ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นมา เหตุการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาลที่มีผู้ก่อเหตุเป็นตัวผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
อย่างเหตุการณ์ล่าสุด ที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในสังคมไทย คือกรณีญาติผู้ป่วยตบหน้าพยาบาลสาว ภายในโรงพยาบาลระยอง หลังไม่พอใจที่ถูกพยาบาลเตือนเรื่องการห้ามพาเด็กเข้าเยี่ยมผู้ป่วยในห้อง ICU ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้ป่วยในภาวะวิกฤต
แม้พยาบาลที่ถูกทำร้ายจะอธิบายว่า เธอจำเป็นต้องใช้น้ำเสียงที่ดังขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้พยาบาลคนอื่นได้เตือนญาติไปแล้ว แต่ญาติก็ยังคงพาเด็กเข้าไปเยี่ยม เธอจึงย้ำเตือนอีกครั้งด้วยน้ำเสียงดังกว่าปกติ เพื่อให้ญาติผู้ป่วยตระหนักถึงความเสี่ยงที่เด็กอาจได้รับจากการเข้าไปในห้อง ICU โดยเธอใช้คำพูดว่า
“คนไข้อาการไม่ดี ติดเชื้อลงปอด ขนาดคุณแม่เป็นผู้ใหญ่ติดเชื้ออาการยังหนัก ถ้าลูกติดเชื้อแล้วลงปอดไปด้วย ลูกอาการแย่ได้เลยนะ ญาติพร้อมจะสูญเสียทั้งสองคนไหม ถ้าไม่พร้อมจะสูญเสียใคร ก็ให้พาเด็กออกไป”
พยาบาลที่ถูกทำร้าย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโหนกระแส วันที่ 19 ก.พ. 68
คำเตือนที่หวังสร้างความตระหนักให้ญาติผู้ป่วย แต่อีกมุมหนึ่งในโซเชียลเราจะเห็นหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างกันไป แบ่งคร่าวๆ ได้ 4 กลุ่มคือ
- สนับสนุนพยาบาล – มองว่าพยาบาลทำถูกต้องแล้ว เพราะเมื่อพูดดีๆ แล้วไม่ฟังก็จำเป็นต้องดุ และสิ่งที่พยาบาลทำก็เพื่อให้เด็กปลอดภัย
- วิจารณ์คำพูดของพยาบาล – มองว่าคำพูดของพยาบาลไม่เหมาะสม รุนแรงเกินไป เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง
- เห็นด้วยกับการตอบโต้ของญาติ – มองว่าการที่พยาบาลถูกทำร้ายเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะใช้คำพูดไม่เหมาะสม และหากเป็นตัวเองก็คงทำแบบเดียวกัน
- วิเคราะห์เชิงโครงสร้าง – คนกลุ่มนี้ไม่ได้วิจารณ์ตัวพยาบาลหรือญาติเป็นหลัก แต่ตั้งคำถามถึงปัญหาเชิงระบบ แรงกดดันของบุคลากรทางการแพทย์ งานบริการ ไปจนถึงการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว บางคนตั้งคำถามว่า คนไทยเปราะบางเกินไปหรือไม่กับการรับฟังความจริงที่อาจกระทบจิตใจ

ประชาชนไม่เคารพยำเกรงต่อสถานพยาบาล เพราะมองว่าเป็นสถานที่สาธารณะมากกว่าหน่วยงานราชการ?
เหตุการณ์นี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนว่าความรุนแรงในสถานพยาบาลยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานที่ที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด กลับกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์รุนแรงและการคุกคามบุคลากรทางการแพทย์
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 คอลัมน์ ‘สกู๊ปหน้า 1’ ของไทยรัฐ เคยพูดถึงปัญหานี้โดยเฉพาะกรณีวัยรุ่นยกพวกบุกทำร้ายคู่อริที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ที่เริ่มพบเห็นได้บ่อยขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกไม่ปลอดภัย ต่อการทำงาน และกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บุคลากรทางแพทย์ลาออกเพิ่มขึ้น
ในตอนหนึ่งของบทความนี้ ผศ.พญ.จรินรัตน์ สิริรัฐวรรณ หน.หน่วยผ่าตัดประสาทหูเทียม รพ.ศูนย์การเเพทย์สมเด็จพระเทพฯ ในฐานะนักศึกษา ปธพ.10 สถาบันพระปกเกล้า หน.ทีมงานวิจัยฯ ระบุว่า สาเหตุปัญหามีอยู่ว่าประชาชนไม่เคารพยำเกรงต่อสถานพยาบาล เพราะมองเป็นสถานที่สาธารณะมากกว่าหน่วยงานราชการ สามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
ด้วยงานวิจัยจะสามารถสังเกตได้จากกรณี รพ.ตำรวจ หรือ รพ.ในเครือทหาร ที่มีการเปิดเสรีให้บริการ ประชาชนทั่วไปเช่นกัน ปรากฏว่า ไม่เคยมีเหตุทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาล เพราะด้วยประชาชนเกรงกลัวต่อสถานที่อย่างกรณี รพ.ในเครือทหาร มักจะมีสารวัตร ทหารแต่งชุดเครื่องแบบเดินดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชม.
เหตุการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาล มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
สถานการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ช่วงปี 2555 - 2562 มีเหตุการณ์ความรุนแรงในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเกิดขึ้นถึง 51 เหตุการณ์ และมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2558

ขณะที่ข้อมูลจาก หนังสือกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 แจ้งมาตรการรักษาความปลอดภัยในหน่วยบริการสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2560 - 2567 มีเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลและห้องฉุกเฉินถึง 99 เหตุการณ์ ประกอบด้วยเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายทรัพย์สิน ก่อความไม่สงบ กระโดดตึกและอื่นๆ โดยปี 2567 มีจำนวนเหตุรุนแรงมากที่สุด
โดย กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าเหตุการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุเจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายร่างกายขณะปฏิบัติงาน รวมทั้งทรัพย์สินของข้าราชการที่ได้รับความเสียหาย
ปัจจัยกระตุ้นความรุนแรง : สุรา ยาเสพติด อารมณ์ และการสื่อสาร
ข้อมูลและเหตุการณ์ข้างต้น ยังสอดคล้องกับงานวิจัย เรื่อง การสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในสถานพยาบาลที่ผู้รับบริการกระทำต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่หน่วยฉุกเฉินและหน่วยวิกฤต ของ ทิพวรรณ เรืองชูพงศ์ (พย.บ) โดยผลการวิจัยพบว่า ในช่วง 1 ปีของการเก็บข้อมูล พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์เผชิญกับความรุนแรงจากผู้รับบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความรุนแรงทางวาจา ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกว่าความรุนแรงทางกาย
สาเหตุหลักของเหตุการณ์เหล่านี้ มักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของผู้รับบริการ การเมาสุรา การใช้สารเสพติด ความล่าช้าในการให้บริการ การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน และการไม่เคารพให้เกียรติกับผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านทัศนคติของสังคม ที่ทำให้บางคนมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติและกระทำได้ในทุกที่
“มุมมองของผู้คนในสังคมไทยในปัจจุบัน มองประเด็นความรุนแรงเป็นเรื่องสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นใคร และสถานที่ใด”
ข้อความตอนหนึ่งในช่วงอภิปรายสรุปผลวิจัย เรื่อง การสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในสถานพยาบาลที่ผู้รับบริการกระทำต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่หน่วยฉุกเฉินและหน่วยวิกฤต ของ ทิพวรรณ เรืองชูพงศ์ (พย.บ)
อาฟเตอร์ช็อก : หมดไฟ ลาออก และระบบที่สั่นคลอน
ผลวิจัยยังพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่เผชิญเหตุรุนแรงมีแนวโน้มเครียด และหมดไฟในการทำงาน บางคนถึงขั้นตัดสินใจลาออกหรือย้ายหน่วยงานเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ
ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ สถิติที่มีอยู่อาจไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริง เพราะหลังเกิดเหตุรุนแรง มีเพียง 12.3% ของเจ้าหน้าที่ที่รายงานเหตุการณ์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากมองว่า รายงานไปก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังมีภาระงานอื่นที่ต้องทำ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องปลอดภัยของโรงพยาบาลที่ปฏิบัติงาน
เหตุรุนแรงยับยั้งได้
งานวิจัยชิ้นนี้ ได้เสนอทางออกว่า โรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อป้องกันความรุนแรง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด นอกจากนี้ควรมีระบบติดตามและรายงานเหตุการณ์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
สัญญาณอันตราย : วิกฤตบุคลากรทางการแพทย์ ปากเหวแห่งความล่มสลาย
ทั้งนี้ เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายพยาบาลที่เป็นข่าว อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่ซุกซ้อนอยู่ใต้พรม หากบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐทนไม่ไหว และทยอยลาออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนที่ให้สวัสดิการ ค่าตอบแทน และความปลอดภัยที่ดีกว่าหน่วยงานรัฐ ระบบสาธารณสุขของไทยอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างแท้จริง ไม่ต่างอะไรกับการยืนอยู่บนปากเหวของความล่มสลาย หากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง