‘ชนชั้นนำไทยหน้าด้านขึ้นเรื่อยๆ’ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมขาดความละอาย ทำให้ ‘ชนชั้นบริหาร’ หรือ ‘ผู้มีอำนาจ’ ไร้ยางอาย แม้จะถูกตีตราว่าคอรัปชัน แตกต่างกับหลายประเทศอารยที่เจริญแล้ว ซึ่งเมื่อถูกจับว่าไม่โปร่งได้จะ ‘ยอมรับ’ และ ‘ลาออกจากตำแหน่ง’ ไป
อันที่จริง ‘ความละอาย’ คือสิ่งสำคัญต่อกระบวนการการปกครอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติที่สำคัญของ ‘ความรักชาติ’ ตามนิยามของ ‘เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน’ (Benedict Anderson) นักวิชาการด้านการปกครองชื่อดัง ซึ่งเคยกล่าวไว้ในหนังสือ
“สังคมเราสอนแต่ให้รักชาติๆ จนล้น แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการรักชาติที่ถูกต้อง อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ความรู้สึกละอาย เมื่อชาติของตัวเองได้กระทำความผิดอะไรไป กระบวนการคิดแบบนี้ไม่ค่อยมีในบ้านเรา ผมจึงอยากจะสร้างอนุสรณ์แห่งความละอายแบบนี้ขึ้นมา เพื่อให้พวกเขา (ชนชั้นนำ) เกิดความละอายบ้าง”
— ชาตรี ยกมุมมองของ ‘เบเนดิกต์’ มาอธิบายเรื่องความละอาย ที่ชนชั้นนำไทยไม่มี
‘อนุสรณ์สถาน’ ต้องเป็นมากกว่า ‘สถานที่ไว้อาลัย’
แม้ที่ผ่านมา ‘สังคมไทย’ จะเคยผ่านความวุ่นวาย การสูญเสีย และการต่อสู้กับอำนาจ เพื่อความยุติธรรม - เรียกร้องประชาธิปไตย จากภาครัฐมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ในหลายๆ กรณี ‘อนุสรณ์สถาน - อนุเสาวรีย์’ กลับทำหน้าที่เป็นเพียงปฏิมากรรม ที่เจือปนด้วย อิฐ หิน ปูน ทราย ทำหน้าที่เพียงแค่ ‘รำลึกถึงการเสียชีวิต’ ของ ‘ผู้วายชนม์’ ในวันครบรอบเพียงอย่างเดียว ซึ่งหลายอย่างเกิดจากไวยากรณ์ทางสถาปัตยกรรม ที่ไม่ได้เกื้อหนุนให้เกิด ‘อารมณ์’ จนรู้สึกถึง ‘ความโกรธแค้นต่อความอยุติธรรม’
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยกตัวอย่าง ‘อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16’ และ ‘อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม’ ที่ถูกออกแบบโดยใช้หลักการสถาปัตยกรรม ไว้เพียง ‘รำลึกวีรชน’ แต่ไม่ได้สะท้อนภาพความโหดร้ายของการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธ ซึ่งในความเป็นจริง คือ ‘บทเรียน’ ราคาแพงที่สังคมต้องตระหนัก
‘ชาตรี’ นิยามการออกแบบเหล่านี้ว่า ‘เป็นวิถีคนพุทธ’ คือการสื่อในเชิงสถาปัตยกรรม ให้ออกมาในรูปของ ‘การปล่อยวาง’ และ ‘ความสามัคคี’ เพื่อ ‘ก้าวข้ามความบาดหมาง’ ที่เกิดขึ้น อย่างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ที่องค์ประกอบหลัก อันมีลักษณะคล้ายกับ ‘สถูปเจดีย์’ สื่อถึง ‘ความนิ่งสงบ’ แต่ไร้นัย ‘ความโกรธแค้นต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น’
สังคมจึงอาจไม่ได้ทราบถึงมุมคิด ที่จะต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น (โดยรัฐและทหาร) มากเท่าที่ควร ภาพการปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง จึงอาจไม่ได้กระทบกับจิตใจของผู้คนบางกลุ่ม หรือรัฐบาลบางรัฐบาลเลย แต่สำหรับโปรเจ็กต์ ‘อนุสรณ์แห่งความละอาย’ ที่หวังให้เกิดขึ้นตามทรรศนะของชาตรี จะถูกออกแบบในรูป ‘การบันทึก’ ความล้มเหลว และความโสมม ที่เกิดจากกระบวนการการก่อสร้าง ‘ตึก สตง.’ เป็นปฐม และพูดถึงความย้ำแย่ที่มีต่อหน่วยงานรัฐราชการในภาพกว้าง
การเปิดโปง ‘ความละอาย’ ต้องโปร่งใส และเปิดกว้าง
‘ชาตรี’ อธิบายภาพในหัวของเขา ที่มีต่อ ‘อนุสรณ์แห่งความละอาย’ ว่า จะต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ
- ‘อนุสรณ์สถาน’ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกสตง.ถล่ม
- ‘พิพิธภัณฑ์’ ที่พูดถึงโครงสร้างของรัฐราชการไทย และความผิดพลาดของระบบดังกล่าว ในอดีตที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อมูล งบประมาณ กรณีการสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สิน จากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ไม่โปร่งใส
- ‘พื้นที่สาธารณะ’ ซึ่งอาจหมายถึงสวน หรือลานอเนกประสงค์ ที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมสาธารณะ ซึ่งเกี่ยวข้องสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของ ‘อนุสรณ์สถาน’ แห่งนี้
โดยการออกแบบจะต้องสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ ‘การปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งความละอายใจ เน้นย้ำความรับผิดชอบ’ และ ‘ตราหน้าความอยุติธรรม’ ที่เกิดขึ้นจากการคอรัปชันโดยรัฐและราชการไทย หน้าที่ของมันคือ การทำให้ผู้คนรู้สึกสะเทือนใจ และโมโหต่อระบบที่เกิดขึ้น เพื่อส่งผลความรู้สึกนี้สู่วงกว้างต่อไป
ดังนั้น ในทุกๆ กระบวนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะต้อง ‘โปร่งใส’ และ ‘เปิดกว้าง’ และควรจะมี ‘แม่งาน’ เป็น ‘ผู้มีอำนาจ’ อาทิ รัฐบาล หรือสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ริเริ่มตั้งต้นโครงการ โดยซื้อพื้นที่จุดตึกถล่ม เพื่อให้เป็นสถานที่สาธารณะ ก่อนจะดำเนินการภายใต้คณะกรรมการ ที่มาจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องหลากหลาย และเข้าใจแนวคิด
ส่วนกระบวนการโดยรายละเอียด ชาตรี มองว่า จะต้องมีกำหนดทิศทางกว้างๆ - วางไอเดียหลักๆ ออกมา แล้วจัดเป็น ‘โครงการประกวดแบบสาธารณะ’ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ความคิดที่สดใหม่ และชัดเจน
“ถึงแม้จะเป็นการประกวดแบบ แต่สิ่งที่รัฐไทยทำที่ผ่านมา มักจะกำหนดเงื่อนไขเยอะและสูงมาก จึงจะมีแต่บริษัทรวยๆ ใหญ่ๆ เท่านั้น ทำให้ไอเดียไม่สดใหม่ ถ้าทำได้จริงจึงอยากเสนอว่า คณะกรรมการจะต้องเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาด้วย โดยให้ได้ทดลองใช้ไอเดียอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นค่อยเอาแนวคิดที่ชนะการประกวด ไปทำความร่วมมือกับบริษัทที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้าง เพื่อให้ไอเดียที่สดใหม่สามารถสร้างได้จริง”
— ชาตรี กล่าว
‘ชาตรี’ เชื่อว่าการออกแบบสถาปัตยกรรม ที่สร้างความสะเทือนใจ อาจไม่ใช่สิ่งที่คนไทยคุ้นเคยนัก เขายกตัวอนุสรณ์สถานในหลายๆ ประเทศ ที่ทำหน้าที่ ‘สะท้อนภาพความอยุติธรรม’ ไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ละทิ้ง ‘ภาพการรำลึกของผู้เสียชีวิต’
อาทิ ‘อนุสรณ์สถานแห่งชาติเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม’ (The National Memorial for Peace and Justice) ประเทศ สหรัฐอเมริกา ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงทาสอเมริกันผิวดำ ที่เคยถูกกดขี่ - รุมประชาทัณฑ์ โดยคอนเซ็ปต์อยู่บนพื้นฐาน ‘รำลึกความผิดพลาดของรัฐบาลอเมริกันในอดีต’ โดยมีการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนภาพความรุนแรงที่ไม่เป็นธรรมกับคนผิวสี ผ่านสัญญะต่างๆ ที่เกิดจากการรังสรรค์ของสถาปนิก หรือแม้แต่ ‘อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คิกาลี’ (Kigali Genocide Memorial) ประเทศรวันดา ที่ทำออกมาในรูปแบบสุสานขนาดใหญ่กว่า มีการบรรจุร่างผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 250,000 ศพ ที่มีทั้งนิทรรศการและภาพถ่าย ช่วยสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นอย่างโหดร้าย เป็นการต้องย้ำถึงความน่ากลัวของการเข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกัน
“แนวคิดของผมในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความละอาย มันไม่ใช่ว่าต้องการตอกย้ำความสูญเสีย หรือไม่มูฟออนจากเหตุการณ์สะเทือนใจ จากเหตุตึกสตง.ถล่ม แต่มันเป็นบาดแผลสำคัญ ที่สังคมจะต้องคอยขยี้ซ้ำ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก”
— ชาตรี กล่าวทิ้งท้าย