‘ส่วยสติกเกอร์’ ลามแล้วกี่วงการ!

31 พ.ค. 2566 - 10:04

  • ชวนดูปรากฎการณ์ ‘ส่วยสติกเกอร์’ นอกจากส่วยรถบรรทุกแล้ว มีวงการไหนบ้างที่พัวพันกับสินบนลักษณะนี้

tribute-sticker-corruption-wiroj-lakkhanaadisorn-SPACEBAR-Hero
ประเด็น ‘ส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก’ ที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแฉก่อนหน้านี้ ล่าสุดพบว่า ‘ส่วยสติกเกอร์’ ไม่ได้มีแค่วงการรถบรรทุก และยังพบว่าพฤติกรรมนี้มีมานานหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง  

ทีมข่าว SPACEBAR ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างๆ ประกอบกับข้อมูลของวิโรจน์ พบว่าตอนนี้ ‘ส่วนสติกเกอร์’ ลามไปแล้วอย่างน้อย 4 วงการ  

เริ่มต้นที่ วงการขนส่งรถบรรทุก ชนวนแรกที่นำมาสู่การขยายผล จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เฉยไม่ได้ ต้องสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มาของส่วยลักษณะนี้ เกิดจากผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุก ต้องการลักลอบขนสิ่งของผิดกฎหมาย และบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด จึงทำให้เกิดการสมคบคิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฉวยโอกาสเรียกรับผลประโยชน์แลกผ่านด่านตรวจแบบฉลุย ซึ่งส่วยสติกเกอร์ที่พบมีทั้งรูปพระอาทิตย์ยิ้ม รูปผลไม้ รูปกระต่าย รูปแผนที่ประเทศไทย โดยจะมีตัวเลขเดือนกำกับอยู่ว่าสติกเกอร์ตัวนี้ เป็นงวดไหน ค่าส่วยเฉลี่ยอยู่ที่หลักพันถึงหลักแสน  

วงการต่อมา คือ ส่วยสติกเกอร์ลอตเตอรี ที่เมื่อลองค้นหาข่าวนี้ในเว็บไซต์จะพบว่ามันเริ่มปรากฎเป็นข่าว อย่างน้อย คือ ช่วงปี 64 โดย ข่าวสด ได้รายงานว่ามีชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดระยอง ร้องเรียนว่าพบผู้ค้าลอตเตอรีจำหน่ายสลากเกินราคา เมื่อไปตรวจสอบปรากฎว่า ผู้ค้าสลากยอมรับว่าที่กล้าขายเกินราคา เพราะจ่ายเงินซื้อสติกเกอร์ ราคา 500 บาท ต่อ 1 งวด ให้กับเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าเป็นตำรวจ เพื่อแลกกับการไม่ถูกจับข้อหาขายสลาแพงไปแล้ว และเมื่อไม่มีวันก่อน ช่อง 3 ได้รายงานข่าวว่าพบ ส่วยสติกเกอร์ลอตเตอรี แพร่ระบาดในพื้นที่ย่านรังสิตจริง ซึ่งส่วยสติกเกอร์ที่พบมักจะเป็นอักษรย่อของชื่อคน มีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษขึ้นอยู่กับแต่ละเจ้า โดยเก็บค่าส่วยเป็นงวด ในราคาหลักร้อย 

อีกวงการที่ไม่คาดคิด คือ รถตู้รับส่งนักเรียน เนื่องจากรถที่จะได้รับอนุญาตให้รับส่งนักเรียนได้ ต้องผ่านการตรวจสภาพกับกรมการขนส่งฯ และมีตรวจเช็กความปลอดภัยทั้งตัวคนขับ และรถให้ได้มาตรฐาน แต่ปรากฎว่ามีรถตู้รับส่งนักเรียนจำนวนไม่น้อย ไม่ขออนุญาต และผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบก เมื่อถูกตรวจสอบคนที่ไม่มีใบอนุญาตจะติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อเลี่ยงความผิด โดย เพจ Drama-addict เปิดเผยข้อมูลว่าคนขับรถรับส่งนักเรียนต้องจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่เดือนละ 200 บาท ส่วนสติกเกอร์ที่ใช้มีทั้งรูปปลาทอง รูปกระต่ายและสัญลักษณ์อื่นๆ  

วงการสุดท้ายที่อาจจะไม่ท้ายสุด คือ การลักลอบนำเข้าแรงงานต่างชาติ โดยนี้ประเด็นปรากฎเป็นข่าวตั้งแต่ ช่วงปี 2559 โดย สำนักข่าวมติชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 59 เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่จับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ย่านเยาวราช ก่อนพบแรงงานชายคนหนึ่งโชว์สติกเกอร์ ‘ลูกเต๋า’ อ้างเถ้าแก่สั่งให้โชว์ตำรวจแล้วจะรอด โดย ชัยทัต ณ นคร นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ในขณะนั้น เปิดเผยว่า สติกเกอร์ที่คนต่างด้าวนำมาแสดงแตกต่างกันไป ตามแต่ละพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่นั้น ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการไปตามข้อมูล 

ทั้ง 4 วงการจะเห็นว่าเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยปรากฎตามหน้าข่าวมาแล้วหลายครั้ง แม้ทุกครั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะแสดงท่าทีตรงกัน คือ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเราแทบไม่เคยเห็นบทสรุปที่ชัดเจนมากพอที่จะนำไปสู่การจับกุมผู้บงการที่อยู่เบื้องหลัง จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าใน ยุคสมัยที่พรรคก้าวไกล ที่มีความเป็นไปได้ในการเป็นรัฐบาลมากที่สุดในตอนนี้ และเป็นเจ้าของวลี ‘กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม’ จะสามารถเปลี่ยนแปลงปัญหาเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน และอุกกาบาต อย่างวิโรจน์ จะทลายพฤติกรรมอันโสมมเหล่านี้ได้หรือไม่ ถือเป็นสิ่งที่คงต้องรอดูกันต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์