the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo00.jpg

Photo Story: ตำรวจรถไฟคนสุดท้าย แห่งสถานีนพวงศ์

18 ต.ค. 2566 - 09:54

  • เปิดใจ ‘ตำรวจรถไฟ’ คนสุดท้าย แห่งสถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ ผู้ที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปกป้องไม่ให้ตำรวจรถไฟถูกยุบ ที่สะท้อนปัญหาร้อยแปดที่จะเกิดขึ้นหากประเทศนี้ไร้ ‘ตำรวจรถไฟ’ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความมั่นคงของประเทศ

the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo00.jpg

“พี่เสียใจคนที่ยุบคือตำรวจ”

เป็นความรู้สึกอัดอั้นตันใจของนายตำรวจรถไฟคนสุดท้าย ที่ยังต้องนั่งเคลียร์เอกสารอยู่ภายในห้องทำงานเล็กๆ ที่อยู่ด้านในสุดของสถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ สภาพอาคารที่ร้างผู้คน ข้าวของในห้องต่างๆ ถูกขนย้ายออกไปเกือบหมดแล้ว ตามคำสั่งของ พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ที่ขีดเส้นตายสั่งยุบ ‘กองบังคับการตำรวจรถไฟ’ ไปเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา 

แม้สถานีตำรวจรถไฟแห่งนี้จะอยู่ในสภาพร้างผู้คน แต่ภายในยังมีห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง ที่ยังเปิดไฟอยู่ เสียงพูดคุยของคนในห้องดังเล็ดลอดออกมาจากช่องประตูที่ปิดไม่สนิท หนึ่งในเจ้าของเสียงนั้นคือ ‘ร.ต.ท.สมควร ปั้นกันอินทร์’ ที่กำลังตรวจดูเอกสารสำนวนคดีและงานธุรการต่างๆ เพื่อเตรียมขนย้ายไปเก็บที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เขาสังกัดอยู่เก็บรักษาต่อไป เพราะอาคารแห่งนี้จะต้องส่งมอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดูแลต่อ

the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo01.jpg

ทีมข่าวใช้เวลาพูดคุยกับ พี่สมควรถึงความรู้สึกหลังถูกยุบหน่วยงาน เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ตลอดเวลาที่เราได้พูดคุยกัน มีหลายครั้งที่สายตาของพี่สมควรคลอไปด้วยน้ำตา ที่พร้อมจะเอ่อล้นออกมา 

พี่สมควรยอมรับทั้งน้ำตาว่า เขายอมรับไม่ได้ที่ตำรวจรถไฟถูกยุบ เพราะตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เขาเริ่มเป็นตำรวจรถไฟ ก็มีความพยายามจากคนบางกลุ่ม ที่ต้องการยุบตำรวจรถไฟถึง 2 ครั้ง แต่เขาก็พยายามดิ้นรนสู้มาตลอด ส่งหนังสื่อชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เห็นว่าตำรวจรถไฟมีความสำคัญมากแค่ไหน จนสามารถทำให้ตำรวจรถไฟรอดจากการถูกยุบมาถึง 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้ความพยายามของเขาไม่เป็นผล และสิ่งที่เขารู้สึกเสียใจที่สุดคือคนที่ยุบตำรวจรถไฟ คือตำรวจด้วยกันที่เป็นคนทำ และอีกเรื่องที่เจ็บช้ำตอนนี้คือตำรวจถูกการรถไฟฯ ไล่ออกจากบ้านพัก

the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo02.jpg

ส่วนเหตุผลที่ตำรวจรถไฟถูกยุบ พี่สมควรมองว่าเป็นการทำเชิงสัญลักษณ์ ที่คนร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการทำให้เห็นว่ามีการปฎิรูปตำรวจแล้วเท่านั้น พร้อมมองว่าการยุบตำรวจรถไฟเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และยังส่งผลกระทบกับความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศในหลายๆ ด้าน 

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ที่ว่าด้วยการปฎิรูปประเทศในด้านต่างๆ ในด้านกระบวนการยุติธรรม ระบุไว้ว่า ให้โอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฎิบัติหน้าที่่และบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ ‘กองบังคับการตำรวจรถไฟ’ มีหน้าที่และภารกิจในการดูแลป้องกันและปราบปรามเหตุอาชญากรรม และบริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง 

โดยตำรวจรถไฟสามารถจับกุมยาเสพติดที่ลักลอบขนย้ายผ่านทางรถไฟมาหลายครั้ง บางล็อตจับยาบ้าได้ถึง 1 ล้านเม็ด แต่ไม่ค่อยได้เป็นข่าว อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่สามารถจับผู้ต้องหาตามหมายจับได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานทั้งหมด ยังไม่นับรวมคดีลักทรัพย์ คดีทะเลาะวิวาท และคดีฆ่ากันตายภายในขบวนรถไฟและสถานีรถไฟอีกหลายคดีที่อยู่ในความดูแล รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารในขบวนรถไฟที่ตำรวจรถไฟจะมีสถิติว่าขบวนไหนเสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายบ้าง

the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo03.jpg

นอกจากนี้ตำรวจรถไฟยังดูแลบริการผู้ที่ยากไร้ ไม่มีเงินขึ้นรถไฟกลับบ้านด้วยการทำเรื่องอนุเคราะห์ให้คนกลุ่มนี้ได้ขึ้นรถไฟฟรี 

ดังนั้นเมื่อผลงานเป็นที่ประจักษ์เช่นนี้ พี่สมควรจึงตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงต้องยุบตำรวจรถไฟ เพราะไหนจะปัญหาการลักลอบขนย้ายแรงงานเถื่อนในพื้นที่ชายแดน รวมถึงการดูแลความปลอดภัยในขบวนพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ตอนนี้ยังไม่มีมาตรการรองรับว่าใครจะมาดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำให้ตอนนี้ขบวนรถไฟที่เคยมีตำรวจดูแล กลายเป็นไร้เจ้าหน้าที่ แล้วความปลอดภัยของประชาชนอยู่ตรงไหน หากมีเรื่องเดือดร้อนจากเดิมที่แจ้งตำรวจรถไฟได้เลย ก็ต้องกลายเป็นไปแจ้งสถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุเเทน ซึ่งสร้างความลำบากให้กับประชาชนอีก

the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo04.jpg

อีกทั้งหาก ‘การรถไฟฯ’ ใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการจ้างเอกชนมาดูแลความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ และที่สถานี คำถามคือ อำนาจหน้าที่ทางกฎหมายสามารถจับกุม ตรวจค้น ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาได้หรือ?

ปัญหาอีกอย่างที่ตามมา คือ เมื่อยุบตำรวจรถไฟแล้ว แม้จะมีการโยนย้ายตำรวจรถไฟที่มีอยู่ กว่า 800 คน กลับไปอยู่ในสังกัด บช.ก. โดยกระจายไปอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งบางคนได้รับตำแหน่งที่ไม่ตรงตามต้องการที่ยื่นขอไปแต่แรก และหลายคนรู้สึกไม่สบายใจ และเลือกที่จะลาออกจากข้าราชการตำรวจ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่ไม่เคยได้รับการสอบถามผลกระทบมาก่อน

the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo05.jpg

ช่วงท้ายของการพูดคุย ทีมข่าวเหลือบไปเห็นชุดตำรวจรถไฟของพี่สมควร ที่ถูกแขวนอยู่หลังโต๊ะทำงานและได้ขอให้พี่สมควรลองสวมชุดนี้ให้ดูอีกครั้ง และได้ถามเชิงหยอกล้อว่าเป็นตำรวจรถไฟคนสุดท้ายที่ยังทำงานอยู่ โดยพี่สมควรยิ้มรับ ก่อนพูดด้วยน้ำเสียงสั่นในลำคอว่า “ผมภูมิใจนะ อยากอยู่ต่อ อยากเป็นแบบนี้ต่อ แค่นั้น.. ”

พี่สมควร ยังเชื่อมั่นสุดท้ายแล้วตำรวจรถไฟต้องได้กลับมาดูแลขบวนรถไฟอีก เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกต้อง และยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศด้วย “เมื่อถูกยุบด้วยกฎหมาย ต้องได้กลับมาเพราะกฎหมาย” โดยต่อจากนี้ พี่สมควรยืนยันว่าเขาจะยังสู้ต่อเพื่อให้วันนั้นมาถึงให้ได้ ย้ำว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพราะเขาเหลือเวลาอีก 2 ปี ก็จะเกษียณแล้ว แต่ที่ทำเป็นเพราะเชื่อว่าต้องมีหน่วยงานที่ดูแลประชาชนที่ใช้ขบวนรถไฟต่อไป

the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo06.jpg

เบื้องต้น พี่สมควรได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังพรรคเพื่อไทย ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานนายกรัฐมนตรี และเตรียมพิจารณาฟ้องเอาผิดสภาฯ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเอกสารที่เกี่ยวกับตำรวจรถไฟทั้งหมด ไม่เคยถูกส่งไปถึงมือสภาฯ เลย

the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo07.jpg
the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo08.jpg
the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo09.jpg
the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo10.jpg
the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo11.jpg
the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo12.jpg
the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo13.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์