ควันหลงการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อคัดเลือก ‘ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ คนใหม่ มีเรื่องให้ขบคิดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อสังเกตของสาธารณชน กรณีการก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง ‘ปทุมวัน 1’ ของ ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ด้วยมติ 9 ต่อ 2 เสียง
ทั้งที่ดูตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่ให้ยึดหลัก ‘อาวุโส’ และ ‘ผลงาน’ เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาแต่งตั้ง แต่สำหรับ ‘บิ๊กต่อ’ เรียกได้ว่า มีความอาวุโสอยู่รั้งท้าย และเมื่อ พ.ร.บ. ฉบับใหม่กำหนดให้การคำนวนคะแนนต้องแบ่งอย่างละครึ่ง (50 - 50) เป็นไปได้หรือที่อันดับที่ 4 จะมีโอกาส ‘ขึ้นลิฟต์’ แบบฟาสแทรคข้ามหัวเพื่อน
ยิ่งเปิดดูช่วงเวลาในการเลื่อนตำแหน่งตั้งแต่ผู้กำกับการ มาถึงเก้าอี้ ผบ.ตร. บิ๊กต่อใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น ขณะที่ 'บิ๊กรอย' ผู้ที่มีอันดับอาวุโสสูงที่สุด กลับใช้เวลารับราชการนานกว่า 21 ปี (จากตำแหน่งผู้กำกับการ มาจนถึงรอง ผบ.ตร.)
พอถอดความจากกระแสข่าวที่ได้รับมา ในช่วงการถกหารือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธาน ก.ตร. เป็นผู้เสนอชื่อ ‘รองฯ ต่อ’ ขึ้นเป็น ผบ.ตร คนที่ 14 แต่ดัน ‘งดออกเสียง’ ในที่ประชุม ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเกิดคำถามขึ้นมากมายว่า ‘นายกฯ ใช้เกณฑ์อะไรพิจารณา’ แล้วเหตุใดถึง ‘งดออกเสียง’ และที่หนักหนาที่คือการตั้งปุจฉาว่า ‘เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับใหม่) หรือไม่’
หนึ่งในผู้ที่ ‘ไม่เห็นด้วย’ จากผู้มีสิทธิ์โหวตทั้งหมด 12 คน อย่าง ‘พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์’ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าว ว่าการคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไม่เป็นหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะ พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 (ฉบับปฎิรูปตำรวจ) ที่ระบุเหตุไว้ชัดเจนว่า การแต่งตั้งต้องคำนึงถึงความอาวุโส และความรู้ความสามารถ ให้ความสำคัญของความอาวุโสในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในทุกระดับ
“ผมขอยืนยัน แสดงความคิดเห็นด้วยบริสุทธิ์ใจ ใช้วิจารณญาณและดุลพินิจ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด เพื่อประโยชน์ขององค์กรตำรวจและประเทศชาติบ้านเมือง และผมจะทำหน้าที่ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ ปกป้องศักดิ์ศรี ตำรวจดีของประชาชน ต่อไปครับ”
เชื่อว่าการออกมาโพสต์อธิบายแบบนี้ คงมีการถกเถียงกันภายในจริง ตามที่ผู้สื่อข่าวประจำ ตร. บอกเล่ากัน และดูเชื่อมโยงกับรายงานข่าวที่หลุดออกมา ก่อนจะมีการเคราะชื่อ ‘บิ๊กต่อ’
กระแสข่าวระบุว่า ‘นายกฯ นิด’ ได้มีการพูดคุยนอกรอบกับ ‘บิ๊กเด่น’ - พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีต ผบ.ตร. (คนล่าสุด) ภายในห้องรับรองศรียานนท์ แบบ 2 ต่อ 2 ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ในการจับเข่าคุยกัน
ก่อนจะมีกระแสข่าวหลุดมาอีกระลอก ว่า ที่ประชุม ก.ตร. มีมติเลื่อนการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14 ยาวออกไปอีกระยะหนึ่ง (ถึงเดือนตุลาคม) โดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้งให้ ‘พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์’ รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับที่ 1 รักษาการ ผบ.ตร. ขัดตาทัพไปพลาง ๆ ก่อน จนกว่าจะมีการคลี่คลายปมของ 'รองฯ โจ๊ก' - พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ถูกเตะตัดขาสายฟ้าแลบ จากการถูกโยงว่าเกี่ยวข้องทางการเงินกับเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ ทำให้อุณหภูมิภายใน สตช. ร้อนปรอทแทบแตก
แต่ยังไม่ทันที่น้ำแข็งในแก้วน้ำจะลายลายหายไป ก็มีข่าวเคาะชื่อ ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์’ ขึ้นบันลังก์ออกมาทันควัน จนนักข่าวต้องรีบอัปเดตกับกองบก.อย่างเร่งด่วน บางสำนักไม่ทันจะได้แก้กราฟฟิก เพราะลงข่าว 'บิ๊กรอย' ไปเรียบร้อยแล้ว
จาก ‘บิ๊กเอก’ สู่ ‘บิ๊กรอย’
นับได้ว่าชื่อของ ‘พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์’ ถูกพูดถึงอีกครั้ง จากการเป็น 1 เสียงที่สกัดกั้น ‘บิ๊กต่อ’ ไม่ให้ขึ้นเป็น ‘ผบ.ตร.’ คนที่ 14 ซึ่งหากลองย้อนกลับไปดูปูมหลัง ‘บิ๊กเอก’ ก็อยู่ในสถานะ ‘คนอกหัก’ ไม่ต่างอะไรกับ ‘พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์’ โดยเฉพาะการที่มีดีกรีเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่อาวุโสสูงสุด แต่กับต้องรับประทานแห้ว ชวดเก้าอี้ ‘เบอร์หนึ่งกรมปทุมวัน’ ไป 2 สมัยติด
สำหรับ ‘บิ๊กเอก’ แม้จะไม่ได้จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน แต่ในศึกช่วงชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. เมื่อปี 2558 ถือเป็นผู้มีอาวุโสที่สุด ในบรรดารอง ผบ.ตร. ทั้ง 5 คน (ณ ขณะนั้น)
แต่มีเหตุวิบากกรรมอย่างไรมิทราบได้ เมื่อถึงคราวการลงมติของ ‘คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ’ (ก.ต.ช.) พล.ต.อ.เอก ก็ไม่ได้ขึ้นเป็น ‘แม่ทัพกากี’ ตามโผที่สื่อมวลชนคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้น แต่กลับเป็น ‘บิ๊กแป๊ะ’ - พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร.ที่มีความอาวุโสน้อยที่สุด ขึ้นนั่งบันลังก์ไปแบบช่วงวินาทีสุดท้าย และทำให้บิ๊กเอก ผู้ช้ำใจ ต้องข้ามห้วยไปเป็น ‘ข้าราชการพลเรือน’ ในตำแหน่ง ‘ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี’ จนกระทั่งเกษียณราชการปี ในปีต่อมา
สถานการณ์ดูคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เพราะ ‘บิ๊กรอย' ก็มีอายุราชการเหลือเพียง 1 ปี และชวดเก้าอี้ไป 2 รอบติด เรื่องนี้เหมือนกันอย่างกับแกะ เพราะหากอ้างอิงตามกระแสข่าว ที่มีมาก่อนหน้านี้ว่า พล.ต.อ. รอย อาจถูกโยกย้ายไปเป็น ‘เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ’ เพื่อ ‘เปิดทาง’ ให้ ‘บิ๊กต่อ’ นั้งบัลลังก์แบบสะดวกโยธิน
นี่อาจเป็นเหตุผลของการออกมาแสดงท่าที ‘ไม่เห็นชอบ’ อย่างเปิด และอาจเป็นปฐมบทสู่การวิพากวิจารณ์แบบต่อเนื่อง บ้างถึงกับให้รอดูว่า อาจมีการฟ้องร้อง 'จากผู้แพ้' เกิดขึ้นด้วย ไม่รู้จะถึงขั้นนั้นจริงหรือไม่ หรือทั้งหมดจะเป็นเพียง ‘คลื่นกระทบฝั่ง’ ที่ระลอกแรกมักครึกโครมก่อนจะเงียบหายไปในที่สุด
แต่ที่แน่ ๆ ประเด็นการ ‘สกัดดาวรุ่ง’ คงไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะมีบางคนช้ำใจกว่า รอเวลา ‘เอาคืนอยู่’
กรมปทุมวัน เตรียมสร้างเขื่อนรับแรงกระแทกได้เลย…